ต้องยอมรับว่าวิกฤต COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง ซึ่งบาดแผลจากปีที่ผ่านมายังไม่สามารถสมานให้หายได้โดยปลิดทิ้ง จากเดิมหลายอุตสาหกรรมกำลังเริ่มทยอยฟื้นตัว แต่พอเข้าสู่ต้นปี 2564 การระบาดระลอก2 ของไวรัส COVID-19 ก็ได้กลับมาซ้ำเติมอีกครั้ง หลายฝ่ายพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รวมถึงกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ที่วันนี้มาเปิดกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจปี 2564 พร้อมทั้งประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่มีอยู่รอบด้าน
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีของการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือมาตรการของธนาคารเอง เช่น
อย่างไรก็ตาม จากกลยุทธ์การกระจายแหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และการเลือกที่จะเติบโตอย่างระมัดระวัง ได้ช่วยทำให้ผลประกอบการออกมาในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยในส่วนของธนาคาร มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 12.4 อันเนื่องมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบรรษัทที่มีมากขึ้นในช่วงที่ภาวะตลาดไม่เอื้อให้บริษัทใหญ่ระดมเงินจากตลาดทุน
ในขณะเดียวกัน ด้านธุรกิจตลาดทุน ถือเป็นปีที่มีผลประกอบการดีมาก โดย ธุรกิจนายหน้า ได้รับประโยชน์จากมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยของตลาดที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 ทำให้มีรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาดที่ร้อยละ 10.85 ส่วน ธุรกิจ Wealth Management มีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็น 6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการขยายขอบเขตบริการ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ธุรกิจการลงทุนโดยตรง มีรายได้จากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) สูงถึง 1 พันล้านบาท
ปี 2564 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของการขยายสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ รวมถึงการที่ธนาคารได้ดำเนินการตามกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างธุรกิจหลักด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของธุรกิจด้านการให้สินเชื่อ ธุรกิจPrivate Banking และธุรกิจ Investment Banking เพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการหาผลตอบแทนที่เหมาะสมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น กลุ่มธุรกิจฯ จึงตั้งกรอบการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 5 และรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 4.5 ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้ยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 10,000 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดำเนินการ ซึ่งจุดนี้จะมีการช่วยเหลือเป็นรายๆไปแล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละบุคคล
ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า ในปี 2564 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง และแตกต่างกันมากในแต่ละ
อุตสาหกรรมและพื้นที่ ดังนั้นจึงได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2564 ลงจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 2.0 จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาดและการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -1.2 ในปีนี้
1. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมของรัฐ และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข ซึ่งหากการแพร่ระบาดใช้ระยะเวลานานในการควบคุม หรือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข อาจนำไปสู่การยกระดับความเข้มของมาตรการควบคุมภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงอีกครั้ง
2. ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และการกระจายวัคซีน หากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน ผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว และ
3. นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประคับประคองความอยู่รอดของภาคธุรกิจและแรงงาน และกระตุ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อและความต้องการในการลงทุนที่หายไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง
ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นระยะยาวที่ KKP Research เห็นว่าควรได้รับความใส่ใจ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤต COVID-19 ทั้งโอกาสในการศึกษาและโอกาสด้านการทำงาน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการแข่งขันในตลาดส่งออกและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค โครงสร้างการค้า และห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังCOVID-19
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด