โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่รักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ ที่แรกในไทย | Techsauce

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่รักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ ที่แรกในไทย

ปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการสาธารณสุขทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะในผู้สูงวัย หนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในชายสูงวัย คือ โรคต่อมลูกหมากโต ที่มีโอกาสพบได้ถึง 50% ในชายวัย 50 ปีขึ้นไป และ 70% ในวัย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากมีอายุยืนยาวมากขึ้นถึง 85 ปีขึ้นไป ก็ยิ่งพบได้สูงขึ้นถึง 90% ซึ่งโรคนี้จะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยชายที่มาพบแพทย์จะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ตื่นปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเสร็จแล้วแต่รู้สึกไม่สุด เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยอาการจะเป็นมากหรือน้อยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำเข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะลำบาก ที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเทคโนโลยีการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) ได้มีผลงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2558 และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2564 นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของบำรุงราษฎร์ในการยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ของศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และโรงพยาบาลฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบทางเลือกของการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และความปลอดภัย”

นพ. วิโรจน์ ชดช้อย หัวหน้าศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ เป็นเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยในขั้นตอนการรักษาใช้เวลาสั้น ๆ เรียบง่ายและปลอดภัย ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วย 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 

  1. ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาและไม่ได้รับผลที่น่าพอใจ หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางคืน มีอาการหน้ามืดเหมือนจะเป็นลม หรืออาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นผลจากยาได้ หรือในผู้ป่วยที่ระยะแรกกินยาแล้วมีอาการดีขึ้น แต่ต่อมาเริ่มไม่ค่อยได้ผลเป็นที่พอใจเท่าที่ควร รวมถึงผู้ที่ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ยังมีความลังเล เนื่องจากการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงในเรื่องสุขภาพทางเพศ คือ น้ำอสุจิจะไม่หลั่งออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความพึงพอใจทางเพศ จากสถิติหลังการผ่าตัดจะพบปัญหานี้ ประมาณ 60 - 70% ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งหากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษากลับคืนมาได้ ในขณะที่การรักษาด้วยไอน้ำ แทบจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพทางเพศ เนื่องจากวิธีการรักษาแตกต่างกัน 

ที่ผ่านมา การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต จะมี 2 วิธีหลักๆ คือ 1. การรับประทานยา และ 2. การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานการผ่าตัด (Gold Standard) แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ มีระดับเกลือแร่ผิดปกติ เสียเลือดมาก หรือต้องดมยาเป็นเวลานาน ซึ่งจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง  จึงมีการพัฒนาคิดค้นแนวทางการรักษาแบบใหม่ๆ เพื่อทำลายเซลล์ต่อมลูกหมาก ซึ่งก็มีหลายวิธีก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีข้อด้อยพอสมควร จนกระทั่งพัฒนาเป็นวิธีการรักษาต่อมลูกหมากด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) นับเป็นเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ ภาวะแทรกซ้อนน้อย อวัยวะน้อยบอบช้ำน้อย ฟื้นตัวเร็ว ทำให้อวัยวะนั้นๆ กลับมาสู่สภาพทางสรีรวิทยาและสามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติมากที่สุด (Organ Reserve) และไม่ต้องกินยาต่อ ที่สำคัญคือ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศหรือส่งผลน้อยมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีไอน้ำเหมาะกับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีต่อมลูกหมากโต ขนาด 30 – 80 กรัม โดยใช้เวลารักษาเพียง 10 – 15 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากการรักษาจะต้องฉีดไอน้ำที่อุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียส เข้าไปในต่อมลูกหมากประมาณ 4-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก การฉีดแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 9 วินาที ซึ่งในระยะแรกหลังการรักษา ต่อมลูกหมากจะบวม ทำให้ปัสสาวะไม่ออก แพทย์จึงต้องใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราวให้กับผู้ป่วย โดยเฉลี่ยจะสามารถถอดสายสวนออกได้ภายใน 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก หากขนาดโตมาก แพทย์ก็จะฉีดไอน้ำหลายครั้ง ทำให้ต่อมลูกหมากบวมมากขึ้นและอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะนานขึ้น ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเซลล์ที่ตายออกตามธรรมชาติ ซึ่งปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จะเห็นผลการรักษาที่ดีได้อย่างเต็มที่”

ปัจจุบัน มีรายงานสหรัฐอเมริกาอ้างอิงถึงผลการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำของผู้ป่วย ระบุว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมากินยาใหม่ 10% และมีโอกาสกลับมาผ่าตัดหรือรักษาด้วยไอน้ำอีกครั้ง 4% ซึ่งโดยรวมถือว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายในการกินยาเป็นประจำ ค่าใช้จ่ายในการติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน เช่น การตรวจอัลตราซาวน์ หรือการตรวจความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นต้น แต่หัวใจสำคัญคือวิธีการรักษาด้วยไอน้ำ จะช่วยลดความกังวลใจให้กับเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจตามมาได้อย่างมาก

ทั้งนี้ ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นที่จะยกระดับและพัฒนาการรักษา โดยใช้ผลการรักษาที่ดีเป็นมาตรฐานชี้วัดและเป็นแบรนด์ของบำรุงราษฎร์ รวมถึงมีการติดตามและศึกษาเทรนด์การรักษาของโลกว่ามีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อเข้ามาเสริมในเรื่องของประสิทธิภาพการรักษาเพื่อให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ครบรอบ 20 ปีในไทย ย้ำจุดยืนผู้นำ AI-IoT และ “Edge AI” ยกระดับ Smart Manufacturing, Smart City และ ESG สู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชัน AI, IoT และคอมพิวเตอร์เฉพาะทาง ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ...

Responsive image

ยกระดับบริการลูกค้าด้วย AI BOTNOI Voice บน AWS ช่วยองค์กรไทยสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

AWS ประกาศในวันนี้ว่า BOTNOI สตาร์ทอัพด้าน Generative AI ของไทยที่เชี่ยวชาญในการสร้างผู้ช่วยเสมือนจริงสำหรับการสนทนา ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม BOTNOI Voice ขึ้นบนคลาวด์ของ AWS...

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...