เมื่อการระบาดของไวรัส COVID-19 อาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินของผู้คนอย่างถาวร หลังจากผู้คนรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยและวิตกกังวลในการจับจ่ายใช้สอยโดยการใช้เงินสด ซึ่งอาจเป็นพาหะของไวรัสอย่าง COVID-19
หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในสหรัฐฯ บางกลุ่มเข้าหาการใช้งานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-payment เนื่องจากกังวลเรื่องความสะอาดในการใช้เงินสด ถึงแม้จะยังไม่มีการยืนยันเรื่องการติดเชื้อผ่านการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ แต่การปรับเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์เกิดจาก ‘ปัจจัยทางจิตวิทยา’ ในหมู่คนเป็นหลัก
ผู้ค้าหลาย ๆ รายเริ่มสนับสนุนให้ลูกค้านั้นหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ในขณะที่ธนากลางของสหรัฐฯ กำลังปรับเปลี่ยนวิธีจัดการกับเงินดอลลาร์ ซึ่งมาตรการป้องกันที่ภาครัฐได้ออกมาคือการยืดระยะถือครองธนบัตร สำหรับเงินที่มาจากเอเชียและยุโรป โดยยืดจากระยะขั้นต่ำ 5 วันเป็นระยะขั้นต่ำ 10 วัน และในก่อนหน้านี้มีคำสั่งจากทางรัฐบาลจีนให้ธนาคารหลาย ๆ แห่งนั้นฆ่าเชื้อธนบัตรก่อนนำออกไปสู่ประชาชน ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการระบาดของไวรัส COVID-19
ความกลัวจากการระบาดของไวรัสชนิดใหม่นี้อาจกระตุ้นให้ผู้คนนั้นหันมาใช้การชำระเงินผ่านช่องทางมือถือมากขึ้น หลังจากแต่ก่อนการชำระเงินผ่านช่องทางนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากในสหรัฐฯ เทียบกับช่องทางอื่น ๆ Jodie Kelly CEO จากสมาคมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Association) ได้เผยว่า “การชำระเงินแบบไร้การสัมผัสกับเงินสดโดยตรงนั้นจะเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในสภาวะที่ผู้คนนั้นมีความระมัดระวังมากขึ้นในการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนการระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น การชำระเงินผ่านช่องทางมือถือนั้นไม่เป็นที่แพร่หลายสักเท่าไหร่ ซึ่งดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับความไม่เป็นที่นิยมนี้ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลที่คนอเมริกันนั้นไม่ค่อยใช้มือถือในการชำระเงินนั้นเป็นเพราะวัฒนธรรมในการใช้บัตรรางวัลต่าง ๆ ที่ได้ฝังลึกไปในพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนอเมริกันแล้ว ในขณะเดียวกันประเทศคู่แข่งอย่างจีนนั้นมีอัตราการใช้งานการะชำระเงินผ่านมือถือมากกว่า 80% ในปีที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 10% เท่านั้น
โดยผู้ให้บริการการชำระเงินผ่านช่องทางมือถือในสหรัฐฯ ส่วนมากคือบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งในหมู่ผู้ให้บริการ PayPal ก็เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการชำระงานผ่านช่องทางมือถือ ยังมีบริษัทใหญ่ ๆ ที่ให้บริการในรูปแบบนี้อีก เช่น Apple Pay, Google Pay, Samsung Pay, Venmo, Square Cash และ Zelle
ก่อนหน้านี้บริษัทผู้ให้บริการการชำระเงินหลาย ๆ รายได้ออกมาเตือนเรื่องผลกระทบของการระบาดไวรัสต่ออัตราการใช้จ่ายในสหรัฐฯ หุ้นของธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่ตกลงและอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรที่ลดลง ซึ่งกระตุ้นความกลัวว่าการระบาดของ COVID-19 จะนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตามแต่ ตัวเลือกในการทำธุรกรรมออนไลน์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักของของผู้ใช้บริการทางการเงินในช่วงที่มีการกักตัว ซึ่งในขณะเดียวกันยังเป็นการหลีกเลี่ยงการออกไปธนาคารอีกด้วย โดย Peter Gordon รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่าย Emerging Payments ของธนาคารสหรัฐฯ ได้เผยว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะย้ายเข้าสู่การใช้งานแบบดิจิทัล โดยเขาเชื่อว่าวิกฤติในครั้งนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนนั้นหันมาใช้แพลตฟอร์มทางการเงินแบบดิจิทัลในทุกรูปแบบ และชี้ว่าบริษัทอย่าง Zelle, PayPal และบริการธุรกรรมออนไลน์อื่น ๆ จะเกิดความก้าวกระโดดทางธุรกิจอย่างมาก
ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนั้นยังไม่ชัดเจน ตัวอย่างผลกระทบจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียต่อพฤติกรรมการชำระเงินอาจจะทำให้ผู้อ่านนั้นเห็นภาพมากขึ้น
ในปี 2016 เกิดวิกฤติเงินสดที่เรียกว่า Cash Crunch ที่เกิดจากภาคธนาคารของอินเดีย ซึ่งส่งผลให้การใช้ E-payment ในอินเดียนั้นเพิ่มสูงงขึ้นอย่างน่าตกใจ และแสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินนั้นรวดเร็วเพียงใด และถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่มันก่อให้เกิดการใช้งานการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เห็นว่าสภาวะ ‘ช็อก’ ทางการเงินนั้นเป็นการ ‘บังคับ’ ให้ผู้คนนั้นหันมาใช้เทคโนโลยี
ซึ่งเมื่อผู้เชี่ยวชาญได้มองถึงธุรกิจบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียแล้ว ทำให้เห็นถึงการใช้งานที่สูงขึ้นอย่างมากหลังจากการเกิดวิกฤติเงินสดในปี 2016 โดยอัตรการทำธุรกรรมเหล่านี้นั้นสูงถึง 150% ทั่วประเทศ โดยการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่นการใช้บัตรเครดิตนั้นมีอัตราคงเดิม
เขายังได้บอกอีกว่ามันอาจจะเร็วไปที่จะสรุปว่าการระบาดนั้นจะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว แต่แน่นอนว่าวิกฤตินี้จะทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่คนต้องอยู่บ้าน เช่นการ work-at-home หรือ study-at-home ซึ่งทำให้เกิดการใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามแต่วิกฤตินี้จะทำให้เกิดสภาวะ ‘ช็อก’ แค่ชั่วคราว แต่จะเป็นการบังคับให้ผู้คนนั้นหันไปใช้ซอฟท์แวร์ใหม่ ๆ มากขึ้น และแน่นอนว่าจะทำให้เกิดผลกระทบที่ดีขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรมอย่างถาวร
อ้างอิง: CNBC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด