บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,405.7 ล้านบาท และ 134.7 ล้านบาท โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 1,454.3 ล้านบาท กำไรปกติ 183.8 ล้านบาท ด้าน Group CEO “จรีพร จารุกรสกุล” ย้ำความมั่นใจ 4 ธุรกิจเติบโตท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่ ธุรกิจโลจิสติกส์สดใส ผู้เช่าล้นทะลัก นิคมฯ ในประเทศยอดขายดีเกินคาด ส่วนเวียดนามเร่งขยายเขตอุตสาหกรรมที่เหงะอานอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสาธารณูปโภคฟื้นตัวโดดเด่น ลูกค้าใช้บริการน้ำ-ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แย้มครึ่งหลังสดใส ลูกค้าจ่อเซ็นสัญญา ทั้งเช่าคลังสินค้า – ขายที่ดิน ตั้งเป้าขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ไตรมาส 4
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,405.7 ล้านบาท และ 134.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.0% และ 35.7% ตามลำดับ โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 1,454.3 บาท และ 183.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% และลดลง 12.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 สะท้อนผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตของบริษัทฯ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลประกอบการปี 2563 ที่ 0.1002 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0367 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.0635 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นี้
คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตที่โดดเด่นเนื่องจากได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งนี้ปัจจุบันมีลูกค้าแสดงความสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้า Built-to-Suit และ Warehouse Farm ของบริษัทฯ รวมกันแล้วมากกว่า 200,000 ตารางเมตร สำหรับในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 277.1 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยความต้องการเช่าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงจำนวน 25,949 ตารางเมตรจากเป้าหมายรวมทั้งปี 50,000 ตารางเมตร รวมถึงทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นไปแตะอยู่ที่ประมาณ 90% อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายเพิ่มจำนวนพื้นที่โครงการใหม่สำหรับปี 2564 ไว้เท่ากับ 175,000 ตารางเมตร ตลอดจนตั้งเป้าหมายการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ ในปี 2564 เพิ่มเติมอีกประมาณ 180,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2564 นี้
ปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 5 โครงการบนพื้นที่รวมกว่า 400,000 ตารางเมตร โดยบริษัทฯ มีความพร้อมในการพัฒนา “คลังสินค้าอัจฉริยะ” ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตลอดจนการนำเสนอ Value-added Services ต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เช่าสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การบริหารสินค้าคงเหลือ การจัดการเส้นทาง ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และลดต้นทุนของผู้เช่าในระยะยาว และสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันลูกค้านิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีนยังแสดงความสนใจซื้อที่ดินของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องและไม่ได้ชะลอการลงทุนแต่อย่างใด ในไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวมทั้งสิ้น 213 ไร่ โดยเป็นยอดขายในประเทศไทย 188 ไร่ อย่างไรก็ตาม การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนถูกเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลทำให้บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) จำนวนมาก โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศจะเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตามแผนการผลิตและกระจายวัคซีนของประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก บริษัทฯ จึงคงเป้ายอดขายที่ดินในประเทศไทยสำหรับปี 2564 ไว้ที่จำนวน 725 ไร่ โดยในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวม 154.1 ล้านบาทชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่บริษัทฯ ก็มีรายได้ค่าสิทธิการผ่านทางจำนวน 125 ล้านบาทเข้ามาหนุนจึงทำให้รายได้รวมลดลงเพียง 37.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯ ได้มีการประสานงานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อสนับสนุนให้มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น
บริษัทฯ ตั้งเป้าพัฒนาและขยายนิคมฯ ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้เปิดดำเนินการและพร้อมต้อนรับนักลงทุนที่สนใจแล้ว โดยในปี 2564 นี้บริษัทฯ มีแผนการขยายพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่งเพิ่มเติม รวมถึงได้เริ่มเปิดให้บริการเช่าพื้นที่ภายใน TusPark WHA ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมแห่งใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้จัดตั้ง Unified Operation Center (UOC) ณ อาคาร WHA Tower ขึ้นเพื่อเป็นโซลูชั่นแพลตฟอร์มที่สำคัญ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ UOC แห่งนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และควบคุมการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม อาทิ การตรวจวัดคุณภาพอากาศ ปริมาณฝนตก และคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ อัจฉริยะ หรือ Smart ECO Industrial Estate
ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายที่ดินทั้งสิ้น 25 ไร่ โดยบริษัทฯ ได้รับใบรับรองการแก้ไขการจดทะเบียนการลงทุนของเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 เหงะอาน เฟส 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงกำลังเร่งสานต่อการขายและงานก่อสร้างของพื้นที่เฟส 1B ส่วนที่เหลือเพื่อให้เป็นไปตามเป้ายอดขายที่ดินในเวียดนามสำหรับปีนี้จำนวน 308 ไร่ พร้อมกับการวาง master plan เพื่อพัฒนาพื้นที่สำหรับเฟส 2 และเฟส 3 ที่คิดเป็นพื้นที่รวมเพิ่มเติมอีก 4,700 ไร่ รวมถึงการดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตและการอนุมัติโครงการเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งในจังหวัดถั่งหัว (Thanh Hoa) บนพื้นที่รวมกว่า 7,500 ไร่ที่ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจสาธารณูปโภคว่า บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภค ในไตรมาส 1/2564 เท่ากับ 586.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 จากการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำรวมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัทฯ เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2564 มาบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการ lockdown จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กอปรกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มทยอยเปิดดำเนินการของลูกค้าใหม่ตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังการผลิต 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปต่อยอดการผลิตเป็น Demineralized Water และ Premium Clarified Water สำหรับจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าแล้ว ตัวโครงการยังเป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งด้านการบริหารจัดการต้นทุนการจัดหาน้ำของบริษัทฯ รวมถึงการลดการพึ่งพิงน้ำดิบจากแหล่งน้ำอื่นอีกด้วย โดยในไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นอัตราการเติบโต 203% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 1 ปี 2564เท่ากับ 165.6 ล้านบาท โดยบริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเพิ่มเติมได้อีกกว่า 10 เมกะวัตต์ รวมเป็นการเซ็นสัญญาสะสมจำนวน 61 เมกะวัตต์ และได้เริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าในไตรมาส 1 ปี 2564 รวม 4 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการอยู่ที่ 44 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถเซ็นสัญญาเพื่อลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้เพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 40 เมกะวัตต์ บริษัทฯ คงเป้าจำนวนการเซ็นสัญญาที่ 90 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2564 และเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ภายในปี 2566
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจไฟฟ้าที่ลดลงในไตรมาส 1 ปี 2564 มีสาเหตุมาจากส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีของโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนเป็นระยะเวลา 37 วัน และส่งผลทำให้โรงไฟฟ้าได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายจาก EGAT ลดลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จและกลับมาดำเนินการตามปกติ โรงไฟฟ้าจะได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ในช่วงที่เหลือของปีฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ อาทิ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 โรง และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และจะไม่มีการดำเนินการซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้าอื่นๆ อีกภายในปีนี้
ปัจจุบัน บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการขออนุญาตดำเนินการเปิดใช้งานระบบซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (P2P Energy Trading Platform) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ควบคู่ไปกับการเตรียมติดตั้งเพื่อทดสอบระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) บนโรงกรองน้ำของบริษัทฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอกย้ำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงานแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบริษัทฯ ในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำเสนอให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุน 5G Tower ร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำเพื่อติดตั้งและทดสอบการใช้งานจริงของโซลูชัน 5G ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ควบคู่ไปกับการขยายการให้บริการเชื่อมต่อสื่อสารแบบโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดให้แล้วเสร็จ ซึ่ง 5G Tower และ FTTx ก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นทั้งในส่วนของบริษัทฯ ลูกค้า และผู้ประกอบการ รวมถึงรองรับการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
สำหรับโครงการ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ (WHA Tower) อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าชมพื้นที่จำนวนมากและเริ่มเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่บางส่วนแล้ว ภายในอาคารประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ โคเวิร์คกิ้งสเปซ ร้านกาแฟ แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์สวนและน้ำพุ และพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสประสบการณ์การทำงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และให้พนักงานบริษัทมีรูปแบบชีวิตการทำงานที่สมดุล ผ่อนคลาย และสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยแบบครบครัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด