ภาพรวมสินค้าจีนก่อนการบุกตลาดของ Temu | Techsauce

ภาพรวมสินค้าจีนก่อนการบุกตลาดของ Temu

การเข้ามาของ Temu แอปอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนกำลังสร้างความกังวลในหมู่คนทำธุรกิจไทยอีกครั้ง ด้วยการขายสินค้าราคาถูกแบบ ‘ทุบราคาตลาด’ ซึ่งอาจดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าคุณภาพต่ำ เพราะราคาที่ล่อตาล่อใจ 

สโลแกนอย่าง “ช้อปให้เหมือนมหาเศรษฐี” คือการประกาศให้ลูกค้ารับรู้ว่าพวกเขาสามารถซื้อของได้หลายอย่างโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ 

หลังเปิดตัว Temu จุดกระแสให้เทรนด์ #สินค้าจีน กลับขึ้นมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง บทความนี้ Techsuce จึงอยากชวนมาส่อง ‘ภาพรวมการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 

3 เสืออาเซียนรับมือยังไง เมื่อจีนยึดครองตลาดออนไลน์

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่ Temu เข้ามาต่อจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งการเข้ามาของ Temu ได้สร้างกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในทั้ง 3 ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่น 

Temu ไม่ใช่ธุรกิจจีนเจ้าแรกที่พยายามขยายตลาดของตนเข้าสู่ SEA ก่อนหน้านี้มีอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ มากมายที่เข้ามา โดยทุกเจ้าได้เปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปมากพอสมควร ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันมองหาแต่สินค้าที่มีราคาถูกที่สุดหรือดีลดีที่สุดเท่านั้น 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ธุรกิจใหญ่จากจีนมีข้อได้เปรียบผู้ประกอบการท้องถิ่น เนื่องด้วยแรงสนับสนับของรัฐบาลจีนที่ให้ทุนผลิตสินค้าจำนวนมากและภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง จนส่งผลให้สินค้าล้นตลาดนำออกมาเทขายในราคาที่ถูกกว่าตลาดจากการมีต้นทุนการผลิตต่ำ ซึ่งการบุกตีตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงก็กระตุ้นให้รัฐบาลในแต่ละประเทศเริ่มขยับตัว เพื่อป้องกันการเสียผลประโยชน์ทางการค้าให้จีนบ้างแล้ว อาทิ

อินโดนีเซีย 

ตั้งแต่ TikTok Shop เปิดตัวในปี 2021 โรงงานสิ่งทอในอินโดนีเซียหลายแห่งเริ่มเลิกจ้างพนักงานเพราะยอดขายลดลงและไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าออนไลน์ราคาถูกได้  

ทำให้ในปี 2023 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศ ห้ามทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok Shop หรือ Facebook เป็นต้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ และสร้างการแข่งขันที่ยุติธรรม 

และในปี 2024 ด้าน Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียออกมาประกาศว่ารัฐบาลอาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าผ้าสูงถึง 200% นอกจากนี้พิจารณาภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตสิ่งทอในท้องถิ่นและต่อสู้กับสินค้าราคาถูกของจีน

มาเลเซีย 

เมื่อต้นปี 2024 มาเลเซียได้เริ่มเก็บภาษีการขาย 10% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องซื้อทางออนไลน์และมีราคาต่ำกว่า 500 ริงกิต (3,000 กว่าบาท) เพื่อช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

เพราะก่อนหน้านี้ สินค้าราคาถูกเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีการขายและอากรนำเข้าเหมือนกับสินค้าราคาแพงอย่างของแบรนด์เนม การเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาถูกเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกดึงดูดใจที่จะซื้อ ทำให้สินค้าในท้องถิ่นมีโอกาสในตลาดมากขึ้น

ไทย 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงการคลัง จะเริ่มใช้มาตรการการเก็บภาษีมูลค่า 7% สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท หลังจากที่ผ่านมาได้รับมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจัดทำกฎหมายรายละเอียดเสร็จแล้ว

การจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้แก่ระบบการค้าในประเทศ  ทำให้สินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เหมือนกับสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าในไทยทั่วไป

SEA อยากตัดจีนใจจะขาด แต่ก็ยังต้องพึ่งพาต่อไป

จีนนับเป็นแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำลายสมดุลเศรษฐกิจท้องถิ่น การผูกขาดจากสินค้าราคาถูกทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายภาษีเพื่อปกป้องผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่สามารถกีดกันได้เต็มที่เพราะยังต้องพึ่งพาจีนในหลายด้าน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ อธิบายว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่า 15% ต้องพึ่งพาจีน ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีน ขายสินค้าจำนวนมากให้กับจีน และพึ่งพาการลงทุนจากธุรกิจจีนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ

ตามการคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs เผยว่า เมื่อปีที่แล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดเอเชียที่กำลังเติบโตซื้อสินค้าประมาณ 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งออก 

แม้ว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงและตลาดเอเชียที่กำลังเติบโตจะคิดเป็นเพียง 10% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่ก็รับส่วนแบ่งการส่งออกของจีนไปแล้วถึง 1 ใน 3 ของสินค้าที่จีนส่งออกไปทั่วโลก 

แต่การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนสร้างปัญหาให้กับธุรกิจในท้องถิ่น ผู้ประกอบการในท้องถิ่นรู้สึกว่าไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็พยายามดึงดูดบริษัทจีนให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในท้องถิ่น

ดังนั้น การรักษาสมดุลของ ‘การออกนโยบายต่อสู้กับสินค้าจีน’ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้อง ‘พึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ’ จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ใครขาดดุลการค้าจีนบ้าง ?

ไทย : ไทยส่งออกสินค้าไปจีนมากที่สุด เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ แต่ก็นำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้จีนยังเป็นแหล่งทุนใหญ่ที่ลงทุนในไทยมากที่สุด ในปี 2023 จีนลงทุนในไทยไปว่า 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 34.5% ของเงินลงทุนทั้งหมดในอาเซียน ทว่าการขาดดุลการค้าของไทยกับจีนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้

  • 2020 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.09 แสนล้านบาท
  • 2023 ขยับขึ้นไปเป็น 36,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท

มาเลเซีย:  การขาดดุลการค้าของมาเลเซียกับจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.09 แสนล้านบาท) เป็น 14,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.03 แสนล้านบาท)

อินโดนีเซีย : อินโดนีเซียทำผลงานได้ดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกโลหะไปยังจีนยังคงมีความแข็งแกร่ง ทำให้มีดุลการค้าเกินดุล 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 หมื่นล้านบาท) ในปีที่แล้ว แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 อินโดนีเซียก็เผชิญกับการขาดดุลการค้ามูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 แสนล้านบาท) ในสินค้าอื่นๆ กับจีน

การเข้ามาของ Temu และแพลตฟอร์มจีนอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างแรงกดดันต่อธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่สามารถแข่งกับราคาสินค้าที่ถูกกว่าได้ ความท้าทายหลักคือการหาจุดสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ประกอบการท้องถิ่นและการดึงดูดการลงทุนจากจีน จากการขาดดุลการค้าที่ผ่านมา คุณมองว่าจีนคือโอกาสหรือความเสี่ยงของเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่ากัน?

อ้างอิง: asia.nikkei

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

BYD ส่ง BYD M6 รถ MPV ไฟฟ้าราคาต่ำล้านลุยไทย ฟีเจอร์ความปลอดภัยครบ วิ่งไกล 530 กม. ตอบโจทย์ครอบครัวไทย

BYD เดินหน้ารุกตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับ Rêver Automotive เปิดตัว BYD M6 รถยนต์ MPV พลังงานไฟฟ้า 100% เจาะกลุ่มครอบครัวยุคใหม่ โดยชูจุดเด่นด้านราคาท...

Responsive image

สินค้าจีนบุกสิงคโปร์ ฐานที่มั่นใหม่ทดลองตลาดโลก มุ่งหาแหล่งรายได้ใหม่ เหตุเศรษฐกิจจีนซบเซา

สมรภูมิใหม่ของการค้าโลกกำลังระอุ เมื่อแบรนด์จีนเลือก สิงคโปร์ เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ สิงคโปร์กำลังจะเป็นฐานทดลองเพื่อขยายธุรกิจจีนสู่ตลาดโลก เนื่องจากผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกและตะวั...

Responsive image

เปิด 7 ข้อเสนอ สมาคมสตาร์ทอัพไทย เร่งรัฐบาลใหม่หนุน Startup Ecosystem

สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ประกาศวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่ หวังผลักดันให้ประเทศไทยใช้จุดแข็งด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว สร้างความได้เปรียบในต...