ส่องกฎใหม่ EU Digital Markets Act (DMA) คุม Big Tech ผูกขาดตลาดดิจิทัล งานนี้ใครได้ใครเสีย | Techsauce

ส่องกฎใหม่ EU Digital Markets Act (DMA) คุม Big Tech ผูกขาดตลาดดิจิทัล งานนี้ใครได้ใครเสีย

ยกเครื่องวงการ Big Tech สนามแข่งขันนี้จะไม่มีเจ้าไหนผูกขาดอีกต่อไป ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่จะต้องอยู่ภายใต้กฎใหม่ที่เรียกว่า Digital Markets Act (DMA) ซึ่งสหภาพยุโรปเพิ่งประกาศออกไป กฎใหม่นี้คืออะไร ตั้งขึ้นมาทำไม และใครจะได้หรือเสียผลประโยชน์ ?

กฎ Digital Markets Act (DMA) คืออะไร

Digital Markets Act (DMA) คือ กฎที่ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัท Big Tech โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องมีความยุติธรรมกับคู่แข่งรายเล็ก เช่น กรณีของ Epic Games ผู้พัฒนาเกม Fortnite ที่พยายามหลบเลี่ยงค่าคอมมิชชันจาก App Store เพราะบริษัท Apple ไม่เปิดโอกาสให้มีการชำระเงินค่าสินค้าใน App Store ผ่านช่องทางอื่นเลย อีกทั้งการชำระเงินผ่าน App Store จำเป็นต้องเสีย Apple Tax ด้วย

หากบริษัท Apple อยู่ภายใต้กฎใหม่ พวกเขาจำเป็นต้องอนุญาตให้ App Store มีช่องทางการชำระเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากบริการของบริษัทตัวเองเท่านั้น เพื่อความเท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ

โดยกฎใหม่มุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก 6 แห่งอย่าง Alphabet, Amazon, Apple, Meta, Microsoft และ ByteDance ซึ่งมีสินค้าหรือบริการเข้าข่าย “List of 22 Services” ที่ถูกกำหนดไว้ในกฎ DMA ได้แก่ โซเชียลเน็ตเวิร์ค, บริการส่งข้อความ, แพลตฟอร์มตัวกลาง, แพลตฟอร์มวิดีโอ, บริการพื้นที่โฆษณา, เว็บเบราว์เซอร์, การค้นหา, และระบบปฏิบัติการ

ทำไมต้องออกกฎใหม่ขึ้นมา ?

สหภาพยุโรปได้เสนอคำว่า "ผู้เฝ้าประตู" (gatekeepers) โดยให้ความหมายเอาไว้ว่า คือ บริษัทที่มีอิทธิพลอย่างมากในเศรษฐกิจและให้บริการบนโลกดิจิทัล รวมถึงทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมโยงผู้ใช้จำนวนมากกับธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งมักจะวางตัวเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ว่าใครทำสิ่งไหนได้และไม่ได้ 

ส่วนใหญ่จะตั้งกฎที่ไม่ยุติธรรมต่อธุรกิจอื่น ๆ และหาผลประโยชน์ให้ตัวเองเป็นหลัก ซึ่งไม่ยุติธรรมในตลาดการค้าเสรี คล้ายกับผู้เฝ้าประตูที่ตัดสินใจว่าใครสามารถผ่านประตูไปได้ และใครที่ผ่านไปไม่ได้

โดยสาเหตุหลักของการตั้งกฎ DMA ก็มีขึ้นมาเพื่อเป็นผู้เฝ้าประตูตัวจริงที่มีความยุติธรรม และคอยควบคุมไม่ให้เกิดผู้เฝ้าประตูตัวปลอมขึ้นในตลาดดิจิทัลนั่นเอง

DMA จะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

กฎ DMA จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2024 ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่เข้ามารื้อวงการ Big Tech ครั้งใหญ่ บริษัทรายใหญ่จะไม่สามารถสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้อีก เพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและผู้บริโภคได้รับความยุติธรรม รวมถึงมีทางเลือกใหม่ ๆ โดย DMA ได้กำหนดสิ่งที่ Big Tech ควรทำเอาไว้แล้ว ดังนี้ 

ยินยอมให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น

  • บริษัทใหญ่ควรอนุญาตให้ธุรกิจเล็ก ๆ ที่ใช้เว็บไซต์ของตนเองสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของพวกเขาได้ ไม่ใช่บริษัทใหญ่เห็นได้แค่ฝ่ายเดียว
  • ในกรณีของแพลตฟอร์มใหญ่ที่ให้บริการโฆษณา ควรให้ข้อมูลที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้แก่บริษัทอื่น ๆ ที่มาใช้บริการโฆษณาของตนเอง เพื่อตรวจสอบได้ว่าโฆษณาทำงานอย่างถูกต้อง ไม่ถูกแทรกแซง และเข้าถึงผู้ชมที่เหมาะสม

เปิดมีโอกาสให้ธุรกิจอื่นเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น

  • เปิดโอกาสบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถแข่งขันและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยไม่ต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรมและจำกัดการเติบโตของพวกเขา
  • ยอมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จากการเปิดโอกาสให้ตลาดเทคโนโลยีมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ไม่มีการผูกขาด ผู้บริโภคจึงสามารถเลือกบริการที่มีคุณภาพดีขึ้น และราคาที่สมเหตุสมผล

ใครจะได้หรือเสียผลประโยชน์

แน่นอนว่าเมื่อกฎนี้ถูกบังคับใช้ทั้งบริษัทรายเล็ก รวมถึงผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะนอกจากข้อกำหนดที่ Big Tech ควรทำยังได้กำหนดข้อห้ามซึ่งอาจไปขัดต่อผลประโยชน์และการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนี้

ห้ามกีดกันธุรกิจอื่น ๆ ออกจากการตลาดดิจิทัล

  • ในหน้าผลการค้นหา ลำดับข้อมูลเว็บไซต์ควรโปร่งใส แม้บริษัทใหญ่จะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มแต่ก็ห้ามแทรกแซงเอาสินค้าหรือบริการของตนเองไว้อันดับแรก เหนือสินค้าและบริการของเจ้าอื่น
  • ห้ามกีดกันผู้ใช้ในการใช้งานแพลตฟอร์มอื่น ๆ นอกเหนือจากของตนเอง ต้องให้อิสระในการเลือกใช้บริการ 

ห้ามเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคโดยไม่ได้รับความยินยอม

  • ให้อิสระแก่ผู้ใช้ในการเลือกเก็บหรือลบแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาพร้อมกับโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ บริษัทไม่มีสิทธิ์บังคับ
  • ห้ามแอบเก็บข้อมูลหรือสอดแนมกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้เพื่อนำไปแสดงโฆษณาที่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ เว้นแต่จะได้รับความยินยอม

จากการประกาศกฎเกณฑ์เหล่านี้บริษัทเทคโนโลยีที่ถูกเพ่งเล็งต่างก็เร่งตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของตนว่าไปขัดต่อกฎ DMA หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามบริษัท ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok มีท่าทีไม่พอใจต่อกฎนี้ รวมถึงไม่เห็นด้วยที่บริษัทของตนถูกเรียกว่า "ผู้เฝ้าประตู"

อ้างอิง: commission.europa, reuters, theverge

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CHANGAN Automobile เปิดตัว NEVO E07 : SUV พร้อมฟังก์ชันกระบะเปิดท้ายในงาน “ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ 2024”

CHANGAN เปิดตัว NEVO E07 ในงานแสดงรถยนต์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นยานพาหนะแปลงโฉมคันแรกของโลก ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก NEVO E07 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของบริษัทในโฉม SUV ...

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...