Krungthai COMPASS เผยผลการวิเคราะห์ เราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นท่องเที่ยวได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท | Techsauce

Krungthai COMPASS เผยผลการวิเคราะห์ เราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นท่องเที่ยวได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท

รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 16% ของ GDP โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 10% ของ GDP ซึ่งคิดเป็น 61% จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวถึง 80% หรือมีจำนวน 8.1 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 39.8 ล้านคน

ภาครัฐได้กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อชดเชยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่น ในปี 2559 ที่ไทยมีมาตรปราบทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีน หรือเมื่อปี 2561 ที่เกิดเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ในเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงการระบาดของโควิด-19 คือ เมื่อมีการระบาดของโรค SARs ในปี 2546 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 7.4% ภาครัฐได้มีการสนับสนุนการท่องเที่ยว ผ่านการใช้งบประมาณ 82 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และอนุญาตให้ข้าราชการกลุ่มเป้าหมายสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามแนวทางส่งเสริมโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดต่อเนื่องระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวในประเทศในปีดังกล่าวสามารถเติบโตได้ที่ 12% ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวโดยรวมในปีดังกล่าว ยังเติบโตที่ 7% 

ในปี 2563 ก็เช่นกัน เมื่อนักท่องเทียวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ ภาครัฐจึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยงบฯ กว่า 22,400 ล้านบาท ซึ่งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการที่มีมูลค่าเป็นสัดส่วนกว่า 89% ของแพ็คเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยในบทความนี้ได้ทำการวิเคราะห์ว่ามาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในครั้งนี้ จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เพียงใด 

สรุปโครงการกระตุ้นคนไทยเที่ยวในประเทศ

ในภาวะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเช่นนี้ ทางการไทยมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ “กำลังใจ” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ดังรายละเอียดในรูปที่ 2

 “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวไทยได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท Krungthai COMPASS ได้ประเมินเม็ดเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 - Base Case คนใช้จ่ายค่าที่พักตามปกติ : Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 1.13  หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3.1)

กรณีที่ 2 –Best Case คนจ่ายค่าที่พักแพงสุดเท่าที่จะได้รับส่วนลดจากมาตรการ (ต้องจ่ายค่าห้องพัก 7,500 ต่อคืน จึงจะได้ส่วนลดเต็มอัตราที่ 3,000 บาทต่อคืน) : ในกรณีนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 6.17 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 3.75 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3.2) 

แม้ภาพรวมจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวบางจังหวัดฟื้นตัวได้ 

ภาพรวมจะชดเชยรายได้ นทท. ต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% แม้เราประเมินว่ามาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไปกว่า 9.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐสามารถชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% เท่านั้น

แม้เป็นจังหวัดที่คนไทยจะนิยมไป แต่หากมีรายได้จาก นทท.ต่างชาติเป็นหลัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้เพียงเล็กน้อย จากผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 (ในรูปที่ 4) แสดงถึงจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยไปพักแรม 10 อันดับแรก ซึ่งน่าจะเป็นจังหวัดที่คนไปเที่ยวโดยใช้สิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยจะไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่หากรายได้หลักของการท่องเที่ยวจังหวัดนั้น คือ ชาวต่างชาติ (ดูสัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติได้ในรูปที่ 6) เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น รายได้จากคนไทยก็ทดแทนรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ไม่มากนัก 

ตัวอย่างจังหวัดในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ (กลุ่มจังหวัดที่ 1 ในรูปที่ 5) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 40-89% แม้คนไทยที่ได้รับสิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ตามผลสำรวจ แต่ก็ชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 0.5-9% เท่านั้น (รูปที่ 7) ส่วนกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ได้นิยมไปอย่างเช่น กระบี่ พังงา “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ไม่น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจำนวนมากได้เช่นกัน 

แต่ “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถชดเชยรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ ในจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไป เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี เป็นต้น  โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว และมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3-15% เท่านั้น (ดูรูปที่ 6) Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะสามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้กว่า 30% หรือทดแทนได้ทั้งหมด อย่างในกรณีของจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบุรี ในขณะที่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 14-33% ได้แก่ อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง นักท่องเที่ยวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ที่ราว 11.5-64.0%

สรุป: แม้ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไม่สามารถชดเชยรายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไปได้ แต่ก็ทำให้ภาคท่องเที่ยวมีรายรับเพิ่มขึ้นบ้าง และทำให้บางจังหวัดกลับมาคึกคักเหมือนเดิมได้ ซึ่งรายรับที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการ อาจพอทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถอยู่รอดได้นานขึ้น จนถึงเวลาที่ต่างชาติสามารถกลับมาเที่ยวไทยได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงที่มีมาตรการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวจังหวัดไหนจะกลับมาเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งการใช้ High-Frequency Indicators ต่างๆ เช่น Mobility Trends Report จาก Apple ก็สามารถช่วยให้เราติดตามสถานการณ์ได้ทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...