ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้า 5 ปีเลิกใช้สำเนาบัตรฯ เต็มตัว | Techsauce

ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้า 5 ปีเลิกใช้สำเนาบัตรฯ เต็มตัว

  • ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เสนอ กำหนดให้ดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จภายใน 5 ปี
  • กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักในอดีตและปัจจุบัน ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ (Government Data Exchange Center : CDX) เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ
  • ให้จัดทำระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ
  • กำหนดมาตรการระยะสั้น คือ หน่วยงานราชการต้องทำสำเนาให้ประชาชนไปก่อน และเก็บเงินผ่านช่องทาง National e-Payment โดยต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
  • ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน Social Network เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว

ล่าสุดการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านและเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลในราชการแบบเต็มตัวมีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และพันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. (หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล") ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งก่อนหน้านี้ Techsauce รายงานข่าวเรื่องการยกเลิกใช้สำเนาบัตรต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเตรียมยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้าน” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสองหน่วยงานอย่าง ศาลอาญากรุงเทพใต้ และ กรมสรรพากร ก็นำร่องเรื่องนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


อ่านประกอบ


สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล

  • หากหน่วยงานของรัฐได้จัดทำเอกสาร จัดทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือจัดทำกระบวนการทำงานและการบริการด้วยวิธีการทางดิจิทัลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดย พ.ร.บ. นี้แล้ว ให้ถือว่าเอกสาร การพิสูจน์และยืนยันตัวตนและกระบวนการทำงาน และการบริการดังกล่าวมีผลโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นกำหนดไว้
  • กำหนดให้มีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจน สอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงานของรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ
  • กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักในอดีตและปัจจุบัน ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และต้องปรับปรุงข้อมูลดิจิทัลนั้นให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์และสามารถใช้ได้ รวมทั้งมีความถูกต้อง ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐอื่น และนำไปประมวลผลต่อได้
  • หน่วยงานของรัฐที่ต้องมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชน ให้จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลเป็นอีกช่องทางหนึ่งด้วย และสามารถตกลงกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นให้จัดเก็บเงินแทนหน่วยงานตนเองได้ ทั้งนี้กำหนดให้เก็บอัตราค่าต่างๆ ให้น้อยกว่าอัตราที่กำหนดอยู่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางดิจิทัลของหน่วยงาน
  • กำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ (Government Data Exchange Center : CDX) เพื่อรองรับและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ กำหนดนโยบายและมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
  • ให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) จัดทำระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อเชื่อมโยงไปยังบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้รองรับการเชื่อมโยงดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัยในจุดเดียว
  • หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ถูกต้องและทันสมัย และไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายกำหนดมิให้มีการเปิดเผย โดยเปิดเผยในรูปแบบมาตรฐานเปิด ซึ่งสามารถให้เข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดการพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้

ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

หลังจากนี้ ครม. จะส่งร่าง พรบ. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

เห็นชอบร่างมาตรการ "ไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน"

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ จากประชาชน)  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอร่างมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐภายในฝ่ายบริหารทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติ สรุปได้ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น (ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561)

1. ให้หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ประชาชนต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องทำบันทึกข้อตกลง (MoU) 2. เมื่อประชาชนมาติดต่อขอรับบริการ ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้สั่งพิมพ์เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องใช้จากระบบที่เชื่อมโยงไว้และลงนามรับรอง โดยประชาชนผู้มาติดต่อไม่ต้องเป็นผู้นำสำเนามาและไม่ต้องลงนามรับรอง 3. การให้บริการที่เป็นตัวเงินแก่ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด รวมทั้งการจ่ายเงินและสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ให้ดำเนินการผ่านระบบ National e-Payment ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 4. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน Social Network เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และให้รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานนั้นทราบเพื่อนำไปใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานด้วย

มาตรการระยะกลาง (ภายในปี 2562)

จะให้หน่วยงานพัฒนาระบบสารสนเทศหรือแอปพลิเคชันที่ให้บริการประชาชนเพื่อเชื่อมต่อกับ Linkage Center ของกรมการปกครอง เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลของประชาชน เพื่อกรอกลงในแบบคำร้องดิจิทัลของหน่วยงานได้โดยอัตโนมัติ และให้หน่วยงานพิจารณาลดรายการเอกสารสำเนาที่ประชาชนต้องใช้ในการขอรับบริการ

ส่วนมาตรการระยะยาว (ภายในปี 2563)

จะให้สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนาศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange Center : CDX) ให้ครอบคลุมรายการเอกสารที่เชื่อมโยงมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเรียกดูและบันทึกเอกสารทางราชการระหว่างหน่วยงานได้และให้บริการออนไลน์ได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

8 ล้านคนเสี่ยงตกงานเพราะ AI การบ้านใหญ่ของรัฐบาล UK

สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะหรือ IPPR ประกาศเตือน ชาวสหราชอาณาจักรกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน จากนโยบายด้าน AI ของรัฐบาล...

Responsive image

พกสะดวก กินได้ทุกที่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ วางขายทางออนไลน์เร็วๆ นี้

นวัตกรรมแห่งรสชาติ เด็กสมบูรณ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ พกติดตัวได้ทุกที่ ใช้งานสะดวกสบาย แค่ละลายพร้อมอาหาร เตรียมจำหน่ายตามช่องทางออนไลน์เร็วๆ นี้...

Responsive image

Adobe GenStudio สร้างแคมเปญด้วย AI ตอบโจทย์การทำคอนเทนต์ครบวงจร เพื่อนักการตลาด

ข่าวดีนักการตลาด ทาง Adobe ประกาศในงาน Adobe’s Summit เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง GenStudio ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างโฆษณาครบวงจรด้วย AI...