ทำความรู้จัก Open Innovation และการนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจไทย | Techsauce

ทำความรู้จัก Open Innovation และการนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยกำลังมุ่งเข้าสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หมายถึงโมเดลทางธุรกิจที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วย เพื่อให้ก้าวผ่านจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และเปลี่ยนผ่านจากโมเดลธุรกิจที่ลงมือทำมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย เข้าสู่แบบลงมือทำน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก

ในโอกาสนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้เชิญ ศ. ดร. เฮนรี่ เชสโบร์ว ผู้คิดค้นแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งมีตำแหน่งกรรมการบริหาร - ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) มานำเสนอแนวคิดและตอบคำถามด้านนวัตกรรมแบบเปิด และโอกาสสำหรับประเทศไทย

 ในเวทีเสวนา STI Forum and Outstanding Technologist Awards 2017 หัวข้อ “Co-Creating the Future” โดย“สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย” และ “มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์” ร่วมกันจัดขึ้นเนื่องในวันเทคโนโลยีไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ช่องทางและโอกาสที่ประเทศไทยจะประยุกต์ใช้แนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในการเปลี่ยนผ่านสู่ Thailand 4.0 รวมถึงในงานได้ประกาศผลรางวัลพระราชทาน “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และ “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” เพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่นักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยด้วย

นวัตกรรมแบบเปิด และเศรษฐกิจไทย (Open Innovation and Thai Economy)

นายกานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะ Board of Trustee, TMA และหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization โครงการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ประเทศไทยมีนโยบายมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อนที่ประเทศไทยมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก คือ 0.2% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้มีการลงทุน 3-4% ของ GDP แต่ประเทศไทยก็ได้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนด้านนี้ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 0.6% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% ภายในอีกปีหรือสองปีจากนี้

นอกจากนี้ ภาครัฐในไทยเริ่มมีแนวทางการผลักดันนวัตกรรมที่ชัดเจน เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัย หรือแม้แต่ให้สิทธิประโยชน์ภาษีรายบุคคล รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยในภาครัฐสามารถข้ามไปทำงานในภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทำอยู่

นายกานต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การทำวิจัยและพัฒนาในประเทศต่างๆ ก็ต่างคนต่างทำ อาจมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยบ้าง แต่เอกชนมักไม่ค่อยได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความรวดเร็วในการดำเนินงานต่างกัน หรือลำดับความสำคัญของการทำงานต่างกัน อาจารย์ก็ต้องมีภาระงานสอนด้วย แต่ในช่วงสิบปีมานี้ หลายประเทศเริ่มมีการตั้ง Open Innovation Center เพื่อแสดงและเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบว่าหน่วยงานนี้มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง และมีความต้องการเทคโนโลยีอะไรอีก หรือนักวิจัยคิดค้นงานซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ภารกิจใดในองค์กร แต่อาจไปเจอโครงการจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสนับสนุนกันได้ก็มี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสร้างความร่วมมือได้มากกว่าเดิม

โดยยกตัวอย่าง SCG ว่าเป็นองค์กรที่เน้นการลงทุนด้านวิจัย โดยเพิ่มงบวิจัยขึ้นทุกปีจนปัจจุบันอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และมีจำนวนนักวิจัยของตัวเองประมาณ 700 คน รวมทั้งมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่างประเทศประมาณ 600 โครงการ และเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา SCG เพิ่งเปิดศูนย์นวัตกรรมแบบเปิด Open Innovation Center ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ รังสิต โดยมีพื้นที่ราวหนึ่งพันตารางกิโลเมตร มีผู้เข้าชมตั้งแต่เปิดประมาณ 6,500 คน โดยในจำนวนนี้ 25% เป็นนักวิจัยของ SCG อีก 50% มาจากมหาวิทยาลัยและราชการ อีก 20% จากภาคเอกชน ส่วนที่เหลืออีกราว 700 คนเป็นชาวต่างชาติ โดย Open Innovation Center แสดงถึงเทคโนโลยี สิทธิบัตร และโครงการซึ่งพัฒนาไปถึงระดับใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ (commercialization) ถือเป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนวัตกรรมก็เกิดจากความต้องการของตลาด นอกจากนี้ Open Innovation Center ยังถือเป็นพื้นที่หรือชุมชนของนักวิจัยอย่างแท้จริง

อีกภาคส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือ SME และ Startup ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ปกติแล้ว SME และ Startup จะไม่สามารถลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้มากนัก เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้ประโยชน์เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ในมุมมองคิดว่า ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งมีองค์ความรู้จำนวนมากควรเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำวิจัยให้ SME และ Startup เพราะบางครั้ง มหาวิทยาลัยอาจจะทำวิจัยตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด แต่ตอนนี้ภาครัฐควรตั้งเป้าหมายผลักดันนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งมั่นใจว่านวัตกรรมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งในประเทศได้อย่างแน่นอน

ทำไมต้องนวัตกรรมแบบเปิด (Why Open Innovation?)

แนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด” เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์จากภายนอกองค์กร หรืออาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับองค์กรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน

ศ. ดร. เฮนรี่ เชสโบร์ว กรรมการบริหาร - ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นและศึกษาด้านนวัตกรรมแบบเปิดมาตลอด 35 ปีที่ผ่านมา อธิบายว่า

แนวคิดหลักของนวัตกรรม คือ ไม่มีองค์กรไหนที่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพัง องค์กรจะอยู่รอดได้ต้องมีความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และยกระดับความสามารถกับองค์กรอื่น

ทำไมถึงต้องนวัตกรรมแบบเปิด ในอดีตเมื่อห้าสิบปีก่อน เฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีการทำวิจัยและพัฒนาในห้องแลป แต่ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยและ Startup ทำวิจัยมากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (digitalization) บริษัทใหญ่เริ่มพัฒนาช้าลง ในขณะที่ Startup กลับพัฒนาเร็วขึ้น และยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนประเทศ อย่างมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งให้บริการด้านสังคม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมจะช่วยเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจและสังคมโดยรวมให้พัฒนาต่อไปได้

ศ. ดร. เฮนรี่ ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า นวัตกรรมแบบเปิดไม่เพียงแต่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เช่น เปลี่ยนหมู่บ้าน Mori ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านอัจฉริยะ (smart village) ที่ทุกครัวเรือนเข้าถึง wifi, เคเบิ้ลทีวี และทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด (cashless transaction)

หมู่บ้านในชนบทของไทยก็มีศักยภาพที่จะมีนวัตกรรมเช่นนี้ได้ แม้ว่าจะทำเกษตรพื้นฐาน แต่แน่นอนว่าเกษตรกรต้องมีการซื้อขายผลผลิตทางเกษตรกับภายนอกหมู่บ้าน อาจจะโดยตรงหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคนเหล่านี้อาจเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ โดยผ่านแอปอย่าง Alipay และ WeChat ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเอเชีย อย่างประเทศจีนตอนนี้ก็ทำธุรกรรมผ่าน Alipay เกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การทำนวัตกรรมแบบเปิดไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป ทุกโครงการมีความเสี่ยง และมีหลายโครงการที่ไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) ขององค์กรเพื่อเปิดรับนวัตกรรมและร่วมมือกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย คนในองค์กรจะต้องเปิดใจรับการเติบโต (growth) ในรูปแบบใหม่ ๆ

ข้อเสนอแนะและสิ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กำลังทำอยู่

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ศ. ดร. เฮนรี่ เสนอให้มหาวิทยาลัยไทยส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เพื่อที่นักศึกษาจะได้สร้างคอนเนคชั่นและเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ที่ต่างจากไทย ซึ่งเป็นโมเดลที่จีนใช้อยู่ขณะนี้

ศ. ดร. เฮนรี่ เล่าถึงสิ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กำลังทำอยู่และเห็นว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี คือ 1) มีการก่อตั้งสถาบันใหม่ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมสังคม 2) การให้นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจช่วยพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้กับพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำกลับมาใช้ใหม่ (commercialization of green and renewable energy) และ 3) โปรแกรมด้านพัฒนาผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ Startup ค้นหาทุนและมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

 ท้ายนี้ TMA มีความมุ่งมั่นตั้งใจเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ระดับโลก ในหลากหลายมุมมอง โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังแนวความคิดสร้างสรรค์จากการต่อยอดสิ่งเดิม มาพัฒนาเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่สร้างให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากภายนอกองค์กร หรืออาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับองค์กรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรม มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณทางด้าน R&D วิธีการนี้จะช่วยให้ธุรกิจมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม และได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของไทยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงยังจุดประกายและผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเร่งสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรไทย ทั้งในระดับบริหาร นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับระบบนิเวศของนวัตกรรมของประเทศ ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OR มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน 3 กลยุทธ์

OR เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิบัติจริง...

Responsive image

MFEC ตั้งเป้า ปี 67 รายได้โต 15% ปักธงฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี

MFEC ตั้งเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้เติบโต 15% และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ชูกลยุทธ์ผสานโซลูชันไอที พร้อมเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโ...

Responsive image

KBank เดินหน้า Net Zero ภายในปี 2030 ชวนธุรกิจไทยรับมือ Climate Game ผ่าน 4 กลยุทธ์

KBank พลิกโฉมสู่ธนาคารแห่งความยั่งยืนรับยุค Climate Game จัดเตรียมยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 ที่อยากชวนธุรกิจไทยก้าวสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ TOGETHER ‘Transitioning Away’ ผ่าน ...