SPACE-F เปิดตัว 10 Startup หน้าใหม่สาย FoodTech รุ่น 2 ใน Demo Day | Techsauce

SPACE-F เปิดตัว 10 Startup หน้าใหม่สาย FoodTech รุ่น 2 ใน Demo Day

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จํากัด จัดงาน SPACE-F batch 2 Incubator Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะในรุ่นที่ 2 

สำหรับ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพกลุ่ม Incubator หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ได้เข้ามาเรียนรู้ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขายได้และเป็นที่นิยมของตลาด รวมไปถึงการผลักดันให้ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับธุรกิจรายใหญ่ และได้รับการลงทุนในอนาคต ประกอบด้วย 

  • GPJ Biotechnology: อาหารเสริมกลูโคซามีนช่วยลดภาวะสึกหรอของข้อ และกระดูกอ่อน
  • HydroZitla:เครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากน้ำหยวกกล้วยและสมุนไพรป้องกันโรคนิ่วในไต  
  • Nam Jai Sparkling Water: เครื่องดื่มโซดาผลิตจากน้ำผลไม้จริง 100% รายแรกในไทย ให้พลังงานเพียง 20 แคลอรี่ 
  • Omylk: นมพาสเจอร์ไรส์จากข้าวโอ๊ต ปราศจากแลคโตส 
  • Rethink Bio: ผลิตภัณฑ์เสริมคุณค่าทางอาหารสกัดจากสาหร่ายขนาดเล็ก คุณค่าทางโภชนาการสูง  
  • Saxo-Siam Protein: อาหารปลาและอาหารไก่ จากหนอนแมลงวันลายที่ได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 
  • The Flying Thai Food: เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ช่วยยืดอายุผลไม้สด สามารถยืดได้นาน 45 วัน
  • Trash Lucky: แพลตฟอร์มออนไลน์นำขยะมาแลกเป็นคะแนนลุ้นรับทอง และการผลิตถังรีไซเคิลอัจฉริยะ 
  • Viramino: ผงโปรตีนจากพืชเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย  
  • Yindii Yindii: แอปพลิเคชันแมทช์ร้านอาหารกับผู้บริโภคเพื่อจับจองอาหารส่วนลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ยังคงเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จใน 2 ปีที่ผ่านมา เรามีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34 ราย ซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง และบางรายก็ยังสามารถต่อยอดขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก NIA ได้อีกด้วย ซึ่ง NIA ตั้งเป้าหมายในการสร้างสตาร์ทอัพด้านดีพเทค 100 ราย ให้ได้ภายใน 3 ปี โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตธุรกิจอาหารไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการ การสร้างรูปแบบของอาหารแห่งอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก เพราะการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่กระบวนการผลิตใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ การบริหารจัดการ และระบบทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนที่กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โดยที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นไม่ได้เป็นการส่งเสริมเฉพาะสตาร์ทอัพเท่านั้นแต่ยังเป็นโมเดลการปรับตัวที่สำคัญทั้งกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไปจนกระทั่งกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มอาหารทางเลือก ที่ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ โปรตีนจากแมลง กลุ่มอาหารฟังก์ชัน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้คุณค่ามากกว่ารสชาติหรือความอร่อย การบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร เช่น นวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับอาหารเหลือทิ้ง การจัดเก็บอาหาร - การพัฒนาสิ่งหุ้มห่อ ตลอดจนนวัตกรรมด้านการปรุงหรือรสชาติอาหาร ที่ผู้คนและนักบริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในขณะนี้”

คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Space-F เป็นโครงการที่มีสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมแบบเปิดของไทยยูเนี่ยน ที่จะเปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ เพื่อช่วยสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพของอุตสาหกรรมอาหารให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วม Space-F มีส่วนช่วยสร้างนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านอาหาร และตอบโจทย์แนวโน้มผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อาหาร ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ ภายใต้ความร่วมมือจากทั้งพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล และในปีที่ 2 ยังได้รับความร่วมมือจากไทยเบฟเวอเรจ เบทาโกร และดีลอยท์ พันธมิตรใหม่ของเราที่เล็งเห็นความสำคัญของโครงการและเข้าร่วมสนับสนุนในครั้งนี้”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาหารถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตและเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเข้มแข็งในการวิจัยด้านสุขภาพ มีทรัพยากร เทคโนโลยี และเครื่องมือทันสมัยที่พร้อมจะสนับสนุนนักวิจัย  และสร้างผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีทางอาหาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นับเป็นงานวิจัยที่มีความโดดเด่นด้านหนึ่ง  ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ SPACE-F ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ถือเป็นเรื่องสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ความต้องการอาหารเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการแพทย์ ผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละวัย ในแต่ละโรค ต้องการอาหารทางการแพทย์ที่ต่างกันไปเพื่อช่วยทั้งในด้านการป้องกันและรักษาโรค  ตลอดจนผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจต้องการอาหารที่แตกต่างกันเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของแต่ละคน ดังนั้น โครงการ SPACE-F ถือเป็นโครงการที่ดีเยี่ยมในการที่จะบ่มเพาะ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไปในทิศทางที่เหมาะสมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยเบฟ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ SPACE-F ร่วมกับองค์กรระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พร้อมส่งเสริม บ่มเพาะ และพัฒนาทีมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้ใช้ความความสามารถในการนำนวัตกรรมมาปรับใช้สร้างธุรกิจอาหารให้เป็นที่น่าสนใจ และเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญต่อการร่วมพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้ จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ปัญหาด้าน โลจิสติกส์ ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เกิดการตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพ และหันมาใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของอาหารมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพอาหาร กระบวนการผลิต การเก็บรักษา  และที่สำคัญคือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สะอาด ปลอดภัย และพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ รวมถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ไทยเบฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็น 1 ในวัตถุประสงค์หลักของ PASSION 2025 เพื่อเสริมศักยภาพในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และสร้าง Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่าที่มีความยั่งยืน เพื่อผู้บริโภคและคู่ค้าทางธุรกิจได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง”

คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า “เครือเบทาโกรขอชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจและยินดีกับความสำเร็จของสตาร์ทอัพทุกท่านที่ได้ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการ SPACE-F Batch 2 เครือเบทาโกรมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารให้มีความพร้อมและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ สำหรับโครงการนี้ ทุกทีมนำเสนอนวัตกรรมด้านอาหารที่หลากหลาย น่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจในการปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ตลอดจนเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ เพื่อชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกคน”

คุณสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ระบบนิเวศอาหารของโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19  ไม่เพียงแต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นที่มีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหาร  แต่ยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจ สตาร์ทอัพ ฯลฯ ดีลอยท์มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบที่สำคัญ เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SPACE-F และได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ  เนื่องจากเราเชื่อว่าการที่พนักงานของดีลอยท์ได้ใช้ทักษะและความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือผู้คนเป็นการสร้างผลกระทบทางสังคมที่ยิ่งใหญ่และมีความหมาย  ความร่วมมือในโครงการ SPACE-F จะช่วยผลักดันให้เกิดความคิดริเริ่มที่สามารถนำไปต่อยอดปฏิบัติ  ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศอาหาร ตลอดจนกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนให้กับวงการอาหารของประเทศไทยต่อไป”




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Sovereign AI สำคัญอย่างไร ? จากปาก Jensen Huang ในวันที่ ‘ข้อมูลไทย’ คือทรัพยากรใหม่

สำรวจบทบาทของ Sovereign AI ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมคำอธิบายจาก Jensen Huang CEO ของ NVIDIA เกี่ยวกับ AI ไทยและ Open Thai GPT ที่จะเปลี่ยนอนาคตของเทคโนโลยีในประเทศไทย...

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...