ทุกวันนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อีกทั้งยังมีความต้องการในการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเรื่องของ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จำนวนมหาศาล คืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนักถึง ปัญหาเหล่านี้ทำให้บริษัทและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและรักษ์โลก ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันจนเกิดเป็นกระแส Sustainable Electronics
57.4 ล้านตัน คือ ตัวเลข E-waste หรือ Electronic-waste ในปี 2021 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 ขยะเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นไปถึง 74 ล้านตัน เพิ่ม 3-4% ในแต่ละปีเลยทีเดียว และถึงแม้ว่า E-waste จะคิดเป็นเพียง 2 % ถ้ามองในสัดส่วนภาพรวมของขยะมูลฝอยทั้งโลก แต่ E-waste มีสัดส่วนถึง 70% ในสัดส่วนของขยะที่มีความอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมากหากไม่กำจัดให้ถูกวิธี (เราถึงต้องมีถังขยะสีแดงยังไงล่ะ)
แม้แนวโน้มการพูดถึง E-waste จะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันสัดส่วนของขยะประเภทนี้ถูกจัดเก็บและรีไซเคิลเพียงแค่ 17.4% เท่านั้น ซ้ำร้ายขยะพวกนี้ยังถูกรีไซเคิลแบบผิดวิธีด้วยการฝังกลบ
จุดสำคัญที่กลายเป็นปัญหาที่หลายคนไม่ทราบ เดิมทีวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) พูดง่ายๆ ก็คือ ผลิตเพื่อใช้งานแล้วทิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลแต่อย่างใด และยังได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานจำกัดเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อซ้ำ อาศัยวัสดุราคาถูก เข้าถึงได้ง่ายในจำนวนที่มากและ ไม่คำนึงถึงของเสีย
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หลายแห่งเริ่มเสนอว่า การใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการคำนึงถึงเรื่องของขยะและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถลดผลกระทบในแง่ของทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด แถมยังเป็นมิตรกับสุขภาพของผู้คน สิ่งแวดล้อม และยังลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อเข้าสู่สังคม NetZero อีกด้วย
Dr. Ruediger Kuehr ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Cycles (SYCYCLE) ของ UN ได้กล่าวเอาไว้ว่า "โทรศัพท์มือถือที่ถูกทิ้งหนึ่งตันมีทองคำมากกว่าแร่ทองคำหนึ่งตัน" และ "โทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่องที่ฝังมีส่วนประกอบของทองคำถึง 24 กก. ทองแดง 16,000 กก. เงิน 350 กก. และแพลเลเดียม 14 กก. ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถกู้คืนและกลับสู่วงจรการผลิตและสร้างมูลค่าได้มหาศาล"
กล่าวคือ เทรนด์การหมุนเวียน (Circularity) สามารถปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ช่วยให้บริษัทสร้างคุณค่าผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ แถมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการทำเหมืองเพื่อหาวัสดุใหม่อีกด้วย
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังมีความท้าทายในบางเรื่องอยู่เช่นกัน
ยกตัวอย่างในยุโรป มีการสนับสนุนจากกฎหมายยุโรปว่าด้วยเรื่องของ “สิทธิในการซ่อมแซม” ที่สนับสนุนให้ผู้ใช้หันมาซ่อมแซมแทนที่จะเปลี่ยนใหม่ทั้งเครื่อง รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ทางฝ่ายโรงงานหรือผู้ผลิตก็เริ่มที่จะปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการที่ Samsung และ Google จับมือกับ iFixit เพื่อเพิ่มชิ้นส่วนของอะไหล่หรือ Apple เปิดบริการซ่อมด้วยตัวเอง วางขายเครื่องรีเฟอร์บิช (Refurbishing) ที่ผ่านการรับรองโดยตรง และนำมาขายในราคาที่ถูกลงผ่านตัวแทนจำหน่ายและเว็บไซต์ของตัวเอง
เรื่อง Sustainable Electronics ไม่ได้เป็นเรื่องของภาคเอกชนผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกขั้นตอนของการผลิต ต่อเนื่องไปยังการจัดจำหน่าย การบริโภค ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงผู้บริโภคอย่างพวกเรา ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่สามารถทำได้มีดังนี้
รวบรวมข้อมูลจาก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด