NIA เผย 5 นวัตกรรมพลิกโฉมเกษตรไทยตัวช่วยนำพาไร่นา เกษตรกรสู่ยุค Smart Farmer | Techsauce

NIA เผย 5 นวัตกรรมพลิกโฉมเกษตรไทยตัวช่วยนำพาไร่นา เกษตรกรสู่ยุค Smart Farmer

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย “เกษตรกรรม” ยังคงเป็นภาคส่วนที่ต้องเจอกับปัญหาและผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ราคาผลผลิต รวมทั้งปัญหาจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวยังคงคุ้นชินกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ตลอดจนขาดผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตรงกับสภาพปัญหา จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศไทยในวันนี้ยังคงอยู่ในระดับคงที่ หรือมีบางปีที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “Smart Farmer” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติจึงได้พยายามผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้น พร้อมมุ่งลดผลกระทบและสภาพปัญหาที่บรรดาเกษตรกรต้องพบเจอ ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านเครือข่ายชุมชน Startup แพลตฟอร์ม และโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยวันนี้จะขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยเติบโตทั้งในด้านการผลิต และการขาย ซึ่งนี่อาจเป็นโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตรไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผู้เล่นใหม่ ๆ ในวงการนวัตกรรมการเกษตร

โรงเรือนเพาะปลูกสตรอเบอรี่ขนาดเล็กสำหรับชุมชน การเกษตรทางเลือกช่วงเว้นจากการทำนา

การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาในบางช่วงฤดู และเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้และมีรายได้เพิ่มขึ้น บริษัท เอแอนด์จี ออร์แกนิค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร จึงคิดโซลูชั่นสร้างรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการทำนาด้วยนวัตกรรมโรงเรือนเพาะปลูกสตรอเบอรี่ขนาดเล็กสำหรับชุมชน นำร่องใช้กับเกษตรกรใน จ.พิจิตร ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก สำหรับนวัตกรรมดังกล่าวใช้เทคนิคการคัดชุดตาดอกที่สมบูรณ์เพียง 2 ชุด และกระตุ้นตาดอกก่อนเข้าสู่กระบวนการเพาะปลูกสตรอเบอรี่ภายในโรงเรือนระบบขนาดเล็กที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ภายในโรงเรือนประกอบด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตสตรอเบอรี่และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ถึง 2 เท่า 

Farmbook.co นักวางแผนการเพาะปลูกมือโปรสำหรับเกษตรกร

ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังถูกขับเคลื่อนไปด้วยการใช้ข้อมูล ไม่เว้นแม้แต่ในภาคเกษตรกรรม ที่ปัจจุบันยังขาดทั้งข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพึ่งพาตนเอง และเศรษฐกิจแนวคิดแบ่งปัน จากปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนา Farmbook แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือทั้งการวางแผนการผลิต การคาดการณ์ผลผลิต ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ สภาพอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การนำเทคโนโลยีทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การสำรวจระยะไกล การตรวจสอบคุณภาพดิน และระบบการให้น้ำ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างสังคมการแบ่งปันอุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตร แรงงาน และวัตถุดิบในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและการจัดสรรสัดส่วนพื้นที่การเกษตรได้ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาด การตรวจสอบและติดตามกระบวนการเพาะปลูกของผลผลิตได้ทุกขั้นตอน

GetzTrac เทคโนโลยีจองรถเกี่ยวข้าว หมดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือในฤดูเก็บเกี่ยว 

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะการเกี่ยวข้าว เกษตรกรหลายรายต้องประสบกับปัญหาการจองรถเกี่ยว รวมทั้งในบางพื้นที่มีผู้ให้บริการเครื่องมือดังกล่าวในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น GetzTrac : เก็ทแทรค แอปพลิเคชั่นสำหรับจ้างรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตรจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ชาวไร่ชาวสวนเข้าถึงอุปกรณ์ทางด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ให้บริการเครื่องมือการเกษตรได้มีช่องทาง – เครือข่ายในรูปแบบ Machine Matching สำหรับบริการที่สามารถจองผ่านแอปพลิเคชั่นมี 3 บริการ คือ 1.จองรถเกี่ยวข้าว ซึ่งมีรถเกี่ยวข้าวในระบบ 400 กว่าคันทั่วประเทศ 2.บริการจองโดรนสำหรับฉีดยาวัชพืช ฉีดย่าแมลง หว่านปุ๋ย และ 3.จองรถแทร็กเตอร์ สำหรับเตรียมดินก่อนทำการเกษตร หรืออัดฟางหลังจากเกี่ยวข้าว ทั้งนี้ การจองสามารถจองล่วงหน้าได้ 1 เดือน จองได้เฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียง โดยอัตราค่าบริการจะคิดตามขนาดที่นา พันธุ์ข้าวที่จะต้องเกี่ยว ซึ่งหากเป็นข้าวจ้าวจะอยู่ที่ 450 บาทต่อไร่ ข้าวเหนียว 500 บาทต่อไร่ ข้าวหอมมะลิ 600 บาทต่อไร่ ส่วนค่าบริการของโดรนจะอยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ รถแทรกเตอร์สำหรับเตรียมดินราคา 500 บาทต่อไร่ การอัดฟางราคา 15 บาทต่อก้อน นอกจากนี้ ในอนาคตเก็ทแทรคยังจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถแจ้งเตือนได้ว่าขณะนั้นมีโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย 

ระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุนสำหรับการผลิตทุเรียนนอกฤดู มิติใหม่ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 

การปลูกทุเรียนนอกฤดู เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรเนื่องจากผลไม้ดังกล่าวเป็นที่นิยมในการรับประทานตลอดทั้งปี แต่อย่างไรก็ตาม เทคนิคสำคัญในการจัดการทุเรียนนอกฤดูต้องควบคุมระบบการผลิต โดยเฉพาะการควบคุมระบบการให้น้ำ ซึ่งระบบการให้น้ำสำหรับต้นทุเรียนในปัจจุบัน เป็นการให้น้ำบนดิน เช่น สปริงเกอร์ ระบบพ่นฝอย ระบบน้ำหยด ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดการสูญเสียน้ำบนผิวดินในปริมาณมาก ทำให้ดินมีความหนาแน่นสูง เกิดปัญหาท่อแตกและอุดตันทำให้มีค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการสูง ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปทุเรียนพันธุ์หลงลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ร่วมมือกับนักวิจัยพัฒนาระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุน (Subsoil Irrigation System, SIS) ขึ้น พร้อมนำมาใช้เป็นแนวทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ให้กับชุมชนเพื่อขยายผลการใช้งานระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใต้ผิวดิน ร่วมกับการควบคุมการผลิตทุเรียนนอกฤดูที่มีคุณภาพตลอดทั้งปีให้กับชาวสวนทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์และทั่วประเทศ โดยเซรามิกรูพรุนเป็นเครื่องมือควบคุมปริมาณน้ำ ปุ๋ย แร่ธาตุ และวัคซีน ออกสู่ดินอย่างช้า ๆ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใต้ผิวดินตลอดทั้งปี มีการบำบัดน้ำวัตถุดิบก่อนเข้าระบบ จึงแก้ปัญหาโรครากเน่าและเปลือกเน่า และสามารถแก้ไขปัญหาเกิดการสูญเสียน้ำบนผิวดิน ลดการสูญเสียปุ๋ย และธาตุอาหารจากการชะล้างผิวดิน เป็นการให้อาหารทางราก จึงใช้ได้กับทุเรียนทุกช่วงอายุ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ระบบการให้น้ำในพืชอื่น ๆ ได้อีกด้วย

พรรัตภูมิฟาร์ม ฟาร์มไข่ไก่ IoT 

พรรัตภูมิฟาร์ม คือ “ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ผ่านการควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มีเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ อีกทั้งจะมีการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยงมายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรงที่มีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบเฝ้าระวังสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น 

โดยยังสามารถใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสั่งการควบคุมระดับความชื้น อุณหภูมิและปัจจัยต่างๆ ในโรงเรือนได้ ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตัดสินใจในการลงทุนและช่วยป้องกันเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ อุปกรณ์ภายในโรงเรือนเสีย ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องและแม่นยำที่เกษตรกรมมยุคใหม่ควรมี ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับฟาร์มไก่ไข่ได้แล้ว ยังช่วยให้ไข่ไก่มีคุรภาพดี มีฟองใหญ่ สดใหม่ ขายได้ราคาสูง และระบบนี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบฟาร์มอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจขอรับทุนสนับสนุนนวัตกรรม หรือสนใจนำแนวคิดนวัตกรรมทั้ง 5 รูปแบบไปปรับใช้ในการเกษตร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AIS คว้ารางวัล Creative Equality Award ยกระดับชีวิต ส่งต่อพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม

AIS ตอกย้ำความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ คว้ารางวัล Creative Equality Award Creative ประเภท Social Impact Awards จากเวที Creative Excellence Awards 2024 ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จขอ...

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...