ซีอีโอ เครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ผนึกกำลังประชาคมโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” หรือ “ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์” พาองค์กรธุรกิจก้าวสู่ยุค “เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน” ในงานประชุม Climate Week NYC ของสหประชาชาติ ตั้งเป้าหมายสุดท้าทายนำเครือซีพีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 พร้อมชูวิสัยทัศน์ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมขั้นสูงในกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้านไมโครซอฟต์ประกาศนำองค์กรสู่การเป็น Carbon Negative และ Water Positive ภายในปี 2030 ส่วนลาฟาร์จโฮลซิม เน้นการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ลอรีอัล จะพัฒนาสินค้าที่สร้างผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขายไปทั่วโลก
เว็บไซต์ UNFCCC หรือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เผยแพร่บทความ “Commitments to Net Zero Double in Less Than a Year” ในสัปดาห์ Climate Week NYC ระหว่างวันที่ 21 – 27 ก.ย. 2563 ซึ่งจัดโดยสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยระบุว่ารัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จากทั่วโลกมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีพันธมิตรร่วมในปฏิบัติการนี้ครอบคลุมถึง 22 ภูมิภาคทั่วโลก 452 เมือง องค์กรธุรกิจ 1,101 แห่ง มหาวิทยาลัยกว่า 549 แห่ง และนักลงทุนรายใหญ่ 45 ราย และล่าสุดมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติการนี้เพิ่มเติมคือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย แบรมเบิลส์ (Brambles) ธุรกิจโลจิสติกส์ระดับโลก เฟสบุ๊กสื่อโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดในโลก ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์ รายใหญ่ของโลก ลาฟาร์จโฮลซิม บริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของโลก รวมไปถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มบรรษัทแห่งเอเชียและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ UNFCCC ระบุว่าบริษัทเหล่านี้ยังได้เข้าร่วมปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ (Race to Zero) ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5 °C โดยกำหนดเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับการจำกัดภาวะโลกร้อนที่ 1.5 °C อีกด้วย
รายงานข่าวบนเว็บไซต์ของ UNFCCC ระบุด้วยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวว่าในฐานะกลุ่มบรรษัทผู้นำของเอเชียที่มีธุรกิจหลักด้านอาหารและการเกษตร เครือซีพีมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้เครือซีพีมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและนักลงทุนทั้งหลายของเราจากหลากหลายธุรกิจในเครือทั่วโลก
นอกจากนี้ ซีอีโอ เครือซีพี ยังได้สนทนาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กับ นายไนเจล ท้อปปิ้ง (Nigel Topping) High-Level Climate Champions for Climate Action COP26 ในประเด็นที่ท้าทายคือการใช้พลังของเครือซีพีช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรลดโลกร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยซีอีโอ เครือซีพี กล่าวว่า เราจำเป็นต้องช่วยให้ภาคการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งต้องปรับใช้แนวทางการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและเร่งนำมาตรการประหยัดพลังงานมาใช้ ขณะที่การลดขยะอาหารจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งผู้บริโภคและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งการสร้างความตระหนักรู้ผ่านระบบการศึกษา ความเป็นผู้นำทั้งในและนอกองค์กรของเราเอง และการทำงานร่วมกันจะช่วยทำให้สิ่งนี้เป็นจริง
ซีอีโอซีพี กล่าวต่อไปว่า โอกาสที่ภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรที่ดำเนินเศรษฐกิจด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้นั้น จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบจะทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของเครือซีพี ดังนั้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถึงระดับเป็นศูนย์ ควรเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสามารถของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ขยายผลได้
“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากความจริงที่ว่า ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมันกำลังเกิดขึ้นจริง และเราเห็นแล้วว่าระบบนิเวศของโลกที่เราต้องพึ่งพิงเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นมีความเปราะบางมาก เราเห็นถึงผลกระทบอย่างชัดเจนต่อภาคเกษตร การท่องเที่ยว และสุขภาพของมนุษย์ ทั้งในประเทศไทย และทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ฉะนั้นเครือซีพีซึ่งกำลังจะครบรอบ 100 ปี ในปีหน้า จึงมีนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในดำเนินธุรกิจของเรามาโดยตลอด เราได้สร้างระบบปฏิบัติการดิจิทัลของเราเองเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ทั้งด้านความยั่งยืนและการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ตลอดทำให้การจัดการห่วงโซ่อุปทานของเรามีความโปร่งใสและเป็นระบบมากขึ้น และผมมั่นใจว่าเครือซีพีมีศักยภาพ ทักษะ และที่สำคัญที่สุดคือมี mindset ที่จะแสดงความเป็นผู้นำและไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด” ซีอีโอซีพีกล่าว
ขณะที่มุมมองของซีอีโอชั้นนำของโลกคนอื่น ๆ ที่ได้ร่วมในงานประกาศเจตนารมณ์นี้ต่างเห็นสอดคล้องรวมกัน อาทิ นายแบรด สมิธ กรรมการผู้จัดการของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เราได้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อมโยงถึงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้องค์กรต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย โดยไมโครซอฟท์จะเป็นองค์กร Carbon Negative และ Water Positive ภายในปี 2030 คือจะต้องดูดซับคาร์บอนมากกว่าที่ปล่อยออกไป และสร้างน้ำสะอาดคืนสู่ธรรมชาติให้มากกว่าที่ใช้ไป ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนร่วมกับพันธมิตรในการฟื้นฟูป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่นการซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากบริษัทที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ รวมทั้งต้องร่วมมือกันในภาคธุรกิจ และองค์กรประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และเดินหน้าไปด้วยกันสู่อนาคตของพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ทั้งนี้โลกจะจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลของทุกประเทศร่วมมือกันทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกฝ่าย
ขณะที่ คุณแจน เจ็นนิสช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาฟาร์จโฮลซิม กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด การลงทุนก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค แต่ต้องตระหนักถึงการพัฒนาการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น นวัตกรรมการใช้เศษวัสดุกลับมาใช้ในการก่อสร้างใหม่
ด้านคุณ ฌอง-ปอลล์ เอกอน ซีอีโอ L'Oreal (ลอรีอัล) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทอันดับหนึ่งของโลก ด้านความงาม เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างด้านความยั่งยืนด้วย เพราะความงดงามของโลกมีความสำคัญต่อเรา โดยลอรีอัลได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2020 ได้ถึง 80% และจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะเราได้ปรับปรุงกระบวนการผลิต การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกระจายสินค้า เพื่อให้สินค้าของบริษัทกว่า 7 พันล้านชิ้นที่ขายไปทั่วโลก สร้างผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด