KPMG เผย CEO ทั่วโลกปรับตัวสู่อนาคต มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย AI และบุคลากร | Techsauce

KPMG เผย CEO ทั่วโลกปรับตัวสู่อนาคต มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย AI และบุคลากร

ผลการสำรวจผู้นำทางธุรกิจมากกว่า 1,300 คนทั่วโลกพบว่า ซีอีโอชั้นนำได้แสดงความยืดหยุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยพวกเขายังคงผลักดันให้ธุรกิจของตนเติบโต แม้ว่าความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกจะลดลง

การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีในระดับโลกซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่สิบ เผยว่าซีอีโอเพียงร้อยละ 72 มั่นใจในทิศทางของเศรษฐกิจโลกในอีกสามปีข้างหน้า ลดลงจากเดิมในปี 2558 คือร้อยละ 93 ซึ่งเป็นปีแรกของการสำรวจความมั่นใจนี้สะท้อนออกมาผ่านแผนการจ้างงานในอนาคตของซีอีโอ โดยร้อยละ 92 กล่าวว่าพวกเขาตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานในสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563

ซีอีโอมีทัศนคติในแง่บวกต่อการจ้างงาน แม้ว่าจะรู้สึกถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการเป็นผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ โดยร้อยละ 72 ยอมรับว่ารู้สึกกดดันมากกว่าปีก่อนหน้าในการรับประกันความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจของตน ปัจจัยที่บรรดาซีอีโอเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามหลักต่อการเติบโตก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยความท้าทายด้านห่วงโซ่อุปทานและปัญหาในการดำเนินงานกลายมาเป็นปัญหาที่สำคัญกว่า แทนที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของปีที่แล้ว

บิลล์ โทมัส ประธานและซีอีโอ เคพีเอ็มจี  อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“สิบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความผันผวนและการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการพัฒนาของ AI ท่ามกลางแรงกดดันเหล่านี้ ซีอีโอยังคงยืนกรานถึงความจำเป็นในการลงทุนเพื่ออนาคต 

ความผันผวนทำให้ผู้นำต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และสร้างสรรค์กว่าที่เคยเป็นมา เมื่อเรามองไปในอีกสิบปีข้างหน้า ซีอีโอที่กล้ากำหนดกลยุทธ์ที่ท้าทายเพื่อตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และลงทุนในเทคโนโลยีและบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้แผนงานของพวกเขากลายเป็นจริงได้นั้น จะสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและยาวนานได้”

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า

“การสำรวจ CEO Outlook ประจำปี 2567 ของเคพีเอ็มจี แสดงให้เห็นว่าซีอีโอทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเติบโตผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร โดยเน้นไปที่ AI และการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ AI

ซีอีโอจำนวนมากขึ้นเริ่มตระหนักถึงผลกระทบในด้าน ESG ที่มีต่อชื่อเสียงขององค์กร และยินดีที่จะดำเนินงานด้านนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาควรเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้มงวดขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับเรื่องการกลับมาทำงานในออฟฟิศของพนักงาน องค์กรที่เลือกใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริดอาจมีข้อได้เปรียบในการรักษาบุคลากรด้วยการให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน

ซีอีโอส่วนมากเห็นด้วยว่า การลงทุนกับการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนท้องถิ่นจะช่วยรักษาการเข้าถึงบุคลากรในอนาคต ผู้บริหารร้อยละ 92 หวังว่าสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรโดยรวมในสามปีข้างหน้า”

ประเด็นปัญหาที่ทำให้ซีอีโอต้องกังวลตลอดทศวรรษที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของพวกเขาในการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความเชื่อมั่นด้วยการเติบโต ผู้นำในปัจจุบันนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ภาวะเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ซีอีโอได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเพิ่มการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี การให้ความสำคัญกับบุคลากรในฐานะหัวใจของกลยุทธ์การเติบโต และการให้คำมั่นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และความยั่งยืน ในฐานะแหล่งสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร

การลงทุนในนวัตกรรม: AI เป็นศูนย์กลางสำคัญเมื่อความเร่งด่วนในการนำมาใช้งานเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 53) แล้ว การเร่งนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ (ร้อยละ 50) เป็นประเด็นที่ซีอีโอในปัจจุบันคำนึงถึงมากที่สุด และเห็นได้ชัดว่าผู้นำส่วนใหญ่ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมไปถึง AI ในฐานะปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต ซีอีโอร้อยละ 64 ชี้ว่า AI เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับการลงทุนในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ผู้นำส่วนใหญ่ยังมองว่านี่เป็นการลงทุนที่จะเห็นผลในระยะกลาง โดยร้อยละ 63 คาดหวังจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายในสามถึงห้าปีข้างหน้า

มีหลักฐานชี้ชัดว่า ซีอีโอมองว่าบุคลากรและความสามารถเป็นหัวใจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของการใช้ Generative AI ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยสามประโยชน์สูงสุดที่ได้รับการยอมรับในการนำ AI มาใช้ในปีนี้ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงาน การพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และการเพิ่มนวัตกรรมในองค์กร

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอยังคงตระหนักถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเร่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้งาน โดยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 61) ระบุว่าความความท้าทายด้านจริยธรรมเป็นหนึ่งในปัญหาที่รับมือยากที่สุดในการนำ AI มาใช้ในธุรกิจ ในขณะที่การขาดกฎข้อบังคับที่ชัดเจน (ร้อยละ 50) และการขาดแคลนทักษะความสามารถทางเทคนิค (ร้อยละ 48) ก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลเช่นกัน

สุดท้าย แม้ว่าซีอีโอสามในสี่ (ร้อยละ 76) เชื่อว่า AI จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อจำนวนงานในองค์กรของพวกเขา แต่มีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่รู้สึกว่าบุคลากรของพวกเขามีทักษะที่เหมาะสมในการใช้งาน AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และร้อยละ 58 เห็นด้วยว่าการนำ Generative AI มาใช้ ทำให้ตนต้องทบทวนเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานในระดับเริ่มต้นใหม่

ให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับแรก: ซีอีโอยังยืนยันกับการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ

ตั้งแต่ปี 2558 ซีอีโอได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เมื่อพนักงานมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในด้านความสมดุล ความยืดหยุ่น และความสอดคล้องระหว่างความเชื่อส่วนตัวและเป้าหมายขององค์กร การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้นำที่ประสบความสำเร็จให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์การเติบโต และปรับปรุงข้อตกลงทางสังคมกับพนักงาน เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย รวมถึงสนับสนุนการเติบโตและผลิตภาพของพวกเขา

การสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นว่า การกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ร้อยละ 83 คาดหวังว่าพนักงานจะกลับมาทำงานในออฟฟิศเต็มรูปแบบภายในสามปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ 64 ในปี 2566 นอกจากนี้ ร้อยละ 87 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะให้รางวัลแก่พนักงานที่มีความพยายามที่จะเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ด้วยการการมอบหมายงานที่ดี การปรับเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง

ในขณะที่การถกเถียงเรื่องสถานที่ทำงานยังคงเป็นประเด็นที่เป็นจุดสนใจ ซีอีโอยอมรับว่ายังมีประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับบุคลากรที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทในอนาคต เกือบหนึ่งในสาม (ร้อยละ 31) กล่าวว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะจำนวนพนักงานที่ใกล้จะเกษียณและการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเพื่อมาแทนที่ เพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว ซีอีโอร้อยละ 80 เห็นด้วยว่าองค์กรควรลงทุนกับการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีพในชุมชนท้องถิ่น เพื่อรักษาการเข้าถึงบุคลากรในอนาคต

ความมุ่งมั่นต่อ ESG: การรับมือกับสถานการณ์ที่การเมืองมีอิทธิพลมากขึ้นในบางประเทศ

ในทศวรรษที่ผ่านมา ซีอีโอได้มีการปรับปรุงความมุ่งมั่นในด้าน ESG และด้านความยั่งยืนในฐานะแหล่งสร้างคุณค่า ในปี 2558 ซีอีโอได้จัดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลน้อยที่สุด เมื่อมาถึงปี 2567 เกือบหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ยอมรับว่าผลกระทบหลักจากการไม่ปฏิบัติตามความคาดหวังด้าน ESG คือการทำให้คู่แข่งได้เปรียบ ซึ่งสูงกว่าผลกระทบในเรื่องของการรักษาตำแหน่งของตน (ร้อยละ 21) และความท้าทายด้านการสรรหาบุคลากร (ร้อยละ 16)

นอกจากนี้ แม้ว่าการเมืองจะมีอิทธิพลต่อวาระ ESG เพิ่มขึ้นในบางประเทศ แต่ผู้นำยังคงตระหนักถึงผลกระทบที่ประเด็นด้าน ESG อาจมีต่อความเชื่อมั่นและชื่อเสียงขององค์กร สามในสี่ (ร้อยละ 76) ของซีอีโอกล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะตัดส่วนที่ทำกำไรของธุรกิจทิ้งหากมันส่งผลต่อชื่อเสียงขององค์กร และซีอีโอร้อยละ 68 บอกว่าพวกเขาพร้อมที่จะแสดงจุดยืนในประเด็นที่มีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางสังคม แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการจะแสดงถึงความกังวลในการกระทำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นด้าน ESG นี้ ซีอีโอมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 66) ยอมรับว่าพวกเขายังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการตรวจสอบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ถือหุ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกเขาจะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบในเรื่องนี้ เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปัจจัยภายนอก ซีอีโอจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับความพยายามด้าน ESG ของตน ในการสำรวจปีนี้ ซีอีโอร้อยละ 69 เผยว่า แม้พวกเขายังใช้กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเดิมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ได้ปรับปรุงภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2568 ซึ่งหลายองค์กรจะต้องรายงานเรื่องผลการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ซีอีโอร้อยละ 30 ระบุว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศคือความซับซ้อนในการลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งยิ่งทวีความท้าทายมากขึ้นจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกในปัจจุบัน รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการค้าที่สำคัญของโลก

ซีอีโอยุคใหม่

ท้ายที่สุด นอกจากการติดตามแนวโน้มในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การสำรวจปี 2567 ยังเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่นของผู้นำ โดยผู้นำรุ่นใหม่ (ร้อยละ 78 ของซีอีโออายุ 40 ถึง 49 ปี) ยอมรับว่ารู้สึกกดดันมากขึ้นในการสร้างความมั่นคงระยะยาวให้กับธุรกิจเมื่อเทียบกับผู้นำรุ่นอาวุโส (ร้อยละ 68 ของซีอีโออายุ 60 ถึง 69 ปี) อย่างไรก็ตาม ผู้นำรุ่นใหม่กลับแสดงความมั่นใจมากกว่าในการรับมือกับประเด็นสำคัญบางประเด็นที่องค์กรต้องเผชิญ แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าองค์กรของตนยังไม่พร้อมที่จะจัดการลำดับความสำคัญด้าน ESG ทั้งหมดได้ในเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับผู้นำรุ่นอาวุโส แต่พวกเขาก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับการตรวจสอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับนโยบายด้าน ESG ได้  โดยร้อยละ 43 ของกลุ่มซีอีโออายุ 40 ถึง 49 ปี แสดงความมั่นใจในข้อนี้ เมื่อเทียบกับร้อยละ 33 ของซีอีโอในกลุ่มอายุ 50 ถึง 59 ปี และร้อยละ 30 ของซีอีโอในกลุ่มอายุ 60 ถึง 69 ปี

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...