ในยามที่ประเทศไทยยังเหลื่อมล้ำสูง #NoCPTPP เสียงสะท้อนจากประชาชนที่รัฐต้องเปิดใจฟัง | Techsauce

ในยามที่ประเทศไทยยังเหลื่อมล้ำสูง #NoCPTPP เสียงสะท้อนจากประชาชนที่รัฐต้องเปิดใจฟัง

หลังจากที่มีกระแสต่อต้านคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP จากประชาชนจนเกิด #NoCPTPP กระหึ่มโลกออนไลน์นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติด่วน ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ หากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP โดยในการอภิปรายครั้งนี้ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ร่วมอภิปราย โดยไปในทิศทางเดียวกันว่าให้มีการจัดตั้ง กมธ. พิจารณาข้อดี ข้อเสีย ว่าไทยควรเข้าร่วมหรือไม่เสียก่อน...

NOCPTPP

ทำความเข้าใจ CPTPP ฉบับย่อ

CPTPP  (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ 

สำหรับความตกลงดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 ภายใต้ชื่อว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ต่อมาในปี 2017 สหรัฐอเมริกาได้ขอถอนตัวออกไป ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ ได้แก่   ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม พร้อมใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP แม้ว่าการเดินหน้าต่อโดยไม่มีสหรัฐอเมริกาจะทำให้ขนาดเศรษบกิจและการค้าของความตกลงดงกล่าวเล็กลง แต่ก็ตามมาด้วยการมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องขึ้นกับอำนาจการต่อรองของสหรัฐที่เป็นประเทศขนาดใหญ่

(อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ )

ผู้แทนประชาชน ตั้งถามได้คุ้มเสียหรือไม่ ? GDP โตขึ้น 0.12% แต่ต้องแลกมาด้วย...

คุณวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในรายชื่อ ประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งหมด 11 ประเทศ นั้น ไทยได้มีข้อตกลงทางการค้าไปแล้ว 9 ประเทศ เหลือแค่ 2 ประเทศ คือ แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูแล้วทั้ง 2 ประเทศนั้นมีมูลค่าการส่งออกจากไทยเพียงแค่ 2% และจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นเพียง 0.12% เท่านั้น 

ในทางกลับกันหากมองว่า การเพิ่ม GDP เพียงแค่นั้น แต่ไทยต้องแลกกับการเสียประโยชน์อะไรบ้าง คุณวรภพอธิบายต่อว่า อาจจะทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองของไทยลดลง อีกทั้งยังต้องเปิดรับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เคยคุ้มครองไว้อย่างเช่น ปาล์ม, มะพร้าว, กาแฟ, นม ฯลฯ ถ้าราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำลง รัฐบาลจะรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร ?...

ต่อมาอีกประเด็นที่ต้องระวัง เพราะไทยเรายังเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ยังจำเป็นต้องพึ่งกลไกลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ แต่ถ้าเข้าร่วม CPTPP จะมีข้อกำหนดว่า ประเทศสมาชิกห้ามบังคับการทำ ถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือ Offset Policy สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ดังนั้นไม่ได้ส่งผลดีกับประเทศไทยแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า "ความเสี่ยงค่าโง่ของประเทศไทย" ซึ่งเป็นทั้งค่าโง่และค่าแกล้งโง่ กล่าวคือการเสี่ยงถูกนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นหรือบริษัทยาข้ามชาติฟ้องอนุญาโตตุลาการจากการผิดข้อตกลงได้

นอกจากนี้ด้านนายแพทย์ ระวี มาศฉมาดล ส.ส.จากพลังธรรมใหม่ ได้กล่าวถึง ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม CPTPP นั้นว่า ปัจจุบันมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม CPTPP ไปแล้ว คือ แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วน 4 ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คือ มาเลเซีย ชิลี บรูไน และเปรู ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ลงสัตยาบัน

คุณศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จริง ๆ แล้วรัฐบาลรู้หรือไม่ว่า ในการเข้าร่วม CPTPP ไทยจะต้องผูกพันกับอนุสัญญา 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) มีผลให้ผูกขาดพันธุ์พืช และต้องเข้าร่วมสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรเรื่องจุลชีพ ทั้งนี้เห็นเรื่องมีผลกระทบในเชิงลบอีกมากมาย ทั้งสิทธิบัตรยา เครื่องมือแพทย์มือสอง ที่กลัวว่าจะกลายเป็นขยะส่งเข้ามาในไทย

นอกจากการเสียผลประโยชน์ทางการการเกษตรแล้ว ยังมีเรื่องของความมั่นคงทางยาอีกด้วย โดยในประเด็นดังกล่าว คุณวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP นั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติ สามารถฟ้องอนุญาโตตุลาการจากการใช้สิทธิ CL ยา ซึ่ง เป็นการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรได้ง่ายขึ้น ซึ่งในประเด็น CL ยา จะเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางยาของประเทศ และทำให้ยาสามัญที่จะขึ้นทะเบียนตำรับยา ยากขึ้น รวมไปถึงการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป เพื่อแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.12 %

สำหรับการทำ CL ยานั้นจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาที่ถูกลง ตามข้อตกลงที่ชื่อว่า TRIPS ซึ่งคือ ข้อตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นข้อตกลงหนึ่งที่เหล่าประเทศภาคีสมาชิกขององค์การค้าโลกจำเป็นต้องเข้าร่วม ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกขององค์การค้าโลก (WTO)ด้วย ให้การที่ประเทศสมาชิกสามารถทำ CL ยา ได้ภายใต้ 3 ภาวะ บวกกับ 1 เงื่อนไข คือ 1.ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ 2.สถานการณ์อื่นที่มีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง 3.การใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆทางสาธารณะแต่ไม่ใช่ใช้ในเชิงพาณิชย์ และเงื่อนไขคือ แต่เมื่อทำแล้วจำเป็นต้องชดเชยให้กับบริษัทของผู้ทรงสิทธิอย่างเหมาะสม

คุณวาโยกว่าลทิ้งท้ายว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเลวร้าย 100 % และดี 100 % ต้องมีประโยชน์และโทษ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักในการเลือกเข้า ประเด็นที่ได้พูดไปเป็นเพียงเรื่องย่อยเล็กๆเพียงสองเรื่องในการเข้า CPTPP เท่านั้น ที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ความมั่นคงทางยา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.12% ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ?...

กกร. หนุนไทยร่วมเจรจา CPTPP ชิมลางข้อดีข้อเสีย ถ้าไทยเสียเปรียบ จะคัดค้านแน่นอน

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เห็นควรสนับสนุนให้ไทยร่วมเจรจากับกลุ่ม CPTPP ในเดือนสิงหาคม  2563 นี้ เนื่องจากจะได้เห็นถึงข้อดีข้อเสียต่อการเข้าร่วม โดยกระบวนการเข้าร่วมนั้นจะดำเนินการเป็นลำดับขั้น เช่น การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากนั้นต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐรัฐมนตรี ต้องทำประชาพิจารณ์ผลการเจรจา แล้วจึงจะเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ โดยคาดว่าต้องใช้ระยะเวลากว่า 3-4 ปี 

คุณกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวว่า หากไทยร่วมเจรจาแล้วเสียเปรียบ ทางกกร.จะคัดค้านแน่นอน ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ยังไม่ได้มีการเจรจาจึงทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน โดยการเจรจาครั้งนี้จะทำให้ไทยได้ทราบถึงข้อตกลงประเทศภาคี ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวให้แจข่งขันกับประเทศต่างๆในเวทีโลกได้ 

มอง CPTPP ผ่านกรอบ SDGs สะท้อนการพัฒนาที่ขาดความสมดุล

บทวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนจาก SDG  Move ระบุว่า CPTPP ค่อนข้างขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก CPTPP  ถือเป็นการสะท้อนแนวคิดของการพัฒนาที่ขาดความสมดุล โดยที่มองแค่ความเจริญเติบโตในมิติเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังจาดการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางอย่างเกษตรกร นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ผู้คนออกมาคัดค้าน

หากมองการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวบนฐานคิดแนวคิดเสรีนิยม โดยอธิบายตามแนวคิดเสรีนิยมแบบ จอห์น ลอค จะหมายถึง โลกเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งประกอบด้วยปัจเจกชนที่มีอิสระต่อกัน ผู้ซึ่งถูกชักจูงเข้าร่วมกัน ผูกพันกันและกันด้วยพลังของผลประโยชน์แห่งตน โดยที่แต่ละคนพยายามแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งจะทำให้ปัจเจกชนและสังคมได้รับผลดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับแรงดึงดูดของดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาล ที่ช่วยให้ระบบสุริยะจักรวาลดำเนินต่อไปอย่างเป็นระบบ 

สิ่งที่ CPTTP สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ คือ ศักยภาพในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน จากการที่ประเทศไทยจะมีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น และสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ คือ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะกฎหมายการสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจท้องถิ่นและชาวต่างชาติ

ชวนคิด : คุณคิดว่า ประเทศไทยควรวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งการแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือ ควรกลับมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้กระจายรายได้อย่างทั่วถึงก่อนกัน ?...

นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้เราได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศไทยได้อย่างชัดเจนขึ้นจนไม่มีใครสามรถปฏิเสธหรือหาข้อบ่ายเบี่ยงได้ ภาพของประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิของการได้รับสวัสดิการเยียวยาจากภาครัฐบาลที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก ปัญหาของสินค้าการเกษตรจากรายย่อยที่ไม่ได้รับการดูแล เพราะไม่มีตลาดให้เกิดการแลกเปลี่ยน จากการที่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเท่าทันรายใหญ่ตามทุนทรัพย์ที่มี ภาพของปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่เหมือนจะถ้วนหน้า แต่ก็ไม่เคยมีความเท่าเทียมของการได้รับบริการ 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา หากมองการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่ไม่ปกติเช่นนี้ เราจะเห็นการขอไม่ประกาศตัวเลข GDP ของประเทศไทยใน 2 ไตรมาสแรกปีนี้ เพราะอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญเท่ากับ ความอยู่รอด และปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้จริง ๆ หรืออย่างที่เขาว่ากันว่า ‘เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง’

ในขณะที่เรื่องของ CPTPP เองก็เช่นกัน จริง ๆแล้วสิ่งนี้ได้เข้ามาสร้างการเติบโตแค่เศรษฐกิจภาพรวม ที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า 0.12% ที่ GDP ขยายตัวนั้น ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้สักกี่คน ต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วกลุ่มที่จะได้เปรียบจากการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวนั้น ชัยชนะจะเป็นของคนที่แข็งแรงเท่านั้น ซึ่งก็หนีไม่พ้นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังในการแข่งขันและมีความสามารถในการหาประโยชน์ได้มากกว่า 

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องมาช่วยกันพิจารณาดูว่า จริงๆ แล้วหากประเทศไทยไม่ต้องเข้าร่วม  CPTPP เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มเข้ามาเพียงหลักหมื่นล้านนั้น เราจะหันมาพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในประเทศให้มีมีอำนาจในการต่อรอง ด้วยขีดความสามารถของคนไทยเอง เพราะประเทศไทย ถือเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี และคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแค่เราต้องมียุทธศาสตร์ที่วางไว้ให้เอื้อผลประโยชน์และเอื้อต่อการพัฒนา ยกระดับคนในประเทศและกระจายการเติบโตไปถึงรากหญ้าได้จริงๆ เหล่าจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยอย่างสมดุล และลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้มากกว่า...

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักข่าวอิสรา ,สำนักข่าวไทย,พรรคก้าวไกล และ SDG Move

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...