บ้านปูกับห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานครบวงจรในสหรัฐฯ ต่อยอดคุณค่าเพื่อการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน | Techsauce

บ้านปูกับห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานครบวงจรในสหรัฐฯ ต่อยอดคุณค่าเพื่อการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน

จาก “ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ” ในสหรัฐอเมริกาที่ “บ้านปู” บุกเบิกมาตั้งแต่ปี 2558 บ้านปูเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการบริหารงานของ BKV-BPP Power, LLC (BKV-BPP Power) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในสหรัฐฯ ระหว่างบริษัทย่อยของบริษัท Banpu Power US Corporation (BPPUS) และ BKV Corporation (BKV) และคืบหน้าเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในปี 2565 และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสในปี 2566 เดินหน้ากลยุทธ์ทางการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าค้าปลีกเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และครัวเรือน พร้อมกันนี้ ยังต่อยอดสู่ “โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ผ่านกระบวนการกักเก็บคาร์บอนเพื่อการนำไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อโครงการ Barnett Zero ดำเนินการครั้งแรกโดย BKV ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ภายใต้การบริหารจัดการของ BKV-BPP Power พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคมนี้ 

แน่นอนว่า การมีธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าส่งผลให้แต่ละหน่วยธุรกิจของบ้านปูดำเนินงานได้อย่างเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการทรัพยากร ลดต้นทุน ควบคุมความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไร โดยเป้าหมายที่เหนือกว่าการแสวงหาผลกำไร นั่นคือการมุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (Stakeholder) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่มีการดำเนินงานครบวงจรด้วยรากฐานแข็งแกร่งอย่างแท้จริง 

จุดแข็งทางธุรกิจ ที่สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

บ้านปูได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแข็งแกร่งหลายปัจจัย เริ่มต้นจากการมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ คุณภาพภายใต้การบริหารงานของ BKV ทั้งแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส และแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันถึง 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน ส่งผลให้ BKV ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้ BKV ยังดูแลระบบท่อส่งรวม การแยกก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและลดต้นทุนการดำเนินงาน อีกทั้งยังสามารถบริหารเวลา ปรับปรุงพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

ด้วยการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทร่วมทุน BKV-BPP จึงได้ขยายพอร์ตธุรกิจสู่การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าผ่านการเข้าซื้อกิจการของ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Gas Turbines: CCGT) ตั้งอยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) เขตเหนือ ในเมืองเทมเพิล รัฐเท็กซัส กลยุทธ์การลงทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ รวมทั้งบริหารต้นทุนจากแหล่งผลิตจนถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลง และสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 1,499 เมกะวัตต์ และที่สำคัญ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เอื้อต่อการใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ

กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เกิดขึ้นได้ด้วยการมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี CCGT ที่ทันสมัยผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เพื่อตอบสนองสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ ทำให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมในการจ่ายไฟในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง เช่น ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน  โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II จึงตอบโจทย์ความต้องการในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีของ ERCOT และด้วยความพร้อมสู่การเติบโต บ้านปูยังได้เข้าสู่ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายย่อย โดยนับตั้งแต่บริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power เริ่มกิจการธุรกิจไฟฟ้าค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ชื่อ BKV Energy ปัจจุบัน มีลูกค้ารายย่อยกว่า 58,000 ราย

ต่อยอดธุรกิจเดิม สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อผลตอบแทนระยะยาว  

จากต้นทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ บ้านปูต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่แข็งแกร่ง โดยมี BKV dCarbon Ventures, LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV โดยลงทุนใน โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) อีกหนึ่งความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (Byproduct) จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ โครงการ CCUS ยังช่วยให้เกิดธุรกิจขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon-Sequestered Gas: CSG)1 ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดด้วยคุณภาพระดับพรีเมียม ทั้งนี้ BKV ได้ทำสัญญากับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานระดับโลก ENGIE S.A. ในเดือนสิงหาคม 2566 และ Kiewit Infrastructure South Co. บริษัทในเครือของ Kiewit Corporation ในเดือนมิถุนายน 2567 สำหรับการขายและการซื้อ CSG หลังจากบรรลุข้อตกลงนี้แล้ว คาดว่าการส่งมอบ CSG จะเริ่มในปลายปี 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ บ้านปูยังมองเห็นโอกาสจากการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่แหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Ponder Solar) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power ซึ่งพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคม 2567 BKV-BPP Power ยังพิจารณาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจพลังงาน เช่น การขยายธุรกิจสู่โครงการแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS) หากประสบความสำเร็จ ธุรกิจนี้จะรองรับความต้องการการใช้พลังงานทางเลือกในอนาคต ช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบ้านปู โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐฯ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูขยายและปรับพอร์ตธุรกิจในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เรามองสหรัฐฯ เป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้น การพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานที่ครอบคลุม และการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจพลังงานของบ้านปู ทั้งนี้ เรามีการจัดสรรงบฯ ลงทุนธุรกิจในสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 50 ของงบลงทุนในปีนี้ พร้อมความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ให้กับห่วงโซ่ธุรกิจพลังงาน และคุณค่าในเชิงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมและการต่อยอดทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Freshket ระดมทุนเพิ่ม กว่า 273 ล้านบาท เดินหน้าขยายแพลตฟอร์มสู่ Food Supply Chain ครบวงจร

เฟรชเก็ต (freshket) แพลตฟอร์มจัดการวัตถุดิบออนไลน์สำหรับร้านอาหารแบบครบวงจร (Food Supply Chain Platform) สัญชาติไทย เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมระดมทุนเพิ่มจากผู้ลงทุ...

Responsive image

ไทยเตรียมจัดงาน ASEAN Digital Awards 2025 การแข่งขันรอบชิงสำหรับภูมิภาค นำเสนอนวัตกรรมดิจิทัลจากสมาชิกอาเซียน

ASEAN Digital Awards 2025 คือเวทีระดับภูมิภาคที่รวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมล้ำสมัย และแรงบันดาลใจสำหรับนักพัฒนา พร้อมผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการในอาเซียนให้ก้าวสู่ระดับโลก...

Responsive image

ทรู ไอดีซี ดาต้าเซ็นเตอร์ คว้ารางวัลนานาชาติ ด้านออกแบบและพลังงาน พร้อมรองรับเทคโนโลยี AI

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศความสำเร็จของโครงการ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส ที่สร้างปรา...