ในงาน SIGGRAPH 2024 งานประชุมประจำปีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เซสชั่นที่ผู้คนทั่วโลกต่างจับตามองคือการสนทนาระหว่าง Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Nvidia กับ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Meta โดยขาใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องศักยภาพของ Open Source AI ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และ AI ในฐานะผู้ช่วยมนุษย์
Zuckerberg เริ่มต้นด้วยการประกาศเปิดตัว AI Studio เครื่องมือสร้างแชทบอต AI แบบ Personalized โฉมใหม่ของบริษัท ที่ผู้ใช้สามารถสร้างแชทบอตได้หลากหลายรูปแบบตามจุดประสงค์การใช้งาน
เช่น แชทบอตสอนทำอาหาร แชทบอตช่วยเขียนแคปชั่น แชตบอทสร้างมีมคลายเครียด เป็นต้น โดยเปิดให้ใช้งานแล้วตอนนี้บน Instagram, Messenger, WhatsApp และเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Zuckerberg มองว่าครีเอเตอร์และธุรกิจขนาดเล็กจะได้ประโยชน์จากฟีเจอร์ใหม่
“ในอนาคต..ร้านอาหารทุกแห่ง เว็บไซต์ทุกเว็บน่าจะมี AI เหล่านี้ ...” Huang กล่าว โดย Zuckerberg เสริมว่าในอนาคตทุกธุรกิจจะต้องมี AI
Jensen Huang ยังกล่าวชมการพัฒนา AI ของ Meta ทั้งความก้าวหน้าด้าน Computer Vision โมเดลภาษา และการแปลแบบเรียลไทม์ ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนา AI ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนา PyTorch
Zuckerberg เน้นย้ำถึงความสำคัญของ Open Source ในการพัฒนา AI เช่นเดียวกับ Huang ที่มองว่าแพลตฟอร์มเปิดนั้นสำคัญต่อนวัตกรรม
เมื่อไม่นานมานี้ Meta ได้เปิดตัว Llama 3.1 ที่ Meta ชี้ว่าคือโมเดล AI แบบ Open Source ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเก่งที่สุด โดยมีพารามิเตอร์ถึง 4.05 แสนล้านตัว และได้รับการฝึกอบรมบน GPU NVIDIA H100 มากกว่า 16,000 ตัว โดยจากการทดสอบพบว่า Llama 3.1 มีความสามารถในหลายๆ ด้านเหนือกว่าโมเดล AI ดังๆ อย่าง GPT-4o ของ OpenAI และ Claude 3.5 Sonnet ของ Anthropic
"ยิ่งโมเดล AI พัฒนาไปมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความสามารถครอบคลุมมากขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยฝันว่าวันหนึ่ง Facebook หรือ Instagram จะกลายเป็นเหมือน AI โมเดลเดียว ที่สามารถเข้าใจและประมวลผลเนื้อหาทุกรูปแบบ รวมถึงระบบต่างๆ ไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์"
การเปิดตัว Llama 3.1 เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Zuckerberg ให้คำมั่นว่ามันจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ในการนำ Open Source มาใช้กับ AI และการสร้างความร่วมมือจะเป็นกุญแจสำคัญให้การพัฒนานี้เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังคาดว่าความก้าวหน้าของระบบนิเวศ AI ในวันข้างหน้า จะทำให้มนุษย์ทุกคนมีผู้ช่วยดิจิทัล และท้ายที่สุดจะช่วยเพิ่มผลิตผลได้
สอง CEO ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ในอนาคตด้วย Zuckerberg มีมุมมองบวกเกี่ยวกับการผสานรวม AI เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงผ่านแว่นตา โดย Meta กำลังทำงานร่วมกับ EssilorLuxottica ผู้ผลิตแว่น Ray-ban ทั้งสองบริษัทร่วมกันผลิตแว่นตาอัจฉริยะ ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2020 และพัฒนาเรื่อยมา
โดยแว่น Ray-Ban Meta นี้สามารถถ่าย-แชร์ภาพ วิดีโอ ฟังเพลง รวมทั้งรับสายโทรศัพท์ผ่านคำสั่งเสียงได้ เชื่อมต่อได้โดยตรงกับบัญชีโซเชียลมีเดียของผู้ใช้งาน และมีไฮไลต์เด็ดคือฟีเจอร์ Meta AI ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ที่มีความสามารถในการตอบคำถาม ควบคุมแว่นตาด้วยคำสั่งเสียง แปลภาษา ฯลฯ
Jensen Huang กล่าวเสริมว่าในอนาคตการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับ AI ไหลลื่นมากขึ้น ก้าวข้ามการใช้งานที่เป็นการถามตอบด้วยข้อความเพียงอย่างเดียว
“การใช้งาน AI ปัจจุบันเป็นแบบ Turn-based คุณพูดบางอย่างกับมัน มันก็ตอบกลับแค่นั้น…ในอนาคต AI อาจพิจารณาตัวเลือก (คำตอบ) หลายๆ แบบ หรือเสนอตัวเลือก (คำตอบ) ต่างๆ และจำลองผลลัพธ์ได้ ทำให้มันมีประสิทธิภาพขึ้นมาก”
อ้างอิง : Nvidia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด