บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการ InVent ร่วมลงทุนใน บริษัท ShopBack เป็นรายที่ 13 โดย ShopBack ได้รับเงินทุนก้อนใหม่นี้รวมมูลค่ากว่า 25 ล้านดอลลาร์ ทำให้ตอนนี้มีเงินสนับสนุนมากกว่า 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวเป็นการลงทุนจากสถาบันต่างๆ มากกว่า 10 สถาบันนำโดย Credit Saison ผู้นำด้านบัตรเครดิต และ การเงินในญี่ปุ่น รวมไปถึงบริษัท SoftBank Ventures Korea, Singtel Innov8 , Qualgro, East Ventures, Blue Sky และ Intouch Holdings PLC ซึ่งเป็นผู้ลงทุนใหม่รวมอยู่ด้วย ซึ่ง ShopBack ก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่อง “เงินคืน” และการช้อปปิ้งอย่างชาญฉลาด
ShopBack เป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้นในช่วงที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ชในเอเชียแปซิฟิกกำลังเติบโต มีพันธกิจหลักคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพทางการขายให้กับคู่ค้าพันธมิตร
นายกวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "เราต้องการสร้างสังคมแห่งการช้อปปิ้งที่ชาญฉลาด รวบรวมการใช้งานที่ช่วยให้ทุกคนสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือว่าการสั่งอาหารออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะเราคาดหวังอยากให้ ShopBack เป็นเว็บเดียวที่รวมทุกการจับจ่ายในชีวิตประจำวันของทุกไลฟ์สไตล์นั่นเอง"
ทุกวันนี้มีผู้ใช้บริการ ShopBack สั่งซื้อสินค้าและบริการกว่า 1,000 ครั้งต่อชั่วโมง พร้อมยอดขายต่อปีกว่า 300 ล้านดอลลาร์ และมีร้านค้าพันธมิตรกว่า 1,300 ราย ทั้งจากอุตสาหกรรมค้าปลีก การเดินทาง และสินค้าไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2014 มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน ShopBack เป็นจำนวนมากกว่า 3 ล้าน 5 แสนคน จาก 6 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก
นายชอน ลี หุ้นส่วนของ SoftBank Ventures Korea ได้ให้ความเห็นว่า "โมเดลธุรกิจของ ShopBack ทำให้เราเห็นข้อมูลการจับจ่ายสินค้าตามหมวดหมู่ต่างๆ ของลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น และนั่นทำให้เราสามารถพัฒนารูปแบบการช้อปปิ้งที่ชาญฉลาดได้มากขึ้นเช่นกัน"
นายชอน ลี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ทีม ShopBack ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างฐานลูกค้าประจำ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ดี เพราะกลุ่มลูกค้าที่ยั่งยืนเหล่านี้จะนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้จริง เราเชื่อมั่นว่า 18 เดือนหลังจากนี้ ทีมจะสามารถต่อยอดวิสัยทัศน์ให้เติบโตต่อไปได้"
ก่อนที่จะได้รับเงินทุนก้อนใหญ่ ShopBack บริษัทสตาร์ทอัพซึ่งมีอายุ 3 ปี ก็ได้รับเงินทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จากการระดมทุนเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา เงินทุนที่ได้รับมานั้นจะนำไปพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจใน 3 รูปแบบ คือ การสร้างทีมงามระดับโลก, การพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และ การเป็นผู้นำในตลาด
นายเฮียง ฌอร์ หุ้นส่วนผู้จัดการของ Qualgro ได้กล่าวว่า “แนวคิดของ ShopBack สอดคล้องกับเกณฑ์การเติบโตในระดับสูงขององค์กรเรามาก ShopBack มีความสามารถที่จะประยุกต์และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลาย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ ShopBack เติบโตอย่างรวดเร็ว”
“ความรวดเร็วและมุ่งมั่นในผลสำเร็จของงานคือกุญแจสำคัญ ดังคติที่ ShopBack ยึดถือว่า ล้มให้เร็ว เรียนให้ไว และพัฒนาให้เร็วยิ่งกว่า และนี่คือสิ่งที่ทำให้ ShopBack กลายเป็นศูนย์รวมการช้อปปิ้งออนไลน์อันชาญฉลาด”
ShopBack มีสาขาใน 6 ประเทศ พร้อมทีมงานกว่า 130 คน บริหารงานโดยทีมที่มีประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีจากบริษัทในหลากหลายภูมิภาค นาย กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประเทศไทย ก็มีประสบการณ์ในสายงานอีคอมเมิร์ซด้าน Business Intelligence และ Sourcing จากลาซาด้า ประเทศไทย ก่อนจะย้ายไปดูแลในส่วน Operations & Logistics และอยู่เบื้องหลังการเปิดตัว uberX ในประเทศไทยอีกด้วย
รูปแบบธุรกิจของ ShopBack เกิดมาจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการเปลี่ยนแพลทฟอร์มจาก Flash Sale วันต่อวัน เป็นแพลทฟอร์มแบบการให้เงินคืน ซึ่งทำให้ ShopBack สามารถมอบมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าและร้านค้าพันธมิตรได้ตลอดปี
“ภายในเวลาไม่กี่เดือนที่ ShopBack ประเทศไทย ได้เปิดให้บริการตั้งแต่กรกฎาคม 2560 ขณะนี้มีร้านค้ารวมแล้วกว่า 100 ร้าน เราเชื่อว่าศักยภาพที่อินทัชมีจะช่วยให้ธุรกิจของ ShopBack เจริญเติบโต และสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าผ่านบริษัทในเครือของอินทัชได้อีกด้วย เราเชื่อมั่นว่า ShopBack จะช่วยให้การช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยสะดวกสบายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น” นายคิมห์ สิริทวีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
ShopBack เชื่อว่าความรู้เกี่ยวกับตลาดท้องถิ่นและความสามารถในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในขับเคลื่อนธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้ว่า บริการหลักของ ShopBack จะเหมือนกันในทุกประเทศ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความสำเร็จในที่สุดนั่นเอง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด