GPSC โชว์พลังคนรุ่นใหม่กับภารกิจสานต่ออนาคตพลังงานไทย ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน | Techsauce

GPSC โชว์พลังคนรุ่นใหม่กับภารกิจสานต่ออนาคตพลังงานไทย ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน

พลังงานกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทั้งจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตัวเร่งของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ทำให้โหมดของพลังงานทั่วโลก มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนพลังงานไปสู่อนาคต จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่  หัวใจสำคัญอยู่ที่ “บุคลากร” ที่ต้องมีศักยภาพ  มีความสามารถเพียงพอในการรับมือกับความซับซ้อนของธุรกิจพลังงานที่อยู่ระหว่างรอยต่อจากพลังงานยุคดั้งเดิมไปสู่ยุคใหม่ เฉกเช่นองค์กรในขณะนี้ที่ต้องบริหารระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าให้ได้อย่างลงตัว เพื่อให้องค์กรนั้นก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางกระแสดังกล่าว

โครงการ SPARK Accelerator Management Trainee Program ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. จึงเข้ามาตอบโจทย์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานแห่งอนาคต ด้วยการเฟ้นหาบุคคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผ่านการเปิดรับสมัครพนักงานภายในและภายนอกองค์กร เข้าคัดเลือกเพื่อร่วมโครงการฯ เรียนรู้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผ่านการหมุนเวียนงาน (Job Rotation) การสอนงาน (Mentoring) จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน การฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนาผู้นำ (Leadership) และหลักสูตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Business) 

“ผมเป็น 1 ใน 13 คนที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในรุ่นแรกที่เป็นโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นผู้บริหาร เพื่อการจัดการด้านพลังงานแห่งอนาคต จากอดีตกับสายงานด้าน Engineering ผมได้ไปศึกษาต่อด้านไฟแนนซ์ และกลับมาเริ่มงานกับ GPSC จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการการเงิน หรือ Finance Manager ของ AEPL” นายณรงค์ชัย กือเย็น ผู้จัดการการเงิน  บริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) หนึ่งในบริษัทในกลุ่มอวาด้า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย กล่าวถึงเส้นทางการทำงานของเขา

ณรงค์ชัย หรือ แชมป์ ในวัย 29 ปี เล่าต่อว่า การมาทำงานที่ AEPL ที่อินเดียถือเป็นการได้รับความไว้วางใจจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในการคัดเลือกเข้ามาร่วมการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ หลังจากที่บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด (Avaada Venture Private Limited) หรือ AVPL เพื่อลงทุนใน AEPL ในสัดส่วน 42.93%  โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการการเงิน ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการก้าวไปสู่เป้าหมายการลงทุนของ GPSC ตาม 4 กลยุทธ์การเติบโตขององค์กร ซึ่งได้แก่ #S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่ง ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น #S2: Scale-Up Green Energy มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50% #S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต และ #S4: Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค

“การได้รับคัดเลือกมาปฏิบัติงานในอินเดีย มีความจำเป็นอย่างมากในเรื่องการบริหารความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และการปรับตัวให้เข้ากับทีมงานในอินเดียกว่า 500 คน  ผมอยู่ที่นี่มา 2 ปีกว่า  ถือเป็นโอกาสที่ดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในการทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศทั้งที่ไทยและอินเดีย โดยเฉพาะการเป็นคนกลางในการประสานงานระหว่างสององค์กรที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมาก และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” นายณรงค์ชัยกล่าว

เขาย้ำว่า soft skill หรือทักษะทางสังคม  มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการบุคคลทั้งปัจจุบันและอนาคตของเจนเนอเรอชั่นใหม่ที่ต้องประกอบด้วย ความสามารถในการปรับตัว การสื่อสาร  การบริหารเวลา  การคิดเชิงวิเคราะห์  ความคิดสร้างสรรค์   ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล  ความเป็นผู้นำ   การทำงานร่วมกับผู้อื่น  การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น  และที่สำคัญคือการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ไว ดังนั้นเป้าหมายการทำงานของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงการทำงานในบริษัท หรือองค์กรที่ให้ค่าตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้บริษัทช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมด้านทักษะ สร้างคุณค่าในการทำงาน มีความยืดหยุ่น มีอิสระ และตอบโจทย์การทำงานอย่างสมดุลกับการใช้ชีวิต 

ดังนั้น วันนี้เราไม่ใช่เพียงแค่พนักงานของบริษัทที่ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ให้มองว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานสะอาด ที่จะมีส่วนทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น นับเป็นประโยชน์ให้กับทั้งตัวเอง สังคม และประเทศไปพร้อมๆ กัน และเขายังชี้ให้เห็นว่า การทำงานของคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจว่าเมื่ออายุน้อยกว่า ประสบการณ์ย่อมน้อยกว่าไปด้วย  จึงจำเป็นต้องใส่พลังทุ่มเทและตั้งใจมากขึ้น รวมถึงการไปสอบถามข้อมูลกับคนที่ประสบการณ์มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดกับคนรอบข้างและได้ผลรับที่ดีที่สุดออกมา

“เคล็ดลับการทำงานของผม คือการเรียนรู้จากหน้างาน และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับผู้บริหารที่หลากหลาย ซึ่ง GPSC เป็นองค์กรที่มีทิศทางชัดเจน ทำให้เราเห็นเป้าหมายชัดว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไร จะเดินไปทางไหน มีเป้าหมายร่วมกันทั้งองค์กร ผมถือว่าปัญหาเป็นความท้าทายสำหรับผม ครั้งหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา supply แผงโซลาร์ทั่วโลกขาดแคลน ในขณะที่เราต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถติดตั้งได้ตามกำหนดเวลาเดิม ประกอบกับค่าใช้จ่ายการขนส่งและภาษีที่กำลังปรับสูงขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องหาเงินกู้ภายในเวลาอันสั้น เพื่อนำเข้าแผงโซลาร์ให้ได้เร็วและมาช่วยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมได้ปรึกษากับผู้บริหารอย่างเร่งด่วน พร้อมกับเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนการจัดหาเงินกู้จากธนาคาร และประสานงานกับทีมที่เกี่ยวข้องที่มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน ท้ายสุดเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทจากปัญหาดังกล่าวลงได้กว่า 8 พันล้านบาท นับเป็นความสำเร็จที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากปัญหาหน้างานของผม” นายณรงค์ชัยกล่าว

สำหรับเป้าหมายของ GPSC ในการเข้าลงทุนใน  AEPL ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาโอกาสเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน ตามเป้าหมายการเติบโตของ AEPL ที่ 11 กิกะวัตต์ภายในปี 2569 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดของภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 รวมทั้งการลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเติบโตของ GPSC ในการขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตภายในปี 2573 เพื่อผลักดันองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2603 และก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด หนึ่งในสามอันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายครั้งนี้

ดังนั้น อนาคตองค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องเติมพลังของคนรุ่นใหม่เข้าไปเพิ่มขึ้น ผ่านการเพิ่มทักษะ ความสามารถ และเปิดโอกาสสร้างความท้าทาย   เพราะโลกพลังงานแห่งอนาคต ต้องมุ่งสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...