SCB EIC เปิดบทสรุป Omicron จะกระทบเศรษฐกิจโลก และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างไร | Techsauce

SCB EIC เปิดบทสรุป Omicron จะกระทบเศรษฐกิจโลก และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างไร

SCB EIC ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากการที่ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน Omicron variant ได้แพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว โดยข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของโลกในช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 ล่าสุด ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือ 3 ล้านรายต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดมา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อต่อวันสูงกว่า 1 ล้านรายแล้ว อย่างไรก็ดี อัตราการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้า ทั้งนี้ในระยะต่อไป หากการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศได้

SCB EIC เปิดบทสรุป Omicron จะกระทบเศรษฐกิจโลก และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างไรการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron เพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ 

1.มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับชะลอตัวลง

2.การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอลงจากความเชื่อมั่น
ของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง

3.ปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนทั้งในภาคสินค้าและแรงงาน อาจยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้

4.บางธนาคารกลางอาจเร่งสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเร็วกว่า
ที่คาดไว้เดิม จากข้อกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ
5) นักลงทุนมีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อาจอ่อนค่าลงในระยะสั้น

Omicron อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก Q1 ปี 65

โดย EIC ประเมินว่า การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ของปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลงจากที่คาดไว้เดิม แต่สถานการณ์การระบาดจะเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป หลังมีการระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) ในจำนวนที่มากเพียงพอต่อประชากร และเริ่มแจกจ่ายวัคซีนสูตรใหม่ที่จะควบคุมการระบาดได้

ซึ่ง EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกทั้งปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงราว 0.3-0.4% เทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ Omicron ทำให้ในปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราว 4.1% โดยเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่า เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก สัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่สูง และความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด

สำหรับผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยอัตราเงินเฟ้อของภาคบริการและสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์จากการใช้จ่ายภายนอกบ้านที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสินค้าคงทนอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น จากอุปทานที่ลดลงและต้นทุนค่าขนส่งที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามปัญหาอุปทานคอขวดที่อาจรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลต่อการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัวอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานอาจอยู่ในระดับสูง

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะกระทบผ่านภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดย EIC ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2022 ลงเหลือ 5.9 ล้านคน (จาก 7.7 ล้านคน) และปรับลดการขยายตัวมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2022 ลงเหลือ 3.4% (จาก 4.7%) ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 จะขยายตัวเพียง 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.4% อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังมีอยู่สูง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 

โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองอันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ระดับการระบาดและความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ Omicron และ 2.การดำเนินมาตรการของรัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สำหรับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอทำให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากนัก

ด้านผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ทั่วโลก นักลงทุนอาจต้องการเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ (อายุ 10 ปี) อาจปรับลดลงตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในบางช่วง ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวนั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดดีขึ้นเช่นกัน

สำหรับตลาดการเงินไทยนั้น พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดทุนไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มมีแนวโน้มรุนแรงและมีรายงานข่าวการติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้ปริมาณเงินที่ไหลออกจะไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น เนื่องจากไทยยังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2022 EIC มองว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการขาดดุลของบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง และการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...