Sasin School of Management สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเผยแพร่บทความซึ่งมีใจความสำคัญที่ว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนหนึ่ง ตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นบริษัทย่อย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่น่าจะมีประโยชน์ต่อองค์กรในหลายๆด้าน เช่น การมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงกว่าจากการได้รับประโยชน์ในด้านการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ข้อได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งทุน การมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ และการมีอำนาจต่อรองในระดับสูง
แต่แล้วในช่วงหลัง ๆ เราก็เริ่มเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ รายแล้วรายเล่า ต่างก็ตัดสินใจแยกบริษัทออกมาเป็นบริษัทย่อย ๆ ล่าสุดและเข้ากับบรรยากาศการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอย่าง บริษัท Johnson & Johnson ได้ ประกาศการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 135 ปี โดยแยกธุรกิจสินค้าอุปโภคกลุ่มดูแลสุขภาพออกมาจากผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ภายใน
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก (และครั้งสุดท้าย) ที่บริษัทยักษ์ใหญ่แยกตัวออกมาเป็นบริษัทย่อย ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัท GlaxoSmithKilne (หนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมยาของโลก) บริษัท Pfizer และ บริษัท General Electric (GE) ที่ก็ได้มีการแยกธุรกิจบางประเภทออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย ในประเทศไทยเอง เราก็เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้
ตัวอย่างเช่นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้แยกธุรกิจแพ็คเกจจิ้งออกมา เป็นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แยกธุรกิจจำหน่ายน้ำมันและค้าปลีกออกมาเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม “OR” และบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แยกธุรกิจการผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง ไปเป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หรือว่าในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (Disruption Era) อย่างเช่นในปัจจุบัน การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อาจไม่ได้สร้างความได้เปรียบอย่างเช่นเคย บทความนี้ ผู้เขียนจึงตั้งใจที่จะนำเสนอแนวคิดและมุมมองจากทฤษฎีและงานวิจัยทางด้านการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และบทบาทของกลยุทธ์การแยกตัว หรือ Spin-off ที่น่าจะมีข้อคิดสำคัญที่เหมาะสมกับโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาไวและฉลาดที่กินได้แม้แต่ยักษ์ใหญ่ ดังนั้นประโยชน์ข้อแรกของกลยุทธ์การแยกตัว คือการเพิ่มความคล่องตัวในการตัดสินใจ ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มีความเชื่องช้า และไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ของโลก (และของโรค) ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ในกรณีลักษณะธุรกิจในบริษัทยักษ์มีความแตกต่างกัน เช่น ธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว (พวก New S-curve) กับธุรกิจดั้งเดิม ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น บริษัท IBM ได้แยกธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนคือ ธุรกิจที่โตเร็ว (การให้บริการ Hybrid Cloud และ แพลตฟอร์มเอไอ) กับธุรกิจดั้งเดิม (ธุรกิจบริการลูกค้าด้านฮาร์ดแวร์และระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที)
เนื่องจากทั้งสองมีธรรมชาติทางธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่เหมาะในการบริหารภายใต้โครงสร้างเดียวกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ บริษัท IBM ในครั้งนั้น ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลก ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น SCB ได้ปรับโครงสร้างและจัดตั้งบริษัทใหม่เป็น SCBX เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น SCBX ไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่เป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) มีบทบาทเป็น Tech Company มีความคล่องตัวมากขึ้นในการทำธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการทำธุรกิจธนาคาร เน้นการขยายธุรกิจเชิงรุกทั้งธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มต่างๆอย่างเต็มรูปแบบ
ในปัจจุบันการกำกับดูแลกิจการ หรือ Corporate Governance เป็นสิ่งที่ผู้คนโดยเฉพาะนักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารนั้นสามารถกระจายได้ในวงกว้างและอย่างรวดเร็ว อาศัยการกระจายผ่านสื่อทางสังคม (Social Media) ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น หรือแม้แต่สื่อดั้งเดิมที่ยังมีความสำคัญอยู่
ดังนั้นการแยกตัวออกมาเป็นบริษัทย่อยจะทำให้ประสิทธิภาพของการกำกับดูแลกิจการดีขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในด้านการตรวจสอบ และยังลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่ทางการเงินเรียกว่า “Agency Problem” หรือ กรณีที่ผู้บริหาร (ที่ไม่ใช้เจ้าของกิจการ) บริหารองค์กรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การเน้นเพิ่มค่าตอบแทนของผู้บริหาร หรือการเน้นใช้ทรัพยากรของบริษัทเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง
การแยกบริษัทออกมาเป็นบริษัทย่อยยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนที่สนใจในธุรกิจที่แยกออกมา ให้สามารถลงทุนในธุรกิจนั้นได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านบริษัทแม่ เป็นการรับรู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจที่ถูกแยกออกมา และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หุ้นของบริษัทแม่อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ได้ทำการแยกธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ออกมาเป็นบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT
ปัจจุบันบริษัท STA มีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 45,000 ล้านบาท และบริษัท STGT มีมูลค่าประมาณ 77,000 ในขณะที่ STA ถือหุ้นใน STGT อยู่ประมาณ 50.64% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่ามูลค่าหุ้นของ STGT ที่ทาง STA ถืออยู่นั้นมูลค่าเกือบเท่ากับมูลค่าทั้งบริษัทในตอนนี้
โดยรวมแล้ว แน่นอนว่าการอยู่รอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ Disruption Era นั้น องค์กรจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัวที่รวดเร็ว กลยุทธ์การแยกตัว หรือ Spin-off เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถเพิ่มความยั่งยืนให้องค์กรโดยรวมโดยการเพิ่มความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลกิจการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งทุน
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอีกต่อไปที่เราอาจจะเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เลือกแยกธรุกิจออกมาเป็นบริษัทเล็ก ๆ มากขึ้น ในทางกลับกัน สิ่งนี้ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ยังไม่สามารถออกจากแนวคิดเดิม ๆ ที่ผู้บริหารสูงสุดจะต้องเป็นคน คนเดียวที่ “กุมบังเหียน” และไม่ยอม “เลือกทาง” ที่อาจจะไม่ถูกใจนัก แต่ก็เป็นทางที่ “ถูกต้อง” ในยุคโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้บทความนี้เขียนโดย ศ.ดร. ภรศิษฐ์ จิราภรณ์, ดร. สรวงรัตน์ ปภังกร, ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ศ.ดร. ศิริมล ตรีพงษ์กรุณา คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด