Grab ออกจดหมายชี้เเจงกรณีพาร์ทเนอร์คนขับ GrabBike รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการรับงาน | Techsauce

Grab ออกจดหมายชี้เเจงกรณีพาร์ทเนอร์คนขับ GrabBike รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการรับงาน

Grab ชี้แจงความคืบหน้ากรณีพาร์ทเนอร์คนขับรวมตัวยื่นข้อเรียกร้องย้ำให้ความสำคัญกับ “ความปลอดภัย” และ “คุณภาพบริการ” พร้อมปรับเปลี่ยนข้อกำหนด–พัฒนาการให้บริการ และปรับปรุงการสื่อสารเพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีทั้งต่อผู้ใช้บริการและพาร์ทเนอร์คนขับ

จากกรณีที่มีพาร์ทเนอร์คนขับ GrabBike (ให้บริการด้วยรถจักรยานยนต์) ในเขตกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกัน ณ อาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย โดยได้ขอเข้าพบผู้บริหารเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น  ล่าสุด วานนี้ (17 สิงหาคม 2563) แกร็บ ประเทศไทย ได้ออกจดหมายเพื่อชี้แจงกับพาร์ทเนอร์คนขับถึงประเด็นต่างๆ 

• โดยในช่วงต้นของจดหมาย Grab ได้ตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับ ซึ่งใช้แอปพลิเคชันแกร็บในการหารายได้เสริมจากการรับส่งผู้โดยสาร รวมทั้งการจัดส่งอาหารและพัสดุ ซึ่งถือเป็นงานอิสระที่มีความยืดหยุ่นและไม่มีข้อผูกมัด

• Grab ยังได้อธิบายถึงที่มาของกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ สำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ โดยชี้แจงว่าบริษัทให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน “ความปลอดภัย” และ “คุณภาพ” ในการให้บริการทั้งต่อผู้ใช้บริการและพาร์ทเนอร์คนขับ ซึ่งกฎระเบียบบางข้ออาจจะไม่เป็นที่พอใจของพาร์ทเนอร์คนขับบางกลุ่ม บริษัทรับทราบและเข้าใจถึงประเด็นปัญหาหรือข้อจำกัดบางประการที่เกิดขึ้น จึงได้พิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนข้อกำหนดหรือหลักปฎิบัติบางประการโดยยังคงยึดถือความปลอดภัยและคุณภาพเป็นสำคัญ โดยการปรับเปลี่ยนมีใจความสำคัญ ดังนี้

  • ประเด็นการแบ่งพื้นที่และการรับงานของพาร์ทเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล – Grabได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรีและปทุมธานี โดยได้รวมทั้ง 3 จังหวัดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันเหมือนเดิม พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการแบ่งเขตอีกหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิคได้ ขณะเดียวกัน Grab ได้เริ่มปรับปรุงระบบเพื่อให้พาร์ทเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ ที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐมและพัทยา สามารถเลือกเปิด-ปิดการรับงาน หรือเลือกประเภทของการให้บริการได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
  • ประเด็นการปรับรูปแบบการจัดส่งพัสดุผ่านบริการGrabExpress – Grab ได้ปรับรูปแบบของบริการดังกล่าวโดยเสนอ 2 ทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ คือ 1) จัดส่งพัสดุแบบต้องการกระเป๋า และ 2) จัดส่งพัสดุแบบไม่ต้องการกระเป๋า โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ Grab ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ได้กำหนดให้พาร์ทเนอร์คนขับต้องมีกระเป๋าเพื่อบรรจุและจัดเก็บพัสดุให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและส่งเสริมความปลอดภัยในระหว่างการขับรถ
  • ประเด็นด้านความคุ้มครองระหว่างการรับงาน – Grab ย้ำว่าเป็นผู้ให้บริการที่ให้สิทธิประโยชน์ในด้านประกันอุบัติเหตุสูงที่สุดและครอบคลุมจำนวนคนขับมากที่สุดเมื่อเทียบกับแอปพลิเคชันอื่น โดยคุ้มครองพาร์ทเนอร์คนขับทุกคน ไม่มีการจำกัดระดับ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และสูงสุด 200,000 บาทเมื่อเสียชีวิต
  • ประเด็นด้านระบบรับงานจัดส่งอาหารแบบจัดส่งหลายจุด หรือ “งานแบช” – Grab ได้อธิบายถึงที่มาของระบบดังกล่าวซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเวลาที่มีจำนวนผู้สั่งอาหารมากกว่าจำนวนคนขับ โดยเปิดให้พาร์ทเนอร์คนขับส่งอาหารได้หลายงานในเส้นทางเดียวกัน แต่จากข้อกังวลที่เกิดขึ้น Grab จึงได้ริเริ่มโครงการประสานงานให้ร้านอาหารเริ่มเตรียมอาหารก่อนที่พาร์ทเนอร์คนขับจะเดินทางไปถึง เพื่อย่นระยะเวลาในการรอและจัดส่งไปถึงมือลูกค้า และพร้อมพัฒนาระบบงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง
  • ประเด็นด้านการระงับสัญญาณการให้บริการ (หรือการแบน) และศูนย์บริการลูกค้า – Grab ได้ชี้แจงถึงนโยบายด้านคุณภาพและความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการแบนพาร์ทเนอร์คนขับหากได้รับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม หรือกระทำผิดหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณของคนขับ แต่พาร์ทเนอร์คนขับสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตลอดเวลา โดยบริษัทจะเร่งขั้นตอนการตรวจสอบให้เร็วขึ้น ส่วนในด้านศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) แกร็บได้จัดให้มีช่องทางติดต่อนอกเวลาทำการ เช่นสายด่วน (02-0212530) ในกรณีฉุกเฉินหรือมีอุบัติเหตุ หรือผ่านทาง “ศูนย์ช่วยเหลือ” ในแอปพลิเคชันคนขับ

• นอกจาก 5 ประเด็นข้างต้น Grab ยังได้วางแผนที่จะปรับปรุงการติดต่อสื่อสารกับพาร์ทเนอร์คนขับ อาทิ การใช้ กลุ่ม Facebook และการจัดประชุมเพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม 

• ในตอนท้ายของจดหมาย Grab ระบุว่าการให้บริการแอปพลิเคชันถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ต้องอาศัยการพัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าไม่มีแอปพลิเคชันใดที่สมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่เริ่มต้น และถือเป็นความท้าทายที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว แต่บริษัทฯ ก็พร้อมจะพัฒนาและปรับปรุงแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้บริการ พาร์ทเนอร์คนขับ และพาร์ทเนอร์ร้านค้า เป็นสำคัญ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของจดหมายจาก Grab ประเทศไทย ได้ที่ >> https://grabdriverth.com/news/2020/8/17

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...