ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก | Techsauce

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

โรคไข้เลือด เป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นในทุกประเทศเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายหรือยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน และในปัจจุบันมีประชากรประมาณ 4 ล้านคนติดเชื้อไวรัสเดงกีทุกปี ราว 20-25% มีอาการป่วย ราว 1-5% ของผู้ป่วยมีอาการช็อคจากภาวะการไหลเวียนของเลือดล้มเหลวหรือเลือดออกมาก  สำหรับไวรัสเดงกีมี 4 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างของสายพันธุกรรมราว 30-35% ความแตกต่างของไวรัสเดงกีสายพันธุ์ในระดับนี้ ทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ม.มหิดล กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และทางกายภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดล มีการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีมานานกว่า 40 ปี และกำลังดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายก่อนจะนำผลิตภัณฑ์มาใช้ในตลาดโลก โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยมี  ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ. สุธี ยกส้าน เป็นผู้บริหารและผู้วิจัยหลัก โดยแรกเริ่ม Transfer Technology  จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จากความร่วมมือของทีมงานวิจัยไทยกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกทั้งที่เจนีวาและอินเดีย เป็นระยะเวลานานกว่า 25 ปี ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนสามารถผลิตผลงานวัคซีนที่มีมาตรฐานในระดับสากลได้ ผ่านการพัฒนาคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะในการคัดเลือกเชื้อไวรัสที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นวัคซีน มีการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนตัวเลือกในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง อาสาสมัครผู้ใหญ่และผู้เยาว์ ภายใต้การตรวจสอบความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันของเชื้อวัคซีนแต่ละสายพันธุ์ตลอดทั้งการรายงานผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนทุกขั้นตอน ทั้งยังผ่านการตรวจสอบจากองค์การอนามัยโลกที่ได้จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ (WHO Peer Review Committee) มาตรวจสอบฟังรายงานความก้าวหน้าทางวิชาการและตรวจสอบข้อมูลดิบ (raw data) เป็นประจำทุกปี เป็นที่เชื่อถือได้ในระดับสากลส่งผลให้ฝ่ายเอกชนจากหลากหลายประเทศตัดสินใจในการร่วมลงทุนพัฒนานวัตกรรมวัคซีน 

ศ.นายแพทย์ สุธี กล่าวว่า “การพัฒนาวัคซีนเดงกีทั้ง 4 ชนิดเป็นผลจากการเรียนรู้หลัก 2 ประการ ได้แก่การค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับไวรัสเดงกี มีการลองผิดลองถูก มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระจากต่างประเทศจนเกิดความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความเชื่อมั่นในระดับสูงสุด ผลสำเร็จอีกประการหนึ่งที่ผู้วิจัยเรียนรู้คือ technology ของการทำวัคซีนรวม 4 ชนิด (tetravalent) โดยสามารถปลูกสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสเดงกีแต่ละชนิดได้ครบ ทั้ง 4 สายพันธุ์เพื่อฉีดรวมกันในเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันนั้นต้องอยู่ในระดับที่สูงและสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันพร้อม ๆ กัน (balance immune response) แม้จะเผชิญอุปสรรคนานับประการ แต่ทุก ๆ ฝ่ายสามารถช่วยกันขับเคลื่อนงานให้ก้าวหน้าไปได้ดีตามเป้าหมาย อาจสรุปได้ว่าผู้คนทุกคนสามารถได้รับวัคซีนชนิด 1 เข็มนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย (1-2 ขวบ) ตลอดจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องทำการเจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน ไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำหลายครั้ง (2-3 ครั้ง) โดยไม่ต้องกังวลถึงกลไกการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงเมื่อติดเชื้อจากธรรมชาติหลังจากการได้รับวัคซีน สำหรับหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคในระดับประเทศหรือองค์การอนามัยโลกควรจะพิจารณานำวัคซีนเข้าสู่โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Expand Program on Immunization) ในอนาคตที่ไม่นานเกินรอเราควรจะเห็น การตีกรอบโรคไข้เลือดออก ให้อยู่ในวงแคบที่สุด ”

ความร่วมมือระดับนานาชาติ / ความเชื่อมโยงผลิตวัคซีนไข้เลือดออกระดับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

เริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2011 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบสิทธิบัตรการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้กับบริษัท Kaketsuken (ปัจจุบันบริษัท Kumamoto Meiji Biologics) ของประเทศญี่ปุ่น โดยมีการทดสอบวัคซีนดังกล่าว phase 1 ในคนที่ประเทศออสเตรเลีย จากผลสำเร็จครั้งนี้ทำให้บริษัทดำเนินการใน phase 2 และ 3 ต่อไป ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของรัฐบาลญี่ปุ่น และในปัจจุบันโครงการวิจัยวัคซีนเดงกีได้รับทุนสนับสนุนกว่า 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 296 ล้านบาท) จากการ license นวัตกรรมวัคซีน และการ Transfer Technology ให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยกว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 87.5 ล้านบาท) นอกจากนี้ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลายหน่วยงานในประเทศ อาทิ สภาวิจัยแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการทาวิทยาศาสตร์ (TCELs) และกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข 

พิธีลงนามมอบสิทธิบัตรการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก (25 ตุลาคม 2554) Mr.Akinobu Funatsu ผู้จัดการใหญ่/ประธานกรรมการบริหาร ร่วมในพิธีลงนามกับศาสาตรจารย์คลินิก น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนของทั้ง 2 ฝ่าย 
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

บทบาทการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากความสำเร็จในด้านการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแล้ว สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ iNT ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างรอบคอบ มีการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กระจายรายได้กลับคืนสู่มหาวิทยาลัยและทีมผู้คิดค้นผลงาน

ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยและบทบาทสำคัญของ iNT มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีผลกระทบสูงต่อสุขภาพของประชาชนในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยให้ถูกนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับงานวิจัยในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อีกมหาศาล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ททท. ประกาศผู้ชนะ TAT Travel Tech Startup 2024 ทีม HAUP คว้าชัย ร่วมผลักดัน ท่องเที่ยวไทยกับ 11 ทีม Travel Tech

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศผลผู้ชนะโครงการ TAT Travel Tech Startup 2024 กิจกรรมบ่มเพาะและโจทย์ด้านการท่องเที่ยวสุดท้าทาย ร่วมกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด WORLD...

Responsive image

ทำความรู้จักกับซิม IoT จาก SoftBank และ 1NCE จ่ายครั้งเดียว ใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 10 ปี

รู้จักซิมการ์ด IoT จาก 1NCE เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ทั่วโลกใน 173 ประเทศ ด้วยค่าใช้จ่ายครั้งเดียวใช้งานได้นาน 10 ปี เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการโซลูชันคุ้มค่าและจัดการง่าย...

Responsive image

AIS คว้ารางวัล Creative Equality Award ยกระดับชีวิต ส่งต่อพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม

AIS ตอกย้ำความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ คว้ารางวัล Creative Equality Award Creative ประเภท Social Impact Awards จากเวที Creative Excellence Awards 2024 ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จขอ...