dtac ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และเนคเทคลงนามความร่วมมือ นำร่องโครงการแปลงฟาร์มสาธิตเห็ดหลินจือที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่สูงผ่านโซลูชัน “ฟาร์มแม่นยำ” ที่ใช้เทคโนโลยี IoT และเซ็นเซอร์ครบวงจร ที่ทำงานร่วมกับ Cloud Service Mobile Application ที่ dtac พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบในโรงเรือนให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดู มุ่งผนึกกำลังสร้างเป็นองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้ชุมชนโดยรอบและเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac กล่าวว่า “ความร่วมมือดังกล่าวสืบเนื่องจาก dtac มีความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นทุ่มเท ที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม องค์ความรู้ ทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับสังคมไทยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ และการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของประเทศไทย ในภาคการเกษตรเป็นอีกมิติหนึ่งที่ dtac ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ผ่านโครงการเพื่อสังคม dtac Smart Farmer ซึ่งทำงานร่วมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด เริ่มตั้งแต่การส่งข้อมูลที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร เช่น พยากรณ์อากาศ ราคาพืชผล ผ่านทาง SMS จนพัฒนามาถึงการทำแอปพลิเคชั่น Farmer Info ต่อยอดพัฒนามาเรื่อย ๆ มาถึง “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” ให้เป็นฟาร์มต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับ 30 ฟาร์ม ใน 23 จังหวัด
มูลนิธิฯ ดีแทค และเนคเทค ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษา เห็ดหลินจือ ซึ่งเป็นแปลงฟาร์มวิจัยและสาธิต โดยเริ่มลงพื้นที่ศึกษาและวิจัย สำรวจสถานที่มาตั้งแต่ 1 พ.ค. 2562 จากนั้นได้นำเอาเทคโนโลยีไอโอที เซ็นเซอร์ และเครื่องมือตรวจวัดค่าที่จำเป็น เข้ามาประยุกต์ และศึกษาวิจัยโดยแบ่งเป็น 3 โรงเรือน คือ โรงเรือนควบคุม โรงเรือนที่ไม่ควบคุม และโรงเรือนแบบธรรมดา ว่าได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากมูลนิธิชัยพัฒนาเห็นว่า เห็ดหลินจือเป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับส่งออกที่มีมูลค่าสูง ราคารับซื้อต่อกิโลกรัมอยู่ที่หลายหมื่นบาท ผลผลิตต่อโรงเรือนมากกว่า 100,000 บาท ดังนั้น ควรดึงเทคโนโลยีให้มาช่วยในการสร้างผลผลิต และที่ผ่านมาเห็ดหลินจือก็มีข้อจำกัดในการเพาะปลูก เนื่องจาก เห็ดหลินจือสามารถปลูกได้เพียงแค่ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน แต่ในฤดูหนาวไม่สามารถทำได้ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยที่โรงเรือนจะต่ำลงเหลือเพียง 7-10 องศา
ทำให้ดอกเห็ดไม่แตกออก และสปอร์เห็ดไม่ทำงาน ในขณะที่อุณหภูมิเหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่ที่เฉลี่ย 15-28 องศา และเนื่องจากตัวโรงเรือนที่ไม่สามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลาอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการปนเปื้อน จึงได้ติดกล้อง CCTV เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของผลผลิตและดูว่ามีศัตรูพืชเข้ามากัดกินผลผลิตหรือไม่ และแม้การทำงานในพื้นที่นั้นทั้งเกษตรกรเองหรือผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความเข้าใจอย่างมากในผลผลิต มูลนิธิชัยพัฒนา จะเป็นผู้สนับสนุนดูแลและควบคุมกระบวนการผลิตเห็ดหลินจือในโรงเรือน ตลอดระยะเวลาการผลิต 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จนถึงวันที่ 31ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยจะเก็บข้อมูลปริมาณผลผลิตเห็ดหลินจือ และข้อมูลความเข้มข้นของสารสำคัญของเห็ดหลินจือในการปลูกแต่ละพื้นที่การปลูก ศึกษาต้นทุนและรายได้ ในการผลิตเห็ดหลินจือ โดยการใช้ระบบการควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติ เปรียบเทียบกับกระบวนการปลูกแบบเดิม ประกอบด้วยการศึกษาปริมาณผลผลิตทุกช่วงการปลูกตลอดทั้งปี รายได้จากการปลูก ปริมาณสารสำคัญ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนอุปกรณ์ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าบำรุงรักษา ร่วมกับนักวิจัยเนคเทค
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะกรณีศึกษาเห็ดหลินจือ เนคเทค สวทช. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด พร้อมเผยแพร่และขยายผลให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสามฝ่าย ได้แก่ มูลนิธิชัยพัฒนา ดีแทค และเนคเทค สวทช. ในส่วนของเนคเทค สวทช. ได้ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตร และระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนที่ชื่อ HandySense มาวิเคราะห์และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมในการปลูกเห็ดหลินจือให้ได้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยมูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกเห็ดหลินจือ ร่วมทดสอบและเก็บข้อมูลในพื้นที่ และดีแทคสนับสนุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้สามารถรับส่งข้อมูลผ่าน IoT Sensor ผ่านแอปพลิเคชัน
เพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปผลร่วมกัน ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าวได้มีการเริ่มติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ และระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 มีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯเป็นอย่างดี อาทิ ระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยระบบอัตโนมัติ ได้เลือกใช้ IR Heater เพื่อควบคุมอุณหภูมิและการกระจายของอุณหภูมิ และการออกแบบตำแหน่งในการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติภายในโรงเรือน อุณหภูมิกระจายตัวของความร้อนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และทีมวิจัยฯ จะนำผลการทดลองที่ได้ไปปรับใช้กับการทดลองในฤดูหนาวนี้ และเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งการดำเนินการศึกษาวิจัยในพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลโดยระบบ IoT Sensor แสดงผลข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งได้อบรมการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ร่วมกันทั้งสามฝ่ายในทุกรอบเดือน ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการฯ จะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการปลูกเห็ดหลินจือให้กับเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป
การติดตั้งอุปกรณ์ IoT และเซ็นเซอร์ในพื้นที่แปลงเกษตร หรือโรงเรือน เพื่อทำหน้าที่วัดความชื้นในน้ำ ในอากาศ ในดิน วัดค่าอุณหภูมิ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ร่วมกับแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์มือถือ โดยส่งสัญญาณผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย แจ้งผลเกษตรกรให้สามารถดูแลผลผลิตจากที่ใดก็ได้ในโลก เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่แจ้งเตือนผ่านแอปได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที หากเกษตกรใช้งานโซลูชั่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยลดต้นทุนภาคการผลิตไปในตัว และมีข้อมูลสถิติที่จัดเก็บและเรียกใช้ได้อย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและพื้นที่การเกษตรได้ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด