เอดจ์คอมพิวติ้ง สามารถช่วยให้การบริหารจัดการบริการสาธารณะต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานอย่างชาญฉลาดและคุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น แต่การนำเทคโนโลยีเอดจ์คอมพิวติ้งต่าง ๆ มาใช้ในหน่วยงานภาครัฐนั้นยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ปัจจุบันภาคส่วนอื่น ๆ ได้มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้และได้รับผลลัพธ์ที่ทรงคุณค่าให้ได้เก็บเกี่ยวแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานภาครัฐจะพิจารณาถึงประโยชน์และโอกาสที่จะได้รับจากการนำเอดจ์คอมพิวติ้งมาใช้ในหน่วยงานตน เร้ดแฮทมีตัวอย่างผลลัพธ์จากการใช้เอดจ์คอมพิวติ้งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ภาคการผลิต และรูปแบบการใช้งานที่หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ได้ ดังนี้
เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ศักยภาพและอัจฉริยะของไอทีในองค์กรวางอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ปัจจุบันเรามาถึงจุดที่เวิร์กโหลดบางประเภทสามารถย้ายไปวางไว้ที่อุปกรณ์ปลายทาง (edge) ได้แล้ว
เมื่อมีการนำกระบวนการประมวลผลไปวางไว้ ณ จุดกำเนิดของข้อมูลหรือที่ใกล้ข้อมูลที่สุด (แทนที่จะวางอยู่บนคลาวด์หรือรีโมทดาต้าเซ็นเตอร์) เอดจ์คอมพิวติ้งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจจากข้อมูลที่ส่งออกมาจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ ณ จุดสำคัญที่สุดได้รวบรวมไว้
ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือใช้เอดจ์คอมพิวติ้ง เพื่อนำความสามารถในการประมวลผลให้อยู่ใกล้เครือข่ายเอดจ์ และลดเวลาที่ใช้ในการตอบสนองลง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อความเร็วในการให้บริการและความพร้อมใช้งานตามคุณสมบัติของ 5G ที่ต้องมีให้กับผู้รับบริการ
มีการนำเอดจ์คอมพิวติ้งไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในวงกว้าง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเอดจ์คอมพิวติ้งช่วยลดเวลาที่ใช้ในกระบวนการตรวจสอบให้สินค้าและบริการได้มาตรฐานตามการรับประกันระดับคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ (QA) และรอบการผลิต ช่วยให้นำสินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่าย ข้อมูลที่เซ็นเซอร์ต่าง ๆ รวบรวมไว้ ณ เครื่องจักรแต่ละตัว ช่วยให้วิศวกรสามารถระบุและแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหากับระบบ
ตามปกติแล้ว เซ็นเซอร์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้มีไมโครโปเซสเซอร์ที่มีความสามารถในการคิดและเรียนรู้ที่มีขอบเขต ซึ่งใช้ตรวจสอบและตรวจวัดปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความดัน ความร้อน หรือการไหลของน้ำ ในทำนองเดียวกัน สมาร์ทมิเตอร์หรืออุปกรณ์ตรวจวัดอัจฉริยะที่ติดตั้งอยู่ ณ จุดหนึ่ง ๆ ก็มีความสามารถในการประมวลผลบางประการ เช่น บันทึกปริมาณการใช้ก๊าซ ไฟฟ้า หรือน้ำในครัวเรือน และนำข้อมูลที่บันทึกไว้นั้นไปใช้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่าสมาร์ทมิเตอร์คืออุปกรณ์ปลายทางหรืออุปกรณ์เอดจ์ที่มีประสิทธิภาพ
การใช้งานลักษณะนี้ในปัจจุบันยังอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่สมาร์ทมิเตอร์จะนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้นั้นไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้มากกว่าแค่การคำนวณค่าบริการ สมาร์ทมิเตอร์อาจช่วยให้ค่าธรรมเนียมการใช้ไฟลดลง ทำการปิดอุปกรณ์เมื่อไม่ได้ใช้งาน และแม้แต่เปิดหน้าต่างหากอุณหภูมิในอาคารสูงถึงระดับที่ตั้งไว้
หากพิจารณาตามหลักการดังกล่าวนี้ การใช้เอดจ์คอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐในแต่ละท้องถิ่น คือการนำเอดจ์คอมพิวติ้งไปใช้ในการบริหารจัดการเมืองให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นหรือสมาร์ทซิตี้ และในไม่ช้าก็เร็ว สมาร์ทมิเตอร์จะถูกนำไปใช้ในการบริหารจัดการการใช้พลังงานในท้องถิ่นและครัวเรือน และอุปกรณ์เอดจ์ต่าง ๆ จะสามารถใช้บริหารจัดการสถานการณ์หลากหลายด้านของเมือง ๆ หนึ่งได้
เมื่อพิจารณางานที่เกี่ยวกับการจัดการจราจรใจกลางเมือง ผู้ควบคุมเพียงรู้และเข้าใจว่าถนนแต่ละสายมีการจราจรหนาแน่นเพียงใดในเวลาใดเท่านั้น ก็จะสามารถตัดสินใจได้เลยว่าต้องปรับการจราจรบนถนนช่วงใดหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนระยะเวลาของสัญญาณไฟจราจรช่วงใดบ้าง เพื่อบรรเทาความแออัด แต่หากต้องใช้เวลาส่งข้อมูลที่เกิดขึ้นกลับไปประมวลผลยังหน่วยงานกลาง ข้อมูลนั้นอาจล้าสมัยไปแล้ว เมื่อมีการสั่งการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ก็ไม่ทันกาลเพราะปัญหาอาจไม่ได้อยู่ ณ จุดเดิมแล้ว อาจย้ายไปอยู่จุดอื่นหรือขยายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น หรือหมดปัญหาไปแล้วก็ได้
อย่างไรก็ตาม การนำระบบการประมวลผลไปวางไว้ใกล้กับถนนต่าง ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเสริมระบบการประมวลผลนั้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) อาจทำให้ระบบสัญญาณไฟจราจรสามารถควบคุมการทำงานได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เทคโนโลยี AI/ML สามารถทำความเข้าใจสาเหตุและผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันมาแล้ว และเรียนรู้ว่าเคยแก้ปัญหานั้นอย่างไร ดังนั้นเราสามารถติดตั้งอุปกรณ์เอดจ์ที่มี AI/ML ไว้บนเสาสัญญาณไฟจราจร เพื่อให้ระบบแยกแยะระบุปัญหาที่พบและทำการแก้ไขได้ในเวลาเกือบจะทันทีที่เกิดปัญหานั้น
การนำความสามารถของเอดจ์เทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการด้านการจราจรเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่ใช้ในการบริหารจัดการเมืองเท่านั้น ตัวอย่างอื่น เช่น การติดตามตรวจสอบระบบปรับสภาวะอากาศ (HVAC) ในอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นทรัพย์สินของราชการ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่คุ้มค่ามากขึ้น และตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สาธารณูปโภคของครัวเรือนและธุรกิจ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ หรือของที่ไม่ต้องการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ เอดจ์คอมพิวติ้งยังมีบทบาทในการวางแผนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เอดจ์ไว้ที่จุดสำคัญต่าง ๆ ที่ภูเขาไฟฟูจิของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสตรีมส่งข้อมูลสภาพแวดล้อมหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ในกรณีเกิดแผ่นดินไหว ข้อมูลที่สตรีมมานี้ช่วยให้บริการฉุกเฉินต่าง ๆ ตอบสนองได้เกือบจะทันที ด้วยการส่งทีมบุคลากรฉุกเฉินไปยังสถานที่เกิดเหตุในช่วงเวลาที่ทันต่อสถานการณ์
ศักยภาพของการประมวลผล ณ จุดรับข้อมูลหรือที่เอดจ์ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เราสามารถนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเสาสัญญาณไฟจราจรในเมืองมาใช้บริหารจัดการการไหลเวียนของการจราจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การจดจำภาพ รวมถึงการปรับช่วงเวลาของสัญญาณไฟจราจรได้เอง
เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานรัฐทั่วไปมักมีงบประมาณหรือทรัพยากรที่จำกัด และไม่สามารถทำทุกสิ่งที่ต้องการได้ ระบบอัตโนมัติที่ทำงานอยู่ที่เอดจ์ มีขนาดเล็กกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ที่หน่วยงานต่าง ๆ ใช้อยู่ในอดีต และนั่นคือการใช้คนเพื่อมาบริหารจัดการเทคโนโลยีน้อยลง ช่วยให้พนักงานมีเวลามากขึ้นเพื่อทำงานอื่นที่มีคุณค่ากว่าและมีประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น
เทคโนโลยีเอดจ์ยังมีความยืดหยุ่นที่ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเลือกข้อมูลที่ต้องการเก็บ และกำหนดได้ว่าเก็บเพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตัดสินใจได้ว่าควรเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งใด และอุปกรณ์เอดจ์บางรายการจำเป็นต้องเชื่อมต่อตลอดเวลาหรือไม่
การโยกย้ายการทำงานจากดาต้าเซ็นเตอร์ไปใช้เอดจ์คอมพิวติ้ง สามารถช่วยให้หน่วยงานรัฐให้บริการได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคุ้มค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด