ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ชาวโลกเจอภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น และแปรปรวนยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากกิจกรรม/กิจการของทุกภาคส่วนบนโลกที่ส่งผลให้มีคาร์บอนสะสมมายาวนาน จึงเกิดความร่วมมือ ‘ลดการปล่อยคาร์บอน’ จาก 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon) ทั้งยังมี การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP (Conference of the Parties) ทุกปี ซึ่งปีนี้เข้าสู่การประชุมครั้งที่ 27 เรียกว่า COP27
โครงการ CASE (Clean Affordable Secure Energy for Southeast Asia) คือ โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งสู่การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 4 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์
เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศ มีการผลิตไฟฟ้าโดยรวมเกือบ 3 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออยู่ที่ราว 72% ของ GDP ภูมิภาค และ 82% ของประชากรทั้งหมด การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ตามเป้า COP โดยไม่ต้องจ่ายแพงและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศอีกหลากหลายด้าน ด้วยแผนงานและความคืบหน้าแตกต่างกันไป
ผลการศึกษาโดย CASE ชี้ว่า แผนพลังงานและนโยบายที่ไทยมีในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ สำหรับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานได้ จึงเสนอภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย พิจารณาเส้นทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ว่าต้องอาศัยเป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง
งานเสวนาสาธารณะ "จาก COP26 สู่ COP27: เดินหน้าภาคพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 2050" ซึ่งจัดขึ้นโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), กระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน มีเวทีเสวนา “ทบทวนคำสัญญาผู้นำไทยกับความเป็นไปได้สู่เวที COP27” ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง อภิปรายความคืบหน้า และนำเสนอบางประเด็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน จากคำมั่นสัญญาที่ผู้นำไทยให้ไว้ใน COP26 ก่อนไปสู่ COP27 ที่กำลังจะถึง ได้แก่
ที่มากล่าวถึงหนทางและข้อเสนอแนะสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในมิติที่แตกต่างกัน ดังนี้
คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทร ระบุถึงความคืบหน้าจากการดำเนินงานของภาครัฐในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ผู้นำไทยให้ไว้ในการประชุม COP26 ว่า ประเทศไทยมีมาตรการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับภาคการปล่อยคาร์บอนจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1) ภาคพลังงาน/ขนส่ง 2) ภาคอุตสาหกรรม 3) ของเสีย และ 4) ภาคเกษตร ขณะเดียวกัน ภาคที่ช่วยดูดซับคือ ภาคป่าไม้ ซึ่งมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากภาคป่าไม้มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้น้อยกว่าการปล่อยคาร์บอนจากทั้ง 4 แหล่ง ดังนั้น แม้ภาครัฐวาง Roadmap ในการใช้เทคโนโลยีและมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ทันกับกรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้มีความคืบหน้าแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามแผน
“ขณะนี้ประเทศไทยคืบหน้าไปแล้วหลายด้าน ทั้งด้านนโยบาย การกำกับดูแล ซึ่งได้บรรจุมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายลงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนพลังงานชาติ รวมทั้งอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้หลายเรื่องคืบหน้าในทางปฏิบัติ เช่น การทำคาร์บอนเครดิต กลไกทางการเงิน ภาษีคาร์บอน”
คุณอาทิตย์ เวชกิจ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมากต่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากภาคเอกชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากประเทศไทยไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ กล่าวคือ ไม่มีความคืบหน้าหรือขาดความชัดเจนต่อเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน จะส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการผลิต ไปจนถึงย้ายฐานการผลิต
คุณอาทิตย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนลงทุนและเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว เพราะเป้าหมายของประเทศคือ ปี 2050 ซึ่งถือว่าช้าเกินไปสำหรับการทำธุรกิจ ปัจจุบันจึงเร่งเดินหน้าและวางเป้าในระยะสั้นกว่ามาก โดยสิ่งที่ต้องการจากภาครัฐ คือ 1) ความชัดเจนและการสื่อสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนพลังงานสะอาดของประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนได้จริง
2) การหนุน Grid Modernization หรือการปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อช่วยภาคเอกชนลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทางอ้อมผ่านระบบไฟฟ้าเพราะฝั่งเอกชนไม่สามารถลดได้เอง
และ 3) เสนอให้บริหารจัดการโควต้าการดูดซับคาร์บอนที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก เช่น การทำเรื่อง Green Finance ที่ปัจจุบันมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยดูแล ทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้
คุณสฤณี อาชวานันทกุล แสดงความคิดเห็นเรื่อง คาร์บอนเครดิต ว่าการเดินหน้าคาร์บอนเครดิตเป็นความคืบหน้าที่ดี แต่สำหรับประเทศไทยควรทำเป็น ‘กลไกเสริม’ ไม่ใช่กลไกหลัก และระมัดระวังไม่ให้กลายเป็น Green Washing หรือ การฟอกเขียว โดยประเทศไทยควรเน้น ‘นโยบายด้านการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ’ และ ‘การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นหลัก
เนื่องจากสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนของไทยอยู่ที่ประมาณ 1% สิ่งที่น่ากังวลคือ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบ จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงติด 1 ใน 10 ของโลก ประเทศไทยจึงควรเน้นวางนโยบายเพื่อการปรับตัว และบรรเทาผลกระทบเพื่อช่วยลดความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ร่วมกับการลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการพลังงาน หนุนการผลิตไฟฟ้ากระจายศูนย์ โดยให้ประชาชนได้เป็นทั้ง ผู้ใช้และผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่เป็นธรรม
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ แสดงความเห็นต่อแผน PDP ที่ควรต้องมีการแก้ไขด้วยการ 1) เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากกว่า 50% และแสดงความกังวลต่อสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิลที่ยังสูงถึง 57% โดยเสนอให้มีการจำกัดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจนโดยเร็ว 2) สำหรับภาคขนส่ง ควรมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบมีและไม่มีเงื่อนไขการผลิตอีวีในประเทศ เพื่อเร่งให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้ง 3) เร่งสร้างทางรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งด้วยรถบรรทุกทางถนน
นอกจากนี้ ศ.ดร.พรายพลกล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอนโยบายส่งเสริม Prosumer เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยรัฐบาลควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะเมื่อเทียบกับอดีตที่จูงใจด้วยราคารับซื้อไฟหน่วยละ 6 บาท แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 2 บาทกว่าเท่านั้น
เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาในการพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 พร้อมปรับนโยบายให้เหมาะกับศักยภาพและผลกระทบต่อประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รายงานความคืบหน้าและตอบรับข้อเสนอ
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ระบุว่า ประเทศไทยไม่ควรขยับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าเดิม สิ่งที่ต้องทำคือ ควรให้คำมั่นในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ คำมั่นเรื่องยกเลิกการใช้ถ่านหิน และการให้ความชัดเจนเรื่องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้น
คุณอาทิตย์ เวชกิจ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยควร 1) แก้ไขแผน PDP 2) ลดการใช้ฟอสซิลลงอีก และ 3) สัดส่วนการผลิตพลังงานสะอาดควรไปถึง 70% ซึ่งในประเด็นสุดท้ายยังส่งผลกระทบอีกหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ ความพยายามในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะหากการผลิตไฟฟ้ายังไม่ใช่พลังงานสะอาด นโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดย่อมไม่สมบูรณ์ และนอกจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนเป็น Prosumer ในด้านการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การกำกับแบบ ‘คุมกำเนิด’ แบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
คุณสฤณี อาชวานันทกุล กล่าวถึงบทบาทของไทยในเวที COP27 ว่า ไทยควรแสดงจุดยืนต่อประชาคมในด้านความเปราะบางสืบเนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไทยไม่ได้ปล่อยคาร์บอนมาก อย่างประเทศเหล่านั้น ไทยจึงควรร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบาง เพื่อต่อรอง เจรจาเพื่อรับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ปิดท้ายที่ คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทร ตัวแทนภาครัฐซึ่งจะเดินทางไปร่วมการประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์ ระบุว่า นอกจากจะไปนำเสนอความคืบหน้าว่า ไทยดำเนินการไปมากเพียงใดเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ยังตั้งใจที่จะไปแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ จากนานาชาติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับภาษีคาร์บอน กลไกทางการเงิน เพื่อนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะนำข้อเสนอแนะจากการเสวนาครั้งนี้ไปเพิ่มเติม ปรับปรุงการจัดทำนโยบายและการดำเนินงานเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ได้ตามแผน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด