ttb เผยบทวิเคราะห์ ปี 2566 เศรษฐกิจโลก - เศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมไหนตัวตึง? | Techsauce

ttb เผยบทวิเคราะห์ ปี 2566 เศรษฐกิจโลก - เศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมไหนตัวตึง?

คุณนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่รุนแรงมากเท่าที่เคยคาดกันเอาไว้เมื่อปลายปี 2565 ข้อมูลนี้สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ของประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ระดับหดตัวในช่วงต้นปี 2566 และล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นี้ ขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2.7 ในการประเมินรอบก่อน

ttb analytics

ทีทีบี ttb analyticsสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ คุณนริศกล่าวว่า ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% จาก 

  • 1) การเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว 
  • 2) การบริโภคในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง 

โดยเบื้องต้น ttb analytics ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 ขึ้นมาที่ 29.5 ล้านคน จาก 22.5 ล้านคน โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย เป็นสำคัญ 

ปีนี้นักท่องเที่ยว 29.5 ล้านคน กลับมาแน่ คิดเป็น 12% ของจีดีพี ส่วนการบริโภคในประเทศ คาดว่าปีนี้จะโต 4% คิดเป็น 15% ของจีดีพี แต่ในด้านความเสี่ยงหลักของไทย อยู่ที่ 'การส่งออก' มองว่าสินค้าไทยมีโอกาสที่จะไม่โต หรือหดตัวต่ำๆ มีสูงมาก โอกาสที่จะโตไม่ถึง 3% มีสูง ซึ่งในด้านการส่งออกนั้น คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 65% ของจีดีพีประเทศ

สำหรับประเทศไทย ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน กอปรกับห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยที่มีความเชื่อมโยงกับจีนสูง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงได้รับแรงหนุนอย่างมากจากการเปิดประเทศของจีน 

คุณนริศอธิบายเพิ่มว่า การเปิดประเทศของจีนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลัก รวมทั้งเป็นนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกลุ่มหลักของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ช้าลง 

ในประเด็นดังกล่าว ttb analytics คาดว่า ธนาคารกลางหลายแห่งจะยังคงอยู่ในช่วงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการและตลาดแรงงานทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพยุงให้กำลังซื้อทั่วโลกมีความเข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง 

นอกเหนือจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นค่อนข้างเร็ว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและระดับการจ้างงานในตลาดแรงงานไทยที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว

อุตสาหกรรมที่อิงกับกำลังซื้อในประเทศที่อยู่มุมขวาบน มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหาร แต่อุตสาหกรรมที่อยู่ซ้ายล่างของกราฟต้องระวัง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์ เพราะภาคการผลิตกำลังชะลอลง

คุณนริศให้ข้อมูลต่อว่า แม้ประเทศไทยจะได้อานิสงส์การเปิดประเทศของจีนและเศรษฐกิจโลกที่กำลังปรับดีขึ้น แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยนั้นหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงท้ายปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาลดลงรวดเร็ว โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและเม็ดพลาสติก 

โดยในด้านการส่งออก ttb analytics ประเมิน ตัวเลขการส่งออกสินค้าในปี 2566 ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวและความผันผวนในภาคการเงินต่างประเทศ ทำให้ปี 2566 การตัดสินใจลงทุนและการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มชะลอตัวออกไป ในขณะที่ราคานำเข้าพลังงานมีแนวโน้มลดลง ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของไทยในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 1 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อรวมกับภาคการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง จึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 

มาที่ประเด็นการนำเข้าสินค้าของไทยในปี 2566 ttb analytics คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1 จากปีก่อน หากเกิดกรณีที่การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวต่ำกว่ากรณีฐาน (หดตัวที่ร้อยละ 0.5) ลงไปโดยหดตัวที่ร้อยละ 1 เศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยรวมจะขยายตัวลดลงมาเหลือร้อยละ 3.1 และหากการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 ดังนั้น ราคาสินค้าในตลาดโภคภัณฑ์โลกเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ การประคับประคองโมเมนตัมการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีถือเป็นสิ่งสำคัญ 

ในด้านปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตโควิด-19 คุณนริศบอกว่า ส่งผลให้ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องเผชิญภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเสถียรภาพทางการคลังโดยรวม  

มาดูที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทย คุณนริศบอกว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกทั้งไทยมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง ระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานเงินฝากที่มีคุณภาพและสินทรัพย์สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ด้านเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1) อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL Coverage ratio)  อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค  ในขณะที่สัดส่วน NPL ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม ไทยมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม นั่นคือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตค่อนข้างเร็ว เมื่อทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อพยุงระดับการบริโภคและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบธุรกิจครัวเรือน อีกทั้ง มาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังทยอยหมดลงนับแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ลูกหนี้ที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป 

จากนั้น คุณนริศฝากข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ข้อปิดท้าย ดังนี้

  • 1) การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน
  • 2) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs และ 
  • 3) มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

วาฬหัวทุย คุยอะไรกัน? นักวิจัยใช้ AI ถอดภาษาวาฬ พบโครงสร้างเสียงซับซ้อนคล้ายภาษามนุษย์ ปรับเสียงได้ตามเรื่องที่คุย

วาฬหัวทุย หรือ วาฬสเปิร์ม นอกจากจะมีลักษณะพิเศษในเรื่องของสมองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ วิธีการสื่อสารระหว่างกันเองโดยใช้ ‘เสียงคลิก’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้ควา...

Responsive image

รู้หรือไม่? Netflix ไม่เคยทำจาน แต่เคยทำกล่อง ที่ยกเลิกการขายในนาทีสุดท้าย

Netflix เคยพัฒนา Set-top box ใน Project Griffin ซึ่งเป็นกล่องรับสัญญาณที่ Netflix สร้างขึ้นเพื่อสตรีมภาพยนตร์และรายการทีวีต่างๆ...

Responsive image

Krungsri Finnovate หนุนการสร้างบุคลากรสายเทค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค

กรุงศรี ฟินโนเวต นำกองทุน ฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ เข้าลงทุนใน Doppio Tech เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรสายเทคให้เติบโต เร่งสปีดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน...