Huawei ท้าสหรัฐฯ แสดงหลักฐานเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัย | Techsauce

Huawei ท้าสหรัฐฯ แสดงหลักฐานเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

ประธานบริษัท Huawei ได้ท้าทายให้สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แสดงหลักฐานประกอบคำกล่าวอ้างที่ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนมีความเสี่ยงหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยทางบริษัทหัวเว่ยได้จัดงานพบปะสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อไขข้อข้องใจและคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการถูกแทรกแซง รวมถึงการโจรกรรมข้อมูล (แฮกกิ้ง) ของรัฐบาลเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบทบาทของบริษัทในฐานะบริษัทโทรคมนาคมแห่งอนาคตได้

มร. เคน หู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของ Huawei ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ที่สุดในโลก มีที่มาที่ไปจาก "อุดมการณ์และบริบททางการเมือง" มร. เคน หู กล่าวเตือนว่า การห้ามไม่ให้หัวเว่ยมีส่วนร่วมในเครือข่าย 5G ของออสเตรเลียและตลาดอื่น ๆ ถือเป็นการทำร้ายผู้บริโภค เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นและทำให้การนำนวัตกรรมไปใช้ล่าช้าออกไป

ทั้งนี้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ห้ามการใช้เครือข่ายเทคโนโลยี 5G ของ Huawei ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและไต้หวันที่ได้จำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์หัวเว่ยเช่นกัน หน่วยงานความปลอดภัยด้านระบบอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่นเองกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากซัพพลายเออร์ต่าง ๆ รวมถึงหัวเว่ย ที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูง

การที่รัฐบาลต่าง ๆ ประกาศระงับใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Huawei ล่าสุดนั้นแทบไม่มีผลกระทบต่อ Huawei ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายรายใหญ่ที่สุดในโลกและผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G เลย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจแถลงข่าวของบริษัทที่โดยปกติจะไม่นิยมออกสื่อมากนัก ก็มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกังวลใจว่า หากการระงับใช้ผลิตภัณฑ์ Huawei บานปลายออกไป ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาด 5G ของ Huawei ที่นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมคาดว่าจะมีมูลค่าถึงราว 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2565 นี้ได้

มร. เคน หู ซึ่งปกติจะปรากฏตัวในงานอีเว้นท์โทรคมนาคมต่าง ๆ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนมากนัก  ครั้งนี้ได้พูดคุยตอบข้อซักถามกับผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ยุโรป และเอเชีย นานถึงสองชั่วโมงยี่สิบนาที

"ถ้าคุณมีหลักฐานหรือพยานหลักฐาน ก็ควรจะเปิดเผยออกมา" มร. เคน หู กล่าว "อาจจะไม่ต้องเผยกับหัวเว่ยหรือประชาชนทั่วไปก็ได้ แต่ควรให้โอเปอเรเตอร์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้รับรู้ เพราะพวกเขาคือลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ Huawei "

Huawei ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 โดยอดีตวิศวกรทหาร ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทถูกกำกับควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือได้ออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยในการดักฟังข้อมูล แต่เจ้าหน้าที่ของต่างประเทศได้อ้างกฎหมายจีนที่กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ต้องร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองของจีน และแสดงความกังวลว่าซัพพลายเออร์ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมอาจต้องปฏิบัติตามกฎในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์

การมาถึงของเทคโนโลยี 5G ยิ่งเพิ่มความกังวลดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อการเชื่อมต่อรถยนต์ที่สามารถขับขี่ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน เครื่องมือทางการแพทย์ และโรงไฟฟ้า ทำให้รัฐบาลต่าง ๆ มองเครือข่ายโทรคมนาคมเหล่านี้ในฐานะสินทรัพย์ยุทธศาสตร์ระดับชาติ

"ยังไม่มีหลักฐานพยานใด ๆ ที่แสดงว่าอุปกรณ์ของเราเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง" มร. เคน หู กล่าว และเสริมต่อว่า "เราไม่เคยยอมรับคำขอจากรัฐบาลใด ๆ เพื่อทำลายเครือข่ายหรือธุรกิจของลูกค้าเรา"

Huawei เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกของจีนที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก ทำให้บริษัทมีความสำคัญเชิงการเมืองต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนโฉมประเทศจากที่เคยเป็นแหล่งโรงงานผลิตสินค้าที่มีค่าแรงต่ำสู่ผู้นำในภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีชีวภาพ หัวเว่ยมีพนักงาน 180,000 คน และคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเกินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ด้วย

“สหรัฐฯ และนักวิจารณ์ทั้งหลายควรเปิดเผยหลักฐานที่กล่าวหา Huawei เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าทำไมพวกเขาถึงเรียกร้องหาประเด็นความขัดแย้งที่อาจก่อให้เกิด “ปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง” หากรัฐบาลจีนเลือกที่จะตอบโต้” มร. สกอตต์ เคนเนดี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies - CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนอยู่ในสภาวะตึงเครียดอยู่แล้วจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ปรับขึ้นค่าภาษีหลายพันล้านเหรียญสำหรับการนำเข้าสินค้าของจีน เนื่องมาจากประเด็นพิพาทเกี่ยวกับข้อร้องเรียนว่ารัฐบาลจีนขโมยหรือกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ส่งมอบเทคโนโลยีให้

“มันเลยช่วงเวลาของฝ่ายที่กังวลเกี่ยวกับ Huawei จะออกมาแสดงหลักฐานให้สาธารณะชนได้รับรู้แล้ว ไม่ใช่เพื่อเอาใจรัฐบาลจีน แต่เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำต่อประชาชนชาวอเมริกัน” มร. เคนเนดี้ กล่าวในอีเมล์ “รัฐบาลสหรัฐฯ ควรออกมาพิสูจน์ให้เห็นว่าประเด็นข้อขัดแย้งที่จะตามมามันคุ้มค่ากันหรือไม่”

ความคิดเห็นของมร. เคน หู สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ของบริษัทก่อนหน้านี้ และเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นร้องเรียนเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลต่างประเทศโดยตรง ซึ่งเน้นย้ำถึงประเด็นที่อ่อนไหวต่อบริษัท

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนได้ออกมาประกาศกล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมว่า กฎหมายจีนไม่ได้กำหนดให้บริษัทใด ๆ ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อให้มีการเข้าถึงข้อมูลลับของบริษัทหรือประเทศอื่น ๆ

"เราไม่เคยได้รับการร้องขอใด ๆ ในการส่งมอบข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม" มร. เคน หู กล่าวเพิ่มเติม "ในอนาคต เราก็จะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ในการจัดการกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันด้วย"

การขาดหลักฐานที่จะแสดงต่อสาธารณะเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อ Huawei ทำให้นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมเห็นว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการปกป้องช่วยเหลือคู่แข่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วยการสกัดกั้นบริษัทสัญชาติจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างหัวเว่ย

เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ มร. เคน หู กล่าวว่า การลดการแข่งขันจะขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค

มร. เคน หู กล่าวว่าสิ่งที่เขากล่าวนั้นเป็นผลวิจัยโดยบริษัทวิจัย Frontier Economics ที่ว่า ต้นทุนในการติดตั้งสถานีฐานเทคโนโลยี 5G แบบไร้สายในออสเตรเลีย จะสูงกว่าเดิมถึงร้อยละ 15-40 หากไม่มีหัวเว่ยเข้าไปร่วมแข่งขันในตลาด

"คุณไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการปิดกั้นคู่แข่งจากสนามแข่งขัน" เขากล่าว

แม้ว่าจะมี “ความพยายามที่จะใช้เรื่องการเมืองมาแทรกแซงการเติบโตของอุตสาหกรรม"  Huawei ก็ได้ลงนามสัญญา 5G เชิงพาณิชย์กับลูกค้าผู้ให้บริการโทรคมนาคม 25 ราย มร. เคน หู ยังกล่าวด้วยว่า บริษัทได้ส่งมอบสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 10,000 สถานีทั่วโลก

"เราภูมิใจที่จะกล่าวว่า ลูกค้ายังคงมอบความไว้วางใจให้แก่เรา" เขากล่าว

หัวเว่ยประสบปัญหาอีกครั้ง เมื่อประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินถูกจับกุมในแคนาดาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา จากข้อกล่าวหาของสหรัฐฯว่า บริษัทได้ละเมิดการคว่ำบาตรด้วยการขายเทคโนโลยีให้แก่อิหร่าน

มร. เคน หู กล่าวว่าเขาไม่สามารถพูดถึงข้อกล่าวหาเรื่องอิหร่านได้ เนื่องจากนางเมิ่ง เวินโจว ผู้บริหารของ Huawei กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีที่แวนคูเวอร์ โดยเธอเป็นลูกสาวของมร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย และอาจได้รับบทลงโทษจากสหรัฐฯในข้อหาโกหกธนาคารเพื่อปกปิดการทำธุรกรรมระหว่างอิหร่านกับ Huawei

อย่างไรก็ตาม มร. เคน หู กล่าวว่า Huawei “มั่นใจในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการค้าของบริษัท” เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับถ้อยแถลงการณ์ของบริษัทก่อนหน้านี้ โดยเขากล่าวว่า เขา "เชื่อมั่นในความเป็นธรรมและการตัดสินอย่างเป็นอิสระ" ของศาลที่ดูแลคดีของของนางเมิ่ง

เมื่อมีการสอบถามเพิ่มเติมว่า การจับกุมนางเมิ่งทำให้ผู้บริหารของ Huawei ลังเลที่จะเดินทางออกจากประเทศจีนหรือไม่ มร. เคน หู หัวเราะและกล่าวว่า "ไม่มีผลกระทบต่อแผนการเดินทางของเรา เมื่อวานในเวลานี้ ผมก็ยังอยู่บนเครื่องบิน" ซึ่งเดินทางกลับจากยุโรป

อีกหนึ่งบริษัทของจีนอย่าง ZTE Corp. ก็เกือบถูกบีบให้ปิดกิจการในปีนี้เช่นกัน หลังจากถูกปิดกั้นห้ามไม่ให้ซื้อขายเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปยังอิหร่านและเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ของสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้แซททีอีค้าขายในสหรัฐฯได้เหมือนเดิม หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่าปรับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงโยกย้ายทีมผู้บริหารและว่าจ้างผู้จัดการฝ่ายกฎระเบียบที่ทางสหรัฐฯเลือกมาให้

เมื่อถูกถามว่า Huawei จะได้รับผลกระทบหรือไม่หากต้องประสบชะตากรรมคล้ายกับ ZTE มร. เคนหู กล่าวว่า เขาไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้ แต่กล่าวว่าบริษัทมีเครือข่ายพันธมิตรด้านซัพพลายเออร์ทั่วโลกกว่า 13,000 ราย และมี “กลยุทธด้านซัพพลายที่หลากหลาย” ซึ่งช่วยให้บริษัทรอดพันวิกฤตช่วงเหตุการณ์สึนามิของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 และเหตุการณ์วิกฤตอื่น ๆ มาได้

มร. เคน หู ย้ำสัญญาว่า จะเพิ่มความพยายามในการร่วมมือและตอบสนองต่อ "ประเด็นความกังวลเรื่องการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย" ของหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น

Huawei ได้เปิดศูนย์นวัตกรรมไอซีทีในสหราชอาณาจักร เยอรมนี และแคนาดา เพื่อให้รัฐบาลต่าง ๆ ได้ทดสอบอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของบริษัท โดย "ศูนย์ตรวจสอบความโปร่งใสด้านความปลอดภัย" ใหม่ล่าสุดของบริษัท มีกำหนดจะเปิดให้บริการในเบลเยียมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา 2 แห่ง ณ สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยในเซินเจิ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับฮ่องกง รวมถึงศูนย์ทดสอบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่แคมปัสที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในเมืองตงกวน ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยไปทางตะวันตกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง หัวเว่ยกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้สื่อข่าวได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ปฏิบัติงานเหล่านี้อย่างทั่วถึง

ห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยด้านไซเบอร์มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้โดยลูกค้าของหัวเว่ยอย่างเทเลโฟนิก้าของสเปน เพื่อทำการทดสอบอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของหัวเว่ย มร. มาร์ ติน หวัง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ กล่าว

"เราเปิดกว้างในการพูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับวิธีการที่เราสามารถปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์" มร. ฌอน หยาง ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยด้านไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว กล่าว

อ้างอิง AP

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...

Responsive image

ttb เปิดตัว 7 ผู้บริหารรุ่นใหม่นำทัพ ทรานส์ฟอร์มองค์กรรอบด้าน เร่งยกระดับประสบการณ์ด้านการเงินแบบไร้รอยต่อ

ทีทีบี (ttb) ปรับโครงสร้างองค์กรรอบด้าน ส่งคนรุ่นใหม่ 7 ผู้บริหารระดับสูง นำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์ มุ่งเจาะกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน มนุษย์เงินเดือน และลูกค้า Wealth...