7 แนวโน้มด้านซัพพลายเชน และสิ่งที่จะได้เห็นในปี 2020 | Techsauce

7 แนวโน้มด้านซัพพลายเชน และสิ่งที่จะได้เห็นในปี 2020

ปี 2020 จะมาถึงพร้อมความมุ่งมั่นขององค์กรต่าง ๆ ท่ามกลางนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วอย่างที่ไม่มีใครเคยสัมผัสมาก่อน เรากำลังประสบกับการปฏิวัติสู่ระบบดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำงาน และการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คน พลังของข้อมูลเหมือนดอกไม้ที่เพิ่งจะเริ่มบานจากการที่เราใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ  และเรากำลังได้เห็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่าโดดเด่นจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวในการปกป้องโลกและการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กระบวนการลดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และการรวมตัวกันของกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกยังเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ทำให้แนวทางและวิธีการปฏิสัมพันธ์กันของประเทศต่าง ๆ และองค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนไป

แนวโน้มและประเด็นหลักบางประการที่เราน่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2020

1) ความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็น

ความยั่งยืนกำลังจะเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมหลากหลายจำเป็นต้องมี ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ค้าปลีกและบริษัทจำหน่าย/ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจในทุกวงการอีกด้วย ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ กล่าวได้ว่าความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเพื่อแข่งขันเลือกตั้งทั่วโลกในปี 2020 

ตัวอย่างหนึ่งจะเห็นได้จากโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2020 คือ การที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) จะเริ่มมาตรการ IMO 2020 ที่บังคับให้เรือทุกลำลดการปล่อยกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ในการเดินเรือ จากปัจจุบันที่ 3.5% ให้เหลือเพียง 0.5% เพื่อลดมลพิษทางอากาศให้กับโลก มาตรการนี้จะส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระบบดักจับเขม่าควันและเชื้อเพลิงซัลเฟอร์ต่ำที่แสนแพงและทำให้ผลกำไรลดลง โดยที่ผู้ให้บริการและผู้ขนส่งตั้งรับปรับตัวกันไม่ทัน การแล่นเรือด้วยความเร็วต่ำทำให้ระยะเวลาในการเดินทางนานขึ้น และเป็นตัวบังคับให้ระบบนิเวศทั้งระบบต้องจัดโครงสร้างใหม่เพื่อให้เป็นไปตามแผนการผลิตและการส่งมอบสินค้าให้ถึงมือลูกค้า ภายใต้กฎข้อบังคับของมาตรการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

2) ขจัดการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

ด้วยเป้าของธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เมื่อใดที่มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่า ก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า ในแง่การขนส่งนั้น ความสูญเปล่าหมายถึงการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศมากขึ้น และผู้ขับขี่ยานพาหนะใช้เวลานานหลายชั่วโมงไปโดยเปล่าประโยชน์ การขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กลายเป็นตัวถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพราะธุรกิจต่าง ๆ ต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการขนส่งสินค้า บริษัทขนส่งจะคำนึงถึงการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่วนนี้ด้วย และจะคำนวณค่าใช้จ่ายเพิ่มลงไปในค่าบริการ นั่นหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนส่งไปจนถึงผู้บริโภคปลายทาง รวมถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ไม่ว่าจะด้านใด ล้วนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นในท้ายที่สุด

3) การเมืองและการค้าที่พัวพันกันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าต่าง ๆ ในปี 2562 ถูกมองว่าเป็นเรื่องกวนใจ แต่สำหรับปี 2563 นโยบายประเภทนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงใหม่ ๆ ที่เราต้องเผชิญ ความผันผวนทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น อัตราภาษีและกฎระเบียบทางการค้าจะกลายเป็นเรื่องหลักในการกำหนดการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ และทุกคนตั้งแต่หัวหน้าที่ดูแลด้านซัพพลายเชน ตลอดไปจนถึงผู้จัดการโลจิสติกส์จะต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเพื่อจะได้ไม่พลาดในการทำธุรกิจ ความไม่แน่นอนจะยังคงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะความเป็นชาตินิยมและความขัดแย้งทางการค้าจะยังคงก่อให้เกิดความไม่ลงรอยอีกมากมาย และในปี 2563 เราจะได้เห็นการรายงานข่าวการเมืองที่เมื่อก่อนแยกจากข่าวทางธุรกิจ วันนี้ข่าวทั้งสองแบบในหลาย ๆ ประเด็นจะไม่แยกจากกันอีกต่อไป 

4) ความเฉลียวฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์เป็นต้นแบบให้กับ AI

จิตใจมนุษย์กับ AI จะเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น นักวิจัยได้มีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์รวมไปถึงทารก เพื่อความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป้าหมายคือเพื่อยกระดับรูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) ให้ทำงานได้ราบรื่น อยากรู้อยากเห็น หยั่งรู้และเข้าใจได้มากขึ้น โปรแกรม ML ในปัจจุบันต้องอาศัยการป้อนข้อมูลภาพหลายพันภาพเพื่อสอนให้เครื่องเหล่านั้นจดจำว่าวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตธรรมดา ๆ เช่นแมวมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงกระนั้นก็ตาม ข้อผิดพลาดก็ยังคงเกิดขึ้นได้หาก ML ได้รับภาพที่ไม่ชัดเจนพอ ในทางกลับกัน ทารกจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายว่าแมวมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้เห็นภาพหรือรูปวาดในหนังสือ นอกจากนี้ เด็กยังเรียนรู้ผ่านการทดลองและความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้ ML สามารถลอกเลียนประสบการณ์แบบนี้ได้ จึงมีการพัฒนาการให้รางวัลกับ ML บางระบบที่สามารถเลียนแบบความช่างสงสัยในลักษณะนี้ได้โดยจะต้องมีความถูกต้องแม่นยำด้วย การวิจัยในเรื่องของการเชื่อมโยงสมองมนุษย์ไปสู่ AI จะเพิ่มและเริ่มแสดงผลที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างแน่นอนหากมีการพัฒนาต่อด้วยการเสริมคุณลักษณะของมนุษย์เข้าไปในเครื่องจักร

การที่ซัพพลายเชนกำลังจะใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น แพลตฟอร์ม ML และ AI จะเรียนรู้ด้วยการเฝ้าดูพฤติกรรมของมนุษย์ และสัญญาณต่าง ๆ จากข้อมูลที่ได้จากทุกฝ่าย ทุกภูมิภาคและจากทุกระบบซัพพลายเชน เพื่อจะได้เข้าใจความซับซ้อนและความหลากหลายของการค้าโลก กระบวนการการทำงานบางอย่างอาจย้ายไปอยู่ในสถานะที่ถอยห่างออกไป ในขณะที่กระบวนการที่ซับซ้อนอื่น ๆ ที่ต้องการการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายและหลายเครือข่ายนั้น ML และ AI จะต้องการการเรียนรู้จากมนุษย์เป็นอย่างมาก 

5) ซัพพลายเชนให้บริการอยู่ในพื้นที่

ในปี 2019 เราได้เห็นการย้ายฐานงานด้านซัพพลายเชนในบางพื้นที่ เช่นในประเทศจีน ด้วยสาเหตุจากปัญหาด้านภาษีและความขัดแย้งทางการค้า ในปี 2020 จะเกิดสิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยตนเอง โดยที่ซัพพลายเชนต้องพึ่งพาทรัพยากรภายในประเทศและคู่ค้าที่มี ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดในสหรัฐอเมริกา จีน และในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ ภาคการผลิตจะอยู่ในลักษณะ “ผลิตในประเทศและส่งมอบในประเทศ” มากขึ้น ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะใช้แบรนด์ภายในประเทศมากขึ้นเช่นกัน ในประเทศจีน ผู้บริโภคหันไปใช้แบรนด์เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฮเทค โทรศัพท์ และรถยนต์ของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะเป็นแบรนด์จากตะวันตก สำหรับสหรัฐอเมริกา บริษัทต่าง ๆ กำลังรับมือกับความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับจีน โดยต้องปรับเปลี่ยนเครือข่ายซัพพลายจากจีนไปเป็นประเทศอื่น ๆ และสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ ที่อยู่ใกล้กับสหรัฐฯ มากขึ้น 

6) กำแพงเบอร์ลินดิจิทัล

คริสตาลินา จอร์จิว่า ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวไว้ว่า “แม้จะมีการเติบโตทางการค้าเพิ่มขึ้นในปี 2020 แต่ความไม่ลงรอยกันในปัจจุบันอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลไปอีกนาน ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเชนที่อยู่ในภาวะวิกฤต ภาคการค้าที่ต่างคนต่างทำ และ 'กำแพงเบอร์ลินดิจิทัล' ที่บีบคั้นให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเลือกใช้ระบบทางเทคโนโลยี” 'กำแพงเบอร์ลินดิจิทัล' เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อการค้า ทั้งนี้การหดตัวของงานด้านซัพพลายเชน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ได้ฝังแน่นอยู่ในวงการการค้า ทำให้ความเคลื่อนไหวบางประการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลระยะยาวกับระบบซัพพลายเชน บวกกับการตั้งกำแพงกีดกันโดยฝ่ายต่าง ๆ และพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นที่มีอยู่ทั่วโลก และการเน้นความสำคัญกับการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ที่มีมาเป็นเวลาหลายปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ณ จุดนี้ ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสามารถในการให้บริการและให้การสนับสนุนซัพพลายเออร์ที่อยู่นอกเขตของฮับที่ให้บริการปกติ ได้อย่างรวดเร็วจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาทันทีเมื่อเกิดการติดขัดด้านดิจิทัล นอกจากนี้การจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่อาจขาดแคลนหรือมีราคาแพงขึ้นมาแบบทันทีทันใด ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่มีผลต่อการแข่งขัน

7) บรรทัดฐานทางอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

แบรนด์สินค้าสุดหรู หลุยส์ วิตตอง ประกาศแผนการเปิดโรงงานขนาด 100,000 ตารางฟุตในรัฐเท็กซัสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  การประกาศนี้เป็นตัวอย่างล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าคุณภาพสูง การผลิตกระเป๋าคุณภาพสูงนั้นขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันมีโรงงานผลิต 8 ใน 24 แห่งที่เปิดทำการนอกประเทศฝรั่งเศส 

ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มบริษัทเมิร์ส์กที่ดำเนินการเกี่ยวกับโลจิสติกส์และพลังงานประกาศการดึงเงินลงทุนจากการเดินเรือทะเล ไปใช้กับบริการทางบกแทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มเพื่อผลักดันการเติบโตของบริษัท นายแซ้น สเกา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องเติบโตด้วยการเข้าซื้อที่ดินเพื่อทำคลังสินค้า และให้บริการด้านศุลกากร เราลงทุนไปแล้วประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในซัพพลายเชนด้านที่ดิน และจะลงทุนเพิ่มอีกหลายร้อยล้านเหรียญในปีหน้า” 

เป็นที่คาดว่าในปี 2020 จะมีการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ พากันแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อคิดค้นและให้บริการลูกค้าท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ตึงเครียด 

ก้าวต่อไป

เมื่อเข้าสู่ปี 2020 สิ่งที่สำคัญมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนสำหรับธุรกิจต่าง ๆ คือการต้องเชื่อมโยงกับพันธมิตรในต่างประเทศอย่างทั่วถึง การทำงานร่วมกัน การรับรู้สถานะและได้รับข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตในอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและอัดแน่นไปด้วยความกดดันนานัปการ บริษัทที่เตรียมการเชื่อมประสานซัพพลายเชนของตนให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน จะมีความคล่องตัวและความเร็วในการดำเนินงาน สามารถรับรู้และตอบสนองเชิงรุกต่อความต้องการของลูกค้า สิ่งนี้จะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญในปี 2020 และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือจะส่งผลให้บริษัทก้าวขึ้นมาโดดเด่นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OR มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน 3 กลยุทธ์

OR เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิบัติจริง...

Responsive image

MFEC ตั้งเป้า ปี 67 รายได้โต 15% ปักธงฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี

MFEC ตั้งเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้เติบโต 15% และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ชูกลยุทธ์ผสานโซลูชันไอที พร้อมเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโ...

Responsive image

KBank เดินหน้า Net Zero ภายในปี 2030 ชวนธุรกิจไทยรับมือ Climate Game ผ่าน 4 กลยุทธ์

KBank พลิกโฉมสู่ธนาคารแห่งความยั่งยืนรับยุค Climate Game จัดเตรียมยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 ที่อยากชวนธุรกิจไทยก้าวสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ TOGETHER ‘Transitioning Away’ ผ่าน ...