โอเพ่นดรีม เปิดตัว “มายซิส” (My Sis) บริการแชทบอทให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ชูจุดเด่น “ใช้ง่าย เข้าใจง่าย ให้ทางออก” หวังช่วยเหยื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ตอกย้ำบทบาทเทคโนโลยีดิจิทัลต่อการพัฒนาสังคม ต่อยอดโครงการ “พลิกไทย” โดยดีแทคอย่างเป็นรูปธรรม
คุณพัชรากรณ์ ปันสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด กล่าวว่า My Sis เป็นแชทบอทที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยให้เหยื่อหรือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเข้าถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล เปรียบเหมือนกับพี่สาวหรือเพื่อนที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. โดยทำหน้าที่รับฟังและให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ใช้งานง่าย
ซึ่งเนื้อหาจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ การถูกทำร้าย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่ได้ตั้งใจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการให้ความรู้เบื้องต้น โดย พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์ด้านการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้กำลังใจ ซึ่งช่วยทำให้ผู้ประสบเหตุสามารถเอาตัวรอดได้และมีที่พึ่ง
โอเพ่นดรีมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างและปรับใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นสุขภาพ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ โดยมุ่งหวังให้เป็นรากฐานหรือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่ง My Sis เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งหวังในการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาสังคม
ความท้าทายของการพัฒนาแชทบอท My Sis คือ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมยังไม่แพร่หลาย การออกแบบบทสนทนาและคำตอบต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ หากมีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำของคำตอบด้วย ทั้งนี้ การใช้งานจะมุ่งไปสู่การหาทางออกให้แก่ผู้รับคำปรึกษา (Solutions)
ทั้งนี้ ปัจจุบัน My Sis ยังอยู่ในขั้นการทดลอง (BETA) ซึ่งยังเป็นในรูปแบบการเลือกคำตอบ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาสู่การถามตอบแบบข้อความ (Free Text) ซึ่งจะทำให้การสนทนาระหว่างเหยื่อและ My Sis เป็นธรรมชาติและตรงประเด็น
ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า อัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบ2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 80-90% ของเหยื่อเลือกที่จะไม่เจ้งความหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สำหรับเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุตั้งแต่ 5-90 ปี แต่ 60%ของผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุ 5-20 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น การทำให้ผู้ประสบเหตุเข้ากระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ ผู้ริเริ่มโครงการแชทบอทเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า เนื้อหาที่ป้อนให้กับแชทบอทนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล ซึ่งหลีกเลี่ยงคำถามที่อาจซ้ำเติมผู้ประสบเหตุ และทำให้เรื่องของกฎหมายเข้าใจง่ายมากขึ้น
“สิ่งที่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องการ ไม่ใช่ความคิดเห็นหรือคำตัดสินว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด แต่ต้องการเพื่อนที่สามารถรับฟังเรื่องราว ให้คำปรึกษาและช่วยหาทางออกต่อสถานการณ์ที่พบเจอมากกว่า ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าแชทบอทจะเข้ามาช่วยให้เหยื่อเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรมมากขึ้น ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเทคโนโลยีในงานด้านยุติธรรม” พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม กล่าว
นอกจากการพัฒนาแชทบอท My Sis แล้ว ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็กำลังรณรงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวผ่านแคมเปญ #standbyme เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่เพื่อนหรือผู้พบเห็นก็สามารถร่วมแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามารถเข้ามาใช้งาน My Sis โดยปรึกษาผ่าน Facebook Messenger “มายซิส My Sis bot” http://m.me/mysisbot
ทั้งนี้ แชทบอท My Sis เป็นบริการที่ได้รับการยอดมาจากโครงการโปลิศน้อย เพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง 1 ใน 10 โครงการได้รับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการพลิกไทยโดยดีแทค ซึ่งดำเนินงานระหว่างปี 2560-2561
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด