การลาออกของ บอริส จอห์นสัน ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของนโยบายด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยเฉพาะอนาคตของคริปโตเคอเรนซี ซึ่งล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ได้มีการประกาศแผนที่จะทำให้ประเทศอังกฤษกลายเป็น Crypto Hub โดยนายริซิ ซูนัค รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลังและ จอห์น เกล็น รัฐมนตรีว่ากระทรวงเศรษฐกิจ สองผู้นำในการผลักดันนโยบายนี้ก็ได้ตบเท้าลาออกในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าการลาออกของคณะบริหารอาจจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมายวาระต่างๆ เกิดคำถามใหญ่ที่ว่าฝ่ายบริหารชุดต่อไปจะมีทิศทางสนับสนุนนโยบายเทคโนโลยีดิจิทัล หรือสานต่อนโยบายที่ได้ริเริ่มไปแล้วหรือไม่ และอนาคตอังกฤษจะยังสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Web3 ที่รออยู่ในอนาคต จะได้ไปต่อหรือไม่ ?
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษได้แถลงลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดทางในการคัดเลือกนายก-ผู้นำพรรคคนใหม่ หลังจากเผชิญกับแรงกดดันจากกระแสสังคมที่ต้องการให้ลงจากตำแหน่งบวกกับการทะยอยลาออกคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลรวมแล้วเกือบ 50 คน สืบเนื่องจากประเด็นการจัดการปัญหาภายในพรรคและข้อกล่าวหาล่าสุดเรื่องการเมินเฉยต่อการประพฤติผิดทางเพศของนาย คริส พินเชอร์ อดีตรองประธานวิปรัฐบาลที่เป็นชนวนนำมาซึ่งความไม่พอใจของสาธารณชน
บอริส จอห์นสัน ถือเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหลังจากความสำเร็จแรกที่ผลักดันอังกฤษสู่ Brexit อย่างเป็นทางการ ดินแดนสหราชอาณาจักรก็มีความฝันด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการตั้งเป้าใน “นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง” ว่าจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยให้ดินแดนแห่งนี้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในสายตานักลงทุนและบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ เรียกได้ว่า นายจอห์นสันก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในยุคที่ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่เรื่องการจัดการความมั่นคงระหว่างพรมแดน การพยุงปัญหาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 และการแข่งขันทางดิจิทัลที่เข้มข้นในระดับภูมิภาค
อีกการผลักดันใหญ่ในเรื่อง Digitised Border ที่นายจอห์นสันเคยกล่าวว่าในช่วงก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า “หากเทคโนโลยีสามารถนำมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ได้ ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นบนชายแดนไอร์แลนด์ได้” ผ่านบทความแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ Brexit ที่เผยแพร่ใน Telegraph ในฐานะคอลัมนิสต์ โดยแผนการสร้างพรมแดนดิจิทัลนี้ ผู้ที่เดินทางมาอังกฤษโดยไม่มีวีซ่าหรือสถานะการเข้าเมืองจะต้องได้รับการอนุมัติการเดินทางผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์คล้ายกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา โดยเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเรื่องการนับจำนวนคนที่เข้าและออกจากประเทศได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตามการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจำกัดการโยกย้ายของผู้คนถูกสมาชิกจากพรรคแรงงานต่อต้าน รวมถึงบุคลากรหน่วยงานด้านเทคฯหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่อง Brexit และไม่คิดว่าการตีตัวออกจากสหภาพยุโรปจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขในประเทศ โดย Silicon Valley Bank ได้ทำการสำรวจไว้ในรายงาน Start Up Outlook ปี 2019 ว่านักธุรกิจและนักผู้บริหารระดับสูงกว่า 75% มีความเชื่อว่า การออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลเสียต่อธุรกิจของพวกเขา เพราะอังกฤษจะเข้าถึงเงินทุน ความช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้น้อยลง โครงการนี้ถูกคาดไว้ว่าจะดำเนินการภายในสิ้นปี 2025 ซึ่งดูเหมือนว่าจะสามารถดำเนินการได้ช้าลงกว่าเดิม เพราะความซับซ้อนของโครงการและการเปลี่ยนแปลงคณะบริหารที่อาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันกับคณะทำงานนายจอห์นสัน
แม้อังกฤษอาจจะยังรักษาสถานะการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการตอบกลับของสหภาพยุโรปโดยการนำของ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ดูเหมือนจะดุเดือดและมีผลงานให้โลกเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปักหมุดด้านดิจิทัลของสหภาพยุโรป เช่น การดำเนินการเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการริเริ่มระบบคลาวด์แบบรวมศูนย์ Gaia-X เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สำหรับยุโรป การออกกฎหมายยกระดับอุตสหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ในยุโรป (European Chips Act) อีกทั้งการแสดงความเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาลทั้งระดับทวิภาคดีและพหุภาคี เพื่อสร้างความร่วมมือที่เน้นการดึงดูดการลงทุนมาสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันที่อังกฤษต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส ที่ได้เปิดตัวภาษีดิจิทัลของตนเองในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นายริซิ ซูนัครัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นตัวเต็งที่คาดว่าจะถูกเลือกเป็นนายกคนต่อไปมากที่สุด คือ ผู้ที่เป็นตัวหลักในคณะทำงานบอริส จอห์นสันที่ผลักดันเรื่องคริปโตเคอเรนซี และเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการทำให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางระดับโลกของ Crypto-Asset Technology Hub อีกทั้งยังเคยเสนอให้รัฐบาลอังกฤษมินต์ NFT เพื่อโชว์ถึงความทันสมัยของเทคโนโลยีของประเทศที่กำลังจะมุ่งสู่สินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย
ถึงกระนั้น นายซูนัคเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน ซึ่งการลาออกของเขาได้พาให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายรายลาออกตามกันอย่างต่อเนื่อง เพราะนายซูนัคถือเป็นนักการเมืองที่ขึ้นชื่อว่าอาวุโสมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในคณะทำงานชุดปัจจุบันและยังได้รับการนับถือในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด
เป็นที่แน่นอนว่าการลาออกของคณะบริหารจำนวนมากจะส่งผลต่อการผ่านร่างกฎหมายที่กำลังดำเนินการในรัฐสภา กล่าวคือ การสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ อย่างเช่นกระทรวงการคลัง จะส่งผลกระทบต่อการยอมรับกฎเกณฑ์และกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินการธนาคารในประเทศเป็น แน่นอน
โดยเฉพาะข้อเสนอใหม่ที่เกี่ยวกับ Buy Now, Pay Later (BNPL) หรือกฎระเบียบเกี่ยวกับเหรียญ Stablecoin ที่คาดจะออกในเดือนสิงหาคมนี้ก็คาดว่าอาจจะชะลอกระบวนการ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก หน่วยงานที่เป็นผู้นำด้านกฎระเบียบเหล่านี้ คือ กระทรวงการคลัง ตามที่รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ จอห์น คันลิฟฟ์ ที่กล่าวว่า “แผนการในการจัดตั้งระบบการกำกับดูแลสำหรับ Stablecoin อาจล่าช้า กระทรวงการคลังสามารถแนะนำกฎระเบียบ Stablecoin ได้เร็วที่สุดในเดือนสิงหาคม แต่ด้วยหัวหน้ากระทรวงการคลังคนใหม่และนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ลำดับความสำคัญและระยะเวลาสำหรับกรอบการกำกับดูแลนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ”
ถึงแม้จะยังไม่มีรายชื่อผู้สมัครที่เป็นทางการ มีการคาดการณ์รายชื่อผู้ที่คาดว่าจะได้รับเลือกให้เข้าทำหน้าที่แทนนายบอริส จอห์นสัน ซึ่งในรายชื่อที่ติดโผนั้นมีหลายคนที่เคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีสกุลเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลเอาไว้ด้วยเช่นกัน
แผนการของสหราชอาณาจักรทั้งหมดที่ได้กล่าวมา สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนที่แข็งขันต่อเทคโนโลยีและมุมมองที่มีต่อสกุลเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลกว่าที่รัฐบาลหลายประเทศดำเนินการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับผู้ให้การสนับสนุนคริปโตมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “เทคโนโลยีจะทำให้การชำระเงินเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และโปร่งใสมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังมีฝ่ายที่มีความกังวลว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน และยังมีประเด็นเรื่องปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงในการประมวลผลธุรกรรมอีกด้วย อย่างเช่นนาย เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมซึ่งได้คะแนนสูงสุดในการสำรวจล่าสุดก็ได้กล่าวถึงความเสี่ยงที่สกุลเงินดิจิทัลนั้นสามารถถูกใช้เพื่อฟอกเงิน เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า อังกฤษอาจจะยังมีความหวังและยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะลดการหยุดชะงักเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด โดยหลายฝ่ายคาดคะเนว่านายริซิ ซูนัค หนึ่งในตัวเต็งที่อาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแทนบอริส จอห์นสัน อาจจะยังคงทำงานของตัวเองต่อไปที่กระทรวงการคลัง และผลักดันร่างกฎหมายที่ตัวเองผลักดันต่อไป หรือไม่หากถูกแต่งตั้งเป็นผู้นำพรรค-ผู้นำประเทศคนต่อไป อังกฤษก็ได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเทคโนโลยีและอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลเป็นแน่นอน
การเลือกผู้นำพรรคคนใหม่คาดว่าจะมีการระบุวันที่ชัดเจนหลังจากนี้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งขั้นตอนนั้นสมาชิกพรรคในรัฐสภาจะทำการลงคะแนนเป็นชุด เพื่อคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คนสุดท้าย จากนั้นจะต้องเผชิญกับการลงคะแนนเสียงจากสมาชิกอีกครั้ง ผู้ชนะจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเลือกรัฐมนตรีชุดใหม่ รอบที่แล้ว กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณสองเดือน ตั้งแต่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2019 เพื่อรับการเสนอชื่อโดยมีนายบอริส จอห์นสันอดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง
อนาคตของอังกฤษหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
Johnson's Exit as British Prime Minister Leaves UK Crypto Ambitions on Hold
What UK Prime Minister Boris Johnson means for tech
What will a Boris Johnson government mean for the tech sector?
UK’s Crypto Strategy ‘Back to Square One’ as Sunak, Glen Quit
Britain makes crypto technology a priority for streamlining markets
Government to strengthen rules on misleading cryptocurrency adverts
UK Innovation Strategy: leading the future by creating it
UK’s Boris Johnson Resignation May Delay Crypto, BNPL Legislation
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด