ก่อนหน้านี้ Techsauce ได้รวบรวมข้อมูลของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ไปแล้ว บทความนี้จะเป็นการอัปเดตต่อจากบทความก่อนหน้า รวมถึงอัปเดตวัคซีนที่สามารถป้องกันแต่ละสายพันธุ์ได้ด้วย
1. สายพันธุ์ Lambda หรือสายพันธุ์ C.37 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักในภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนและมีลักษณะพิเศษของมัน ทำให้น่าหวั่นเกรงว่าอาจเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่สามารถเกิดการระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงเกินคาด โดยปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้วในอย่างน้อย 29 ประเทศทั่วโลก
ระดับการกลายพันธุ์: Variant of Interest
การแพร่เชื้อ: สายพันธุ์ Lambda มีศักยภาพสูงที่จะทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อีกทั้งยังสามารถลดทอนประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ใช้เพื่อยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย
ความรุนแรง: กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดนี้เป็นอันตรายรุนแรงยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตาเสียอีก (bbc)
---------------------------
2. สายพันธุ์ Epsilon ประกอบด้วยเชื้อ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ B.1.427 และ B.1.429 พบไวรัสสายคู่ครั้งแรกประมาณเดือนพฤษภาคม 2020 ในสหรัฐฯ จากนั้นไวรัสก็ได้แตกออกเป็น 2 สายพันธุ์และเริ่มระบาดในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 แม้ว่ายังไม่พบแหล่งที่มาเฉพาะชัดเจน แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในแคลิฟอร์เนีย โดยคาดว่าเกิดจากการกลายพันธุ์จากเชื้อไวรัส covid-19 ของผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศสหรัฐฯ
ระดับการกลายพันธุ์: Variant of Interest
การแพร่เชื้อ: ในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2021 และพบว่ามีการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้สูงที่สุดในช่วงกุมภาพันธ์ คือ 15% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และต่อมาก็มีการติดเชื้อที่เกิดจากสายพันธุ์นี้อีกเป็นระยะ ๆ แต่ไม่ถี่จนน่ากังวล
ความรุนแรง: สามารถต้านทานการรักษาผู้ป่วย covid-19 ในเบื้องต้นได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนหากเกิดการกลายพันธุ์เพิ่มเติม ซึ่งการวิจัยในเบื้องต้นได้เปิดเผยว่า สายพันธุ์นี้มีความเป็นไปได้ที่จะระบาดหนักกว่าทุกสายพันธุ์ก่อนหน้าถึง 20% ล่าสุด WHO ได้จัดให้สายพันธุ์นี้อยู่ในหมวดที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
***เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ (independent)
---------------------------
3. สายพันธุ์ Eta หรือสายพันธุ์ B.1.525 ตรวจพบครั้งแรกในหลายประเทศ มีลักษณะการกลายพันธุ์แบบ E484K และ F888L คือการเปลี่ยนกรดอะมิโนจาก glutamate ไปเป็น lysine มีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ได้ยาก
ระดับการกลายพันธุ์: Variant of Interest
การแพร่เชื้อ: ในช่วงแรกเริ่ม สายพันธุ์ Eta เป็นสายพันธุ์ที่พบมากสุดในไนจีเรีย จนกระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้พบกรณีคนติดสายพันธุ์ดังกล่าวจำนวน 56 คนในสหราชอาณาจักร และ 113 คนในเดนมาร์ก โดยมีผู้ติดเชื้อจำนวน 7 คนที่ได้เดินทางไปยังประเทศไนจีเรียมา
ความรุนแรง: ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐกำลังศึกษาระดับความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าวว่าอยู่ในระดับใด โดยตอนนี้ยังถือเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง แต่มีแนวโน้มที่จะปรับเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ได้ในอนาคต (Rivm.nl)
---------------------------
4. สายพันธุ์ Kappa หรือ B.1.617.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลต้าและเดลต้าพลัส พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษก็ได้ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2021 จากนั้นองค์กรอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศให้สายพันธุ์ B.1.617.1 เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest) พร้อมตั้งชื่อว่า Kappa ในสิ้นเดือนพฤษภาคม
ระดับการกลายพันธุ์ : variant of interest
การแพร่เชื้อ : พบการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย เดือนธันวาคมปี 2020 แต่ยังไม่รุนแรงนัก และกลับมาระบาดใหม่ในช่วงปี 2021 ซึ่งรัฐ Uttar Pradesh ในอินเดียกล่าวถึงสายพันธุ์นี้ว่าไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่สำหรับรัฐ แต่จะคอยเฝ้าระวังต่อไป
ความรุนแรง : จากการศึกษาครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน ผู้เชี่ยวชาญระบุให้สายพันธุ์นี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
***เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ (jagranjosh.com , indianexpress )
---------------------------
5. สายพันธุ์ Lota หรือ B.1.526 พบครั้งแรกในสหรัฐฯและระบาดอย่างหนักในบางรัฐ แต่ก็พบน้อยลงเมื่อเกิดการแรพ่ระบาดของสายพันธุ์ Alpha ในช่วงเวลาต่อมา และช่วงประมาณเดือนมีนาคม องค์กรอนามัยโลก (WHO) จึงได้จัดสายพันธุ์นี้ให้อยู่ในหมวดสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest) และตั้งชื่อว่าสายพันธุ์ Lota ในสิ้นเดือนพฤษภาคม
ระดับการกลายพันธุ์ : variant of interest
การแพร่เชื้อ : พบการแพร่ระบาดของเชื้อในสหรัฐฯในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2020 และในบางรัฐมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ระบาดน้อยลงหลังจากเกิดสายพันธุ์ Alpha จึงถูกระบุให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ แต่ยังไม่น่ากังวล
ความรุนแรง : จากการศึกษาครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม ผู้เชี่ยวชาญระบุให้สายพันธุ์นี้ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
***เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้
---------------------------
6. สายพันธุ์ Theta หรือ P.3 พบครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อต้นปี 2020 และองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกสายพันธุ์นี้ว่า Theta ในสิ้นเดือนพฤษภาคม พร้อมระบุให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest)
ระดับการกลายพันธุ์ : variant of interest
***เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้
---------------------------
7. สายพันธุ์ Zeta หรือ P.2 พบครั้งแรกในบราซิลเช่นเดียวกับสายพันธุ์ P.1 (Gamma) โดยพบครั้งแรกในกลางปี 2020 และองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ระบให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจในเดือนมีนาคม 2021 และถูกเรียกว่าสายพันธุ์ Zeta ในสิ้นเดือนพฤษภาคม
ระดับการกลายพันธุ์ : variant of interest
***เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้
---------------------------
8. สายพันธุ์ Delta plus หรือ B.1.617.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.617 (Delta) ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ส่วนหนามโปรตีนที่ตำแหน่ง K417N ส่งผลให้เชื้อไวรัสจับกับเซลล์บนปอดได้แน่นขึ้น ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และมีศักยภาพในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน พบครั้งแรกในยุโรป และเริ่มแพร่ระบาดในอินเดีย
ระดับการกลายพันธุ์ : variant of concern
การแพร่เชื้อ : ในช่วงแรก ทำให้เกิดแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศอินเดีย และกระจายไปในบางประเทศทั่วโลก แต่ถึงแม้ว่าจะมีการค้นพบในหลายประเทศ อัตราส่วนของผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำและล่าสุดยังควบคุมได้
ความรุนแรง : ผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลถึงสายพันธุ์นี้ ว่าหากเกิดการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้ออีกระลอกในอินเดีย หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเกิดสายพันธุ์นี้ในช่วงแรก แต่จากการศึกษา ยังพบว่าวัคซีนที่มีสามารถป้องกันได้เทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta จึงระบุให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล แต่ยังไม่ร้ายแรง (indianexpress.com)
Rochelle Walensky ประธาน CDC ระบุว่า วัคซีนที่มีในสหรัฐฯทั้ง 3 ตัวสามารถป้องกันสายพันธุ์นี้ได้
---------------------------
9. สายพันธุ์ B.617.3 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.617 (Delta) เกิดจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่วนหนามในไวรัสจำนวน 7 ตำแหน่ง พบในประเทศอินเดีย แต่ยังไม่มีการรายงานถึงการแพร่ระบาดอย่างหนัก ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาถึงความรุนแรง แต่เบื้องต้นคือเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสสามารถลดประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อในเบื้องต้น และยังมีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนได้
***เบื้องต้น ยังไม่พบความแตกต่างจากการกลายพันธุ์ว่าจะสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ แต่จะต้องมีการศึกษาต่อไป (indianexpress.com)
---------------------------
สายพันธุ์ Alpha : จากรายงานเบื้องต้น พบว่าวัคซีนที่มี mRNA สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานสายพันธุ์ Alpha ได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า แม้สายพันธุ์ดังกล่าวจะสามารถต้านทานภูมิคุ้มกันได้บางส่วน ร่างกายของผู้ที่เคยรับเชื้อหรือได้รับวัคซีน mRNA ก็จะสามารถผลิต T-cells ป้องกันการติดเชื้อได้ ส่วนวัคซีนเชื้อตายอย่าง CoronaVac ระบุว่าสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อที่ 65.9% ซึ่งต่ำกว่าวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันถึง 92.6%
สายพันธุ์ Beta: สายพันธุ์นี้ค่อนข้างมีความน่ากังวลสูง เนื่องจากเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง และเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ต่อต้านประสิทธิภาพของวัคซีน แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันสายพันธุ์ Beta ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้ไม่เร็วมาก แต่ควบคุมได้ยากที่สุดในบรรดาทุกสายพันธุ์
สายพันธุ์ Delta/ Delta plus : จากการศึกษา พบว่าวัคซีนที่มีสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ Delta ได้ โดยมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน คือ Pfizer สามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อหลังรับวัคซีนครบ 2 โดสได้ 88% ส่วน AstraZeneca ป้องกันได้ 60% และโดสเดียวสามารถป้องกันได้เท่ากันคือ 33% และจากการระบาดของสายพันธุ์ Delta plus ทางด้าน Rochelle Walensky ประธาน CDC ระบุว่า วัคซีนในสหรัฐฯทั้ง 3 ตัวที่มี mRNA สามารถป้องกันสายพันธุ์นี้ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน Viral vector อย่าง AstraZeneca และวัคซีนเชื้อตายอย่าง CoronaVac
สายพันธุ์ Gamma : จากการวิจัย พบว่าวัคซีน mRNA สามารถป้องกันสายพันธุ์ Gamma ได้ โดยวัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 92.6% ในขณะที่ CoronaVac มีประสิทธิภาพการป้องกันอยู่ที่ 65.9% แต่มีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันอาการรุนแรงไม่ค่อยแตกต่าง
สายพันธุ์ Lambda: จากการศึกษาพบว่า โควิด-19 สายพันธุ์ Lambda นั้นมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอื่น ๆ และลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ แม้จะเป็นวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer และ Moderna แต่หากติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนไป 2-3 เท่า และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายอย่าง Sinovac หรือ Sinopharm และวัคซีน Viral vector อย่าง AstraZeneca แต่อย่างใด
สายพันธุ์ Eta: จากการรายงานของสำนักข่าวซินหัวที่ได้เปิดเผยผลการทดลองในห้องปฏิบัติการของบริษัท Moderna พบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ได้ รวมถึงสายพันธุ์ Eta ด้วย ทว่าก็ยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด