ใต้พรม 20 ปีแห่งความสำเร็จ Facebook แอบซ่อนอะไรไว้ข้างหลัง | Techsauce

ใต้พรม 20 ปีแห่งความสำเร็จ Facebook แอบซ่อนอะไรไว้ข้างหลัง

ย้อนรอย 20 ปีแห่งความสำเร็จของ Facebook มี ‘ความลับดำมืด’ อะไรแอบซ่อนไว้ใต้งานวันเกิดครั้งนี้บ้าง ?

เมื่อไม่นานมานี้หุ้น Meta บริษัทแม่ของ Facebook พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรั้งอันดับ 7 ของโลก จากแอปที่ Mark Zuckerberg สร้างขึ้นมาใช้คุยกับเพื่อนในมหาลัยสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก แต่กว่าจะเติบโตได้ขนาดนี้ รู้หรือไม่ว่าความหละหลวมของแพลตฟอร์มได้สร้างบาดแผลให้ผู้ใช้งานมาไม่น้อย

จุดเริ่มต้น Facebook สู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก

Facebook ถือกำเนิดขึ้นในปี 2004 โดยมีผู้สร้างคือ Mark Zuckerberg ในวัย 19 ปี ตอนแรก Facebook ถูกใช้เป็นพื้นที่พูดคุยสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย Harvard เท่านั้น และต่อมาได้เปิดให้นักศึกษาในวิทยาลัยอื่นได้ใช้งาน เช่น Boston, Ivy League และค่อย ๆ ขยายไปยังมหาวิทยาลัยในแคนาดา รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า thefacebook.com

เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น  Mark Zuckerberg ก็เริ่มเล็งเห็นโอกาส จึงได้พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนภายในปี 2006  ทุกคนสามารถใช้งาน Facebook ได้ และในเวลาต่อมา Facebook ก็แพร่หลายไปในคนหมู่มากและกลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Meta ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 43.2 ล้านล้านบาทพร้อมผลกำไรนับพันล้าน

2024 เป็นปีที่ Facebook ครบรอบ 20 ปีแห่งความสำเร็จ แต่ทว่าทำไมกลับไม่มีงานหรืออีเวนท์เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบนี้ ?

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ Meta ยังคงนิ่งเฉยในวันครบรอบ นั้นมาจากการที่ Facebook กำลังเผชิญกับศึกหนักจากการพิจารณาคดีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา Facebook เกิดข้อพิพาทมากกว่า 10 ครั้งและมีเหยื่อหลายรายที่ไม่ใช่แค่เด็กต้องมารับผลจากการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม

สรุปเหตุการณ์สำคัญ ‘ความลับดำมืด’ ที่ Facebook ซุกไว้ใต้พรม 

นับตั้งแต่ก่อนก่อตั้ง Facebook ก็มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เว็บไซต์ต้นแบบอย่าง facemash.com ซึ่งในเว็บไซต์นี้นักศึกษาที่ Harvard สามารถจัดอันดับเพื่อนร่วมชั้นจากความน่าดึงดูดของพวกเขาได้ แต่มันส่งเสียต่อผู้ใช้งานในแง่ของการละเมิดความเป็นส่วนตัว ส่งผลต่อความมั่นใจ ผู้ใช้งานอาจรู้สึกแย่กับตัวเอง รวมถึงข้อกังวลด้านจริยธรรม (การพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ใช้) ประเด็นเหล่านี้ทำให้ผลงานการสร้างสรรค์ของ Zuckerberg ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ในปี 2012 หลังจากก่อตั้ง Facebook มา 8 ปี ก็ไม่วายละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม (อีกแล้ว) ด้วยการอนุญาตให้นักวิจัยทำการทดลองทางจิตวิทยากับผู้ใช้ของตน เนื่องจากนักวิจัยต้องการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เมื่อดูคอนเทนต์แง่บวกและแง่ลบในฟีดข่าว ว่าจะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ใช้งานอย่างไร 

การทดสอบนี้ซุ่มทำกับผู้ใช้งานแพลตฟอร์มถึง 689,003 คน หลังมีการเผยแพร่ผลการศึกษาในปี 2014 ผู้ใช้ Facebook จำนวนมากไม่พอใจ จน Sheryl Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Facebook ในขณะนั้น ต้องออกมาขอโทษและยอมรับว่าบริษัทสื่อสารผิดพลาดไป

ในปี 2018 ก็เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวไปทั่วโลก จากเหตุการณ์ที่องค์การสหประชาชาติ (U.N.) และ Amnesty International รายงานว่า Facebook มีส่วนร่วมในการเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า ทาง Facebook ยอมรับว่าไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงบนแพลตฟอร์มได้ 

แต่บริษัทได้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการใช้ Facebook ในทางที่ผิดและได้จัดตั้งทีมเพื่อพยายามหยุดยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่คล้ายคลึงกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ในปี 2022 ท่ามกลางการแข่งขันฟุตบอลโลก Facebook ก็ยังคงถูกตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมและสกัดกั้นเนื้อหาเชิงลบ ที่ไม่ปกป้องนักเตะผิวดำของทีมชาติอังกฤษจากการถูกโจมตีทางโลกออนไลน์ (ทั้งที่ปี 2018 เพิ่งเกิดเหตุการณ์นี้ในพม่า) เหตุการณ์ครั้งนั้นสะเทือนไปทั้งเกาะอังกฤษ อดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน และเจ้าชายวิลเลียม เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว 

ด้านทีมกีฬาชั้นนำและนักกีฬาทั่วทั้งประเทศออกมาคว่ำบาตรและโจมตีการทำงานของแพลตฟอร์ม เพื่อประท้วงความล้มเหลวของบริษัทในการจัดการโพสต์เหยียดผิวและเหยียดเพศ จนสุดท้าย Meta ได้วางกฎเกณฑ์และบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อจัดการข้อความกลั่นแกล้ง การคุกคาม และข้อความแสดงความเกลียดชัง

ในปี 2024 เจ้าของ Facebook อย่าง Mark Zuckerberg กลับมานั่งฟังพิจารณาคดีอีกครั้ง ในข้อกล่าวหาว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก โดยวุฒิสภาชี้ว่าบริษัทล้มเหลวในการปกป้องผู้ใช้งานอายุน้อย 

Josh Hawley วุฒิสมาชิกอีกท่านหนึ่ง เรียกร้องให้ Zuckerberg กล่าวขอโทษต่อหน้าครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับอันตรายจากแพลตฟอร์มของเขา และเรียกร้องให้ผู้นำของ Meta ต้องชดเชยความสูญเสียที่ครอบครัวเหยื่อต้องเผชิญ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Zuckerberg ได้ให้การเป็นพยานต่อหน้าสภาคองเกรสกว่า 8 ครั้งภายในเวลากว่า 10 ปี แต่ Meta ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ ด้านการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการสกัดกั้นเนื้อหาเชิงลบไม่ว่าจะเป็นด้านสีผิว เชื้อชาติ หรืออายุ จนเกิดคำถามว่าทุกคำสัญญาที่  Zuckerberg และ Meta พูดกับเหยื่อเคยถูกนำมาปฏิบัติจริง ๆ หรือเปล่า ?

อ้างอิง: edition.cnn, nbcnews

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Thoughtworks เข้าควบรวม Watchful ดึงเทคโนโลยีและบุคลากร สู่พันธมิตรชั้นนำด้าน AI transformation

Thoughtworks เข้าควบรวมเทคโนโลยีและบุคลากรจาก Watchful ก้าวสู่การเป็นพันธมิตรชั้นนำระดับโลกด้าน AI transformation...

Responsive image

สรุป 5 ประเด็น ไทยจะได้อะไร จากการเยือนไทยของ Satya Nadella ในงาน Microsoft Build: AI Day

บทความนี้ Techsauce จะพาไปย้อนดู ‘ประโยชน์ด้านเทคโนโลยี' ที่ไทยได้รับ จากการมาเยือนของ Nadella นับตั้งแต่ปี 2016 และการกลับมาไทยครั้งที่ 2 ในรอบ 8 ปีที่งาน Microsoft Build: AI Day ...

Responsive image

Elon Musk เยือนจีน หวังกู้สถานการณ์บริษัท จ่อเปิดใช้ฟีเจอร์ FSD ในจีน พร้อมแผนที่จาก Baidu

Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งอย่างกระทันหัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปิดตัวซอต์ฟแวร์ขับเคลื่อนรถอัตโนมัติแบบ Full Self-Driving (FSD) ในจีน รวมถึงการขออนุญาตในก...