อย่
แม้จะเป็นเดือนเมษายนที่เป็นหน้าร้อนที่สุดของปี แต่ปีนี้กรุงเทพมหานคร ก็ต้องเผชิญกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก สุดท้ายแทบจะกลายเป็นวนลูปสำหรับคนกรุงเทพฯ ฝนตก-รถติด-น้ำรอระบาย เหมือนกลายเป็นปัญหาที่ทุกคนคุ้นชิน จนรู้สึกว่าคงเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้แล้ว ต้องรับกรรมไป !
แต่สำหรับ พี่เอ้-ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. มองว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือ ไม่มีทางออก และเมืองที่มีปัญหามากกว่ากรุงเทพฯ สามารถแก้ไขได้แล้ว นั่นคือ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรมากกว่า 40 ล้านคน ซึ่งมีความหนาแน่นถึง 2 เท่า
แต่ในอดีตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูและเริ่มต้นอุตสาหกรรมหนัก มีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ เนื่องจากต้องมีการใช้น้ำมาก ทำให้ในศตวรรษที่ 1960 กรุงโตเกียวมีปัญหาแผ่นดินทรุดมากกว่ากรุงเทพฯ และแผ่นดินยังต่ำกว่าแม่น้ำสุมิดะ และอ่าวโตเกียวอยู่เป็นเมตร รวมทั้งโตเกียวซึ่งอยู่ในประเทศที่เป็นเกาะอย่างญี่ปุ่น ทำให้ยังเจอปัญหาทั้งน้ำท่วม และแผ่นดินไหว รวมทั้งพายุไต้ฝุ่นที่มีปีหนึ่งเฉลี่ย 10-12 ลูก ยิ่งฝนตกมา กรุงโตเกียวแทบเรียกว่าหายนะ
สำหรับกรุงเทพฯ ของไทย ถนนสายสำคัญที่มักน้ำท่วม มักจะพื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสุขุมวิทที่ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 เมตร ส่วนถนนรามคำแหง ที่ฝนตก น้ำรอระบายมารอทันที เนื่องจากเป็นถนนที่ต่ำกว่าและเป็นแอ่งกระทะที่ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ และสิบกว่าปีที่ผ่านมา แก้ไขโดยสูบน้ำจากที่ขังในซอย ไปออกถนน แล้วสูบไปที่คลอง ไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้ใช้เวลานาน เป็นระบบสูบน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงขึ้น แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อไหร่ที่เครื่องสูบน้ำเสีย ไม่ทำงาน ทำให้กรุงเทพฯ แทบจะเป็นอัมพาต เป็นเมืองบาดาลทันที
ดังนั้น การพัฒนากรุงเทพฯ เรื่อง “การบริหารจัดการน้ำ” เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทุกคนต้องทราบว่า “กรุงเทพ” อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้น ระบบสูบน้ำคือหัวใจ อย่าปล่อยให้หัวใจล้มเหลวเป็นอันขาด รวมทั้งท่อระบายน้ำก็อยู่สูงกว่าถนน โดยเฉพาะบริเวณซอยที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น และที่สำคัญ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อย่างระบบอัตโนมัติที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี หรือ IoT (Internet of Things) ถ้าใช้ควบคุมปิด-เปิดไฟ เครื่องปรับอากาศ ที่พวกเราใช้ได้ ทำไมจะมาใช้กับระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เช่น เมืองกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ และ Wi-Fi ไว้ที่เครื่องสูบน้ำ ซึ่งรายงานสถานะความพร้อมใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อพายุเข้ามา จะมีศูนย์กลางคอยควบคุมว่า ประตูน้ำเปิด-ปิดตรงไหน แต่ละเครื่องจะทำงานสอดประสานอย่างไร รวมทั้งการพยากรณ์อากาศที่เราสามารถทราบสภาพอากาศล่วงหน้าได้อยู่แล้ว
เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้คาดการณ์และรับมือได้ว่า เมื่อฝนจกตกไล่จากหนองจอก มีนบุรี ถึงพระราม 9 เข้าสู่อโศก ใจกลางกรุงเทพฯ หากวางระบบเชื่อมต่อกับการพยากรณ์อากาศ ไปถึงระบบเตือนเพื่อเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หากเครื่องสูบน้ำพระราม 9 เสีย แล้วเครื่องสูบน้ำที่บางแค ฝนตกน้อย หรือ ไม่ตก ก็สามารถย้ายมาทดแทนก่อน เมื่อระบบสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาเช่นนี้ ปัญหาน้ำท่วมขัง ระบายน้ำไม่ทันก็จะค่อย ๆ ลดลง
นอกจากนี้ อุโมงค์ระบายน้ำ ที่คนกรุงเทพฯ เคยได้ยินว่าจะช่วยระบายน้ำเวลาที่มีฝนตกหนักได้อย่างรวดเร็ว แต่ทุกวันนี้ใช้ได้จริง หรือ แก้ไขปัญหาน้ำรอระบาย น้ำท่วมขังอย่างไร โดยเฉพาะอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่บึงพระราม 9 เพราะน้ำกว่าจะมาถึงอุโมงค์อาจเป็นปลายทางแล้ว น้ำจะมาถึงอุโมงค์ต้องผ่านการปั๊มน้ำ ผ่านคลองแสนแสบ ซึ่งไม่ใช่คลองที่ขุดขึ้นมาเพื่อการระบายน้ำ และคลองแสนแสบที่เคยกว้างในอดีต ก็แคบลงมาก เมื่อมีฝนตกต้องปั๊มน้ำจากถนนขึ้นคลองแสนแสบและสูบน้ำขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไหลออกทางทะเล แต่การปั๊มน้ำขึ้นมีความเสี่ยงกว่าปั๊มน้ำลงมาก เพราะโอกาสที่น้ำจะล้น ปั๊มน้ำพัง น้ำเน่าเออ และปัญหาต่าง ๆ อีกมาก
น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ อุโมงค์เหมือนหม้ายขันหมากรอเก้อ คือ ไม่มีน้ำให้อุโมงค์ระบาย ซึ่งหลักการที่ถูกต้อง คือ ทำอุโมงค์ยักษ์ลอดใต้คลองแสนแสบ เพิ่มพื้นที่ระบายน้ำให้ไหลไปรวมกันที่ปล่องรับน้ำที่บึงพระราม 9 ตรงช่วงทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ แล้วคอยรับน้ำที่ท่วมลงตามแนวดิ่ง แล้วใช้อุโมงค์ลำเลียงน้ำลอดใต้แนวคลองแสนแสบไปขึ้นที่พระโขนง และจากพระโขนงปั๊มน้ำขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาให้ออกทะเลต่อไป
นอกจากนี้ ขอเสนอให้สิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ “ต้องแก้ระบบสูบน้ำของซอย” โดยเลิกใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพราะไม่ได้ผล ควรใช้ระบบสูบน้ำเป็นทอด ๆ โดยแบ่งว่าจุดไหนใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ แล้วส่งต่อเป็นทอด ๆ จะทำให้การใช้งบประมาณถูกลง มีระบบควบคุมอัตโนมัติให้รู้ว่า เครื่องสูบน้ำแต่ละเครื่องไม่พังตอนฝนตก เมื่อระบบสูบน้ำสมบูรณ์ น้ำไปถึงปากปล่องอุโมงค์ อุโมงค์ระบายน้ำในกรุงเทพฯ ก็ใช้งานระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
และถือว่าคนกรุงเทพฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงเข้าใจกรุงเทพฯ ทรงเข้าใจระบบน้ำอย่างลึกซึ้งที่สุด พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า “กรุงเทพฯ ต้องอาศัยระบบสูบน้ำและระบบการเปิดปิดประตูน้ำ” และกรุงเทพฯ ควรทำ “แก้มลิง” เหมือนกระพุ้งแก้มลิงเก็บน้ำไว้หลาย ๆ แห่ง หากเป็นพื้นที่ต่ำ ขุดเป็นบึงไว้ตามชุมชน จากนั้นน้ำจะระบายลงสู่บึง เพราะบึงอยู่ในระดับต่ำกว่า แล้วเมื่อฝนหยุดตก ค่อยปั๊มน้ำจากแก้มลิงขึ้นมาระบายในคลอง ในแม่น้ำ
ซึ่งกรุงโตเกียวก็ใช้วิธีการเช่นนี้โดยใช้พื้นที่ใต้ดินทำเป็นแก้มลิง เหมือนเป็นแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน โดยโตเกียวมีอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน ความยาว 177 เมตร ความกว้าง 78 เมตร ความลึก 25 เมตร และจุน้ำได้ถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อฝนตกหนัก แก้มลิงใต้ดินก็จะกักเก็บน้ำไว้ก่อน เพื่อรอระบายหรือเชื่อมกับแท็งก์น้ำใต้ดิน จะเก็บน้ำไว้ใช้ หรือ ระบายน้ำโดยการปั๊มขึ้นมา ก็สามารถลดผลกระทบกับเมืองได้เป็นอย่างดี ทำให้น้ำท่วมขังในกรุงโตเกียวลดลงและหายจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกรุงเทพฯ ก็สามารถใช้วิธีการนี้ได้ เช่น ใต้บึงโรงงานยาสูบ หรือ สวนเบญจกิติ ซึ่งสามารถขุดให้ลึกกว่านี้ เพื่อเป็นที่รับน้ำ แล้วก็ทำปากปล่องเพื่อรับน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อโศก สุขุมวิท พระราม 4 ประชาชนไม่เดือดร้อน ยังใช้ประโยชน์จากบึงได้ และปั๊มน้ำก็อาจจะไม่ต้องใช้เลย
ดังนั้น พี่เอ้ จึงขอเสนอโมเดล “แก้มลิงใต้ดิน BKK” ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดินที่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมสำหรับคนกรุงเทพฯ โดยนำพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 นำมาพัฒนานำร่องในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และเขตที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น สุขุมวิท บางซื่อ รามคำแหง ปทุมวัน เพลินจิต และ ลาดพร้าว
การทำแก้มลิงใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นแท็งก์เก็บกักน้ำ โดยใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านในสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน และไม่กระทบการใช้ประโยชน์จากผิวหน้าดิน เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดิน รอระบายไปยังแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 15 นาที โดยมีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติ ที่จะช่วยลำเลียงน้ำรอการระบายลงสู่ใต้ดินได้ 1 แสนลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9 แสนตารางเมตร ใน 4 เขต คือ คลองเตย วัฒนา สาธร ยานาวา และต่อยอดการใช้นวัตกรรมสู่ถนนเส้นอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงตรอกซอกซอยในชุมชนเพื่อการจัดการน้ำรอระบายครบวงจร
ส่วนต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ 1 พันล้านบาท แต่สามารถลดมูลค่าความสูญเสียด้านเวลาและเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท ต่อน้ำท่วมขัง 1 ครั้งในระยะเวลา 2 ชั่วโมง นับว่าโครงการแก้มลิงใต้ดินเป็นโครงการที่ใช้งบลงทุนต่ำ แต่สามารถช่วยจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
รวมทั้งปัญหาน้ำท่วม หรือ น้ำรอการระบายไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องบูรณาการทำงานอย่างเป็นระบบและที่สำคัญ ผมเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ เพราะเมืองที่เจอปัญหาน้ำท่วมมากกว่ากรุงเทพฯ แก้ไขได้แล้ว อย่าให้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ เป็นเพราะเวรกรรม หรือ ไม่มีทางออกอีกเลย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด