การบริหารองค์กรเพื่อฟันฝ่าความท้าทายในโลกธุรกิจที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอนั้นไม่ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งมาพบกับสถานการณ์โควิด-19 ความท้าทายดังกล่าวยิ่งหนักหน่วงขึ้นเป็นทวีคูณ ทว่าองค์กรชั้นนำ ด้านพลังงานอย่าง “บ้านปูฯ” (Banpu) กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อีกทั้งยังสามารถก้าวผ่านความท้าทายของสถานการณ์ทางธุรกิจไปได้
แน่นอนว่าหนึ่งเหตุผลที่บ้านปูฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนักย่อมมาจากการที่ทุกชีวิตและทุกธุรกิจยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานต่อไป แต่เหตุผลเพียงเท่านี้อาจยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความแข็งแกร่งของบ้านปูฯ วันนี้เราจึงชวน คุณวิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-กลยุทธ์องค์กร(Corporate Strategy) และเลขานุการบริษัท และคุณจิรเมธ อัชชะ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-บริหารและพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยถึงการวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์องค์กร การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติ และวัฒนธรรมองค์กร ที่ช่วยให้บ้านปูฯ สามารถฟันฝ่าทุกวิกฤติการณ์ที่ผ่านมารวมทั้งโควิด-19 ได้อย่างสง่างามและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง
คุณวิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสายอาวุโส - กลยุทธ์องค์กร (Corporate Strategy) และเลขานุการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นก่อนว่า “ความท้าทายทางธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้เสมอในทุกวินาที เราจึงวางแผนธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว เพื่อให้สามารถตั้งรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสำหรับบ้านปูฯ เรามีการวางแผนธุรกิจในระยะยาว 5 ปี ซึ่งในทุกปีจะมีการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และภาพรวมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องประกอบด้วย พร้อมทั้งอัปเดตแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับสถานการณ์โควิด-19 แม้ในภาพรวมธุรกิจของเราทั้งกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง สามารถดำเนินได้ตามปกติ เพราะพลังงานยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความต้องการพลังงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยก็ทำให้เราได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน เราจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ โดยในช่วงปี 2020-2021 จะเป็นช่วงเวลาของการตั้งรับกับสถานการณ์ โดยเน้นรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งการสร้างรายได้และลดความเสี่ยง มุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีเสถียรภาพและรับมือกับความไม่แน่นอนให้ดีที่สุด ส่วนปี 2022-2025 จะเป็นช่วงเร่งการเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเน้นมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นรายได้หลักของกลุ่มบริษัทฯ ในอนาคต สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่วางไว้”
ทางด้าน คุณจิรเมธ อัชชะ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-บริหารและพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า “ในช่วงที่ผ่านมาที่สถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บ้านปูฯ ได้นำเอาแผนการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ เตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอยู่เสมอ โดยในช่วงสภาวะปกติเราได้วางกลยุทธ์ในการจัดทำแผนความต่อเนื่องธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยคณะทำงาน Incident Management Team (IMT) ของบริษัทฯ ที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศจะฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจในระดับประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทฯ จะไม่หยุดชะงัก หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้ตามสัญญา รวมถึงสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ในระยะยาว”
ในสถานการณ์ที่ท้าทาย ความยืดหยุ่นและความคล่องตัว (Agility) ในการทำงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งบ้านปูฯ ได้ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยจัดโปรแกรม “Work Anywhere” ที่ให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานที่ใดก็ได้ 3 ครั้งต่อเดือน โดยดำเนินการมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว รวมถึงมีการใช้ระบบElectronic Document Management เพื่อติดต่อและรับส่งข้อมูลข่าวสารสำคัญทั้งจากภายในและภายนอกที่เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วและทันสมัย ส่งผลให้เมื่อบริษัทฯ ประกาศใช้นโยบาย “Work from Home” ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พนักงานทุกคนจึงมีความพร้อม สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญที่ช่วยเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของบ้านปูฯ ที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเตรียมความพร้อมให้องค์กรสามารถรับมือกับวิกฤติได้เป็นอย่างดี คือ วัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู ฮาร์ท” (Banpu Heart) ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งคุณจิรเมธให้รายละเอียดว่า “บ้านปู ฮาร์ท ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ ใจรัก (Passionate) ซึ่งหมายถึงการมีใจรักในงานและสิ่งที่ทำ ด้วยเป้าหมายของการเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจร (Integrated Energy Solutions) แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกร่วมกัน สร้างสรรค์ (Innovative) การมีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้น ปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมทั้งปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน และมุ่งมั่นยืนหยัด (Committed) ทั้งในเรื่องความยั่งยืน ความซื่อสัตย์ สุจริต และความร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจร่วมกัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด”
ทางด้านคุณวิรัช กล่าวสรุปว่า “บ้านปู ฮาร์ท เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหลอมรวมพนักงานของเราในทั้ง 10 ประเทศที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงผลักดันให้พนักงานบ้านปูฯ ทุกคนมีพลังร่วม (Synergy) ในการนำพาองค์กรก้าวข้ามผ่านอุปสรรค และมุ่งสู่เส้นชัยให้ได้ พร้อมทั้งส่งมอบความห่วงใย (Care) ให้กันเหมือนครอบครัว ทำให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการร่วมทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำพาบริษัทฯ ก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 มาได้อย่างราบรื่นและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”
ผู้บริหารทั้ง 2 ท่านยังกล่าวถึงก้าวต่อไปในยุคหลังโควิด-19 ที่ทุกอย่างอาจจะไม่เพียงเป็น New Normal แต่เป็นยุค Never Normal ที่จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยองค์กรต้องเตรียมพร้อมแผนรองรับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยบ้านปูฯ จะยังคงเดินหน้ามองหาเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และมีสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และพร้อมให้ความช่วยเหลือชุมชนและสังคมต่อไปแม้อยู่ในช่วงภาวะวิกฤติ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบ้านปูฯ ได้ตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่องภายใต้การจัดตั้งกองทุนร่วมกับกลุ่มมิตรผลในนาม “มิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19” มูลค่ารวม 500 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานสาธารณสุข และการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ซึ่งบ้านปูฯ จะยังคงสานต่อการช่วยเหลือนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน