สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลักดันนักมองอนาคตรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมประกวดวิดีทัศน์ด้านมุมมองอนาคต หรือ NIA Creative Contest 2020 ภายใต้แนวคิด “FUTURELAND” โดยปีนี้ขยายครอบคลุม 4 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปได้สร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดด้านมุมมองอนาคตในรูปแบบของวีดีทัศน์ ที่สามารถสื่อถึงภาพความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คน ชุมชน วิถีชีวิต และการพัฒนาพื้นที่ เป็นภาพอนาคตที่คนรุ่นใหม่อยากให้เป็น
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการมองอนาคตมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับการพัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมามักจะดำเนินการเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว NIA เห็นว่าการมองนาคตจะสมบูรณ์แบบได้มากขึ้นจำเป็นจะต้องมี 3 สิ่งหลักคือ 1. ความเป็นไปได้และสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคต 2. คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ และ 3. สื่อใหม่ที่จะเป็นช่องทางการเผยแพร่แนวความคิด ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญในการพัฒนาและสร้างอนาคตให้ชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น
เพื่อให้ภาพนวัตกรรมในอนาคตสามารถพัฒนาสู่ความเป็นจริง และผู้คนหันมาสนใจถึงวันข้างหน้ามากขึ้น NIA จึงได้จัดกิจกรรมประกวดวีดีทัศน์ด้านมุมมองอนาคต หรือ NIA Creative Contest ขึ้น เป็นปีที่ 2 โดยปีแรกใช้แนวคิด “How Do We Work in the Future” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมส่งผลงานกว่า 45 ผลงาน สำหรับการประกวดในปีนี้ใช้แนวคิด “Future Land” เมืองแห่งอนาคต ซึ่งได้มีการขยายพื้นที่การประกวดไปในออกเป็น 4 ภาค ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานเข้าประกวดผ่านหน่วยงานเครือข่ายใน 4 พื้นที่ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกระดับภูมิภาคจะนำมาประกวดร่วมกันอีกครั้ง เพื่อคัดเลือกผู้ชนะที่จะเข้าไปรับรางวัลระดับประเทศในวันนวัตกรรมแห่งชาติ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งตรงกับ “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท ซึ่ง NIA หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสได้นำเสนอผลงานผ่านมุมมองที่หลากหลาย พร้อมเปิดโอกาสให้สังคมไทยและคนไทย ฉุกคิดต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คน ชุมชน วิถีชีวิตและการพัฒนาของพื้นที่ รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตว่าจะมีลักษณะอย่างไรได้บ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือความเปลี่ยนแปลง
“การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เห็นประโยชน์เด่นชัด 3 ด้าน คือ 1. ได้นักมองอนาคตรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อายุยังน้อย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแนวคิดจากคนที่อายุยังน้อยไม่ได้ด้อยไปกว่ากลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือมากด้วยประสบการณ์ และหลายแนวคิดก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน 2. ได้สื่อใหม่ ที่จะช่วยสื่อว่าเยาวชนรุ่นใหม่มองภาพนาคตอย่างไร เพราะภาพอนาคตไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถร่วมกันกำหนด หรือวางแนวทางให้เกิดขึ้นจริงได้ 3. เป็นโจทย์ให้ผู้สนใจสามารถนำแนวคิดไปสร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่คนรุ่นใหม่อยากให้เป็น”
ด้าน ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม กล่าวว่า ในปีนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Future Land เนื่องจาก NIA เห็นว่าแต่ละภูมิภาคมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบริบทและปัญหาเหล่านี้อาจจะมีส่วนในการมองภาพอนาคต และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ พร้อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง โดยเบื้องต้นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้และเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจออกแบบนวัตกรรมในแต่ละพื้นที่คือ
• ภาคกลาง จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องกำหนดรูปแบบความเสี่ยง และนวัตกรรมที่สามารถลดความเสี่ยงเหล่านั้น รวมถึงสิ่งที่คนในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญ ตลอดจนเครื่องมือที่จะช่วยให้กลุ่มคนในภูมิภาคนี้อยู่รอดได้ในอนาคต
• ภาคเหนือ เป็นอีกหนึ่งภาคที่มีสิ่งแปลกใหม่ หรือวิกฤติเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น pm 2.5 ไฟป่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลด้านพฤติกรรมอย่างมาก ประชาชนมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น หลายคนสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโลก สุขภาพ การเมือง และที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นคือ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการป้องกันและระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น
• ภาคอีสาน โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะสามารถสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า “New normal” ของภาคอีสานจะเป็นอย่างไร ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นสิ่งใหม่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะด้านอาชีพที่เกิดอาชีพใหม่ รวมถึงทักษะที่จำเป็นต้องมี เช่น การสตรีมมิ่ง การถ่ายทอดสด ทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงความสนใจในด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ที่ประชาชนในภาคอีสานสนใจเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
• ภาคใต้ เป็นภาคที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิประเทศ ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม และจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังพบว่าคนรุ่นใหม่เริ่มคืนถิ่นเยอะขึ้น โดยสังเกตได้จากการเกิดโฮลเทล ร้านอาหารสไตล์ใหม่ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้คน ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่าความทันสมัยต่างๆ ก็จะเทียบเท่ากับภาคอื่นแน่นอน
ด้านนายนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การสร้างภาพยนตร์ให้มีความน่าสนใจ ควรจะสร้างจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา เพราะเรื่องใกล้ตัวจะช่วยให้คนดูเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร รวมไปถึงการใช้ความเป็นตัวตนตามบริบทพื้นที่ เช่น การใช้ภาษาถิ่น เพราะทำให้เห็นว่าเรามาจากไหน หรือแม้แต่การเล่นกับสัตว์เลี้ยงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาพยนตร์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกสิ่งที่สำคัญคือการเขียนบท ต้องมีการตีความให้ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของอนาคต ต้องเข้าใจคำว่าอนาคตอย่างถ่องแท้ และนึกถึงเรื่องพื้นฐานให้มากที่สุด นอกจากนี้ การสร้างภาพยนต์ในอนาคตนั้นจะพูดถึงอะไรก็ได้ แต่ควรเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกระทบถึงการใช้ชีวิตผู้คน ยิ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับนวัตกรรมยิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะนอกจากจะช่วยให้ภาพยนตร์มีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังช่วยให้คนฉุกคิดถึงการเตรียมตัวถึงวันข้างหน้า พร้อมหยิบนำไปใช้ได้หากมีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด