ในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาหลายบริษัทเริ่มทะยอยเผยรายไตรมาสสองของปี 2022 สู่สาธารณะ ล่าสุดช่วงต้นเดือนสิงหาคม บริษัท Rideshare อย่าง Uber ได้ประกาศผลประกอบการที่ดูน่าทึ่งและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อไม่ใช่น้อย การเผยถึงกระแสเงินสดจำนวนมาก พร้อมจำนวนผู้บริโภคและผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์มที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางน้ำมันแพงและวิกฤตเศรษฐกิจ กลายเป็นสิ่งที่สวนทางกับฝั่งของ ไรเดอร์ ที่ต้องเจออุปสรรคจากค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ในขณะที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อัตราเงินเฟ้อและการประกาศ CPI สหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดเงินทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังจากผ่านช่วงไตรมาสกลางของปี 2022 จะพบว่าผลประกอบการบริษัทเหล่านี้ต่างมีรายได้และกำไรสุทธิที่ลดลง สืบเนื่องจากปัจจัยระดับมหภาคและภาวะเศรษฐกิที่ให้นักลงทุนเก็บงอคอเข่า รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่าย
ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น บางบริษัทก็ยังคงรักษาการดำเนินการและรับรายได้มากกว่าบริษัทอื่น ยกตัวอย่าง กลุ่ม MAMAA (Meta-Amazon-Microsoft-Alphabet-Apple) ยังมีเพียง Apple ที่มีอัตราการทำกำไรได้เป็นอย่างดีจากแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในขณะที่แพลตฟอร์มที่พึ่งพารายได้จากโฆษณาเป็นส่วนใหญ่อย่าง Facebook(Meta) หรือ Google ที่สูญเสียรายได้จำนวนมาก เป็นต้น สำหรับ Uber ที่ได้ประกาศ ผลประกอบการ อันโดดเด่นสู่สาธารณะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
Uber ยืดอกที่จะประกาศ “ไตรมาสที่แล้วทีมของเราบรรลุเป้าหมายในการทำกำไรได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้” สำหรับปีนี้ บริษัทระบุว่ามีกระแสเงินสดสะสมอยู่ถึง 382 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนมากท่ามกลางการควบคุมต้นทุนในช่วงเศรษฐกิจขาลง
หากเจาะให้ลึกยิ่งขึ้น รายได้บริษัทแตะระดับ 8.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 105 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ Uber จะยังคงเผาผลาญเงินจำนวนมากไปกับการลงทุนในสตาร์ทอัพอื่นๆ ที่ล่าสุดขาดทุนถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์จากการถือหุ้นใน Aurora, Grab และ Zomato ซึ่งมีข่าวว่า Uber กำลังพิจารณาขายหุ้นใน Zomato บริษัทสตาร์ทอัพ Delivery จากอินเดียเพื่อปรับปรุงงบดุล แต่โดยรวมแล้ว Uber ทำได้เหนือความคาดหมาย
โดยไตรมาสนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของ Mobility as a Service พร้อมการเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ของจำนวนผู้บริโภคและผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์ม โดยมีฐานคนขับและผู้ให้บริการจัดส่งทั่วโลกเติบโตขึ้น เกือบ 5 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบเป็นรายปี
Uber รายงานว่าผู้คนเดินทางด้วย Uber เพิ่มมากขึ้นถึง 24 % หรือเฉลี่ยได้ 21 ล้านเที่ยวต่อวัน มีผู้ใช้แพลตฟอร์ม 122 ล้านคนต่อเดือนซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 120.5 ล้านคน ยอดจองหรือยอดรวมของลูกค้าที่ชำระเงินให้ Uber ก่อนชำระเงินให้คนขับและค่าธรรมเนียมหรือส่วนลดอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึง 33% หรือ 29.1 พันล้านดอลลาร์ ในส่วน Mobility 13.4 พันล้านดอลลาร์ และส่วน Delivery มีมูลค่าถึง 13.9 พันล้านดอลลาร์
จากสถานการณ์ดังกล่าว Dara Khosrowshahi CEO ของ Uber กล่าวว่า บริษัทสามารถต้านทานภาวะถดถอยและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายบริษัท เน้นว่า Uber อาจได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ในปัจจุบันผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการ TechCheck ทาง CNBC
หน่วยบริการเรียกรถของ Uber ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโรคที่ลดลง
“ในขณะที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของจำเป็นมากขึ้น พวกเขาก็มาสมัครขับ Uber มากขึ้น ยกตัวอย่าง 72% ของผู้ขับขี่ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เงินเฟ้อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พวกเขาพิจารณาการสมัครเป็นผู้ขับขี่บน Uber การลงทะเบียนผู้ขับขี่รายใหม่ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว อุปทานไดรเวอร์กลับมาสมดุลกับความต้องการของลูกค้า” Khosrowshahi เขากล่าว
“จุดสนใจหลักสำหรับบริษัท คือ การจัดส่งสินค้า ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศกำลังเติบโตในอัตราร้อยละ 40 บวกทำให้ส่วนที่เหลือของปีนี้วางแผนที่จะเพิ่มผลกำไรในส่วนการจัดส่งสินค้า เน้นว่าเป็นจุดที่จะสร้างผลกำไรจริง”
นอกจากจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นเป็นเท่าตัวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจในประเทศอังกฤษ โดยการเข้าซื้อกิจการ Transplace แพลตฟอร์มโลจิสติกรายใหญ่ และพัฒนาเป็น Uber Freight ในปัจจุบัน เป็นธุรกิจในเครือของ Uber ที่จับคู่รถบรรทุกขนส่งกับผู้ประกอบการที่ต้องการขนส่งเคลื่อนย้าย กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ปัญหาเงินเฟ้ออยู่ทุกหนแห่ง แต่ Uber ยังมองไม่เห็นสัญญาณจุดอ่อนใด ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการเปิดงบ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในครั้งนี้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังนักลงทุน หุ้นของ Uber ซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 15 % ตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงที่ผ่านมา
แม้ Uber จะเติบโตอย่างร้อนแรงท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ในฝั่งของ ไรเดอร์ หรือผู้ขับขี่บนแพลตฟอร์มนั้นกำลังเจออุปสรรคมากกว่าเดิมทั้งในทางตรงและทางอ้อม ด้วยค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้พวกเขาต้องทำงานมากกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่าย บางรายต้องใช้เวลาทำงานมากกว่าเดิมถึงสองเท่า นอกจากนั้นลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะให้ทิปน้อยลงด้วยเช่นกัน
การที่คนจำนวนมากหันมาสร้างรายได้หลักและเสริมจากแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ยังทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นในหมู่พนักงาน ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับ Uber เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกแพลตฟอร์มที่มีกลุ่ม Gig Workers จำนวนมากอยู่ อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตเงินเฟ้อได้สร้างแรงกดดันให้กับแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้น โดย จากการสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2021 พบว่าชาวอเมริกันกว่า 16 % ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างรายได้จากการทำงานแบบครั้งคราว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ผันตัวมาทำงานกับแพลตฟอร์มเป็นอาชีพหลักไปแล้ว
ดูเหมือนว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจผลักดันให้ Uber กลายเป็นทางเลือกของผู้คนที่จะเข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งแพลตฟอร์ม และอัตราเงินเฟ้อกำลังสร้างแรงกดดันใหม่ให้กับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ พวกเขาเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงในการทำอาชีพ
Gig Workers เป็นหนึ่งกลไกสำคัญของการทำรายได้และสร้างกำไรแก่บริษัท กลับกันพวกเขาเหล่านี้สร้างรายได้และกำไรจากแพลตฟอร์มได้มากน้อยอย่างไร และในขณะเดียวกันกับแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบธุรกิจเหมือน Uber ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีบริบทเดียวกันหรือไม่ หรือไรเดอร์ประสบปัญหาแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงกำลังเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ แพลตฟอร์มอย่าง Uber นั้นมีมาตราการรองรับสำหรับไรเดอร์ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการส่งมอบสินค้ามอบคุณค่าทางธุรกิจและบริการ อย่างไรบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Uber CEO says the company may actually benefit from rising inflation
Uber Surges Most Since 2020 as Demand Eases Worries on Inflation
Inflation is helping gig companies like Uber and hurting their workers
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด