สรุปผลสำรวจจาก EIC Labor Survey 2021 เผย Reskill/Upskill ทางรอดแรงงานไทยที่ยังไปไม่พร้อมกัน | Techsauce

สรุปผลสำรวจจาก EIC Labor Survey 2021 เผย Reskill/Upskill ทางรอดแรงงานไทยที่ยังไปไม่พร้อมกัน

จากสรุปรายงานผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะและการทำงานปี 2021 (SCB EIC Labor Survey 2021) เผยว่าการพัฒนาทักษะ (Reskill-Upskill) เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคยสำหรับแรงงานทุกคน แรงงานไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรง 

จากสรุปรายงานผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะและการทำงานปี 2021 (SCB EIC Labor Survey 2021) เผยว่าการพัฒนาทักษะ (Reskill-Upskill) เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคยสำหรับแรงงานทุกคน

คนจำนวนมากสูญเสียรายได้และความมั่นคงของงานไป อีกทั้งการฟื้นตัวจากผลกระทบเหล่านั้นก็น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วนักตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและยังมีปัจจัยลบรุมเร้าต่อเนื่อง 

วิกฤตดังกล่าวได้ส่งผลรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มแรงงานทักษะน้อย-รายได้น้อย นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในอนาคตก็ยังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งจากภาคธุรกิจที่จะจ้างงานน้อยลง รวมถึงประเภทของงานที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อแรงงานจำนวนมากที่บอบช้ำมาจากวิกฤต 

ทางออกสำคัญในระยะข้างหน้าสำหรับแรงงานในสภาพแวดล้อมดังกล่าว คือ การเร่งพัฒนาทักษะ ทั้งการปรับทักษะ (Reskill) สำหรับแรงงานที่ทักษะเดิมเริ่มมีความต้องการลดลงและอาจสูญหายจากการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และการเพิ่มทักษะ (Upskill) อันเป็นการต่อยอดทักษะเดิมให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงขึ้น การพัฒนาทักษะจะช่วยให้แรงงานไทยสามารถฟื้นตัวได้จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญและสามารถรับมือได้กับโลกยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลการสำรวจเกี่ยวกับทักษะและการทำงานของแรงงานปี 2021 ของ EIC

ผลการสำรวจเกี่ยวกับทักษะและการทำงานของแรงงานปี 2021 ของ EIC (EIC Labor Survey 2021) พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่มีโอกาสเท่ากัน 

จากข้อมูลผลสำรวจ พบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วงปีที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาทักษะด้วยตนเอง โดยเหตุผลหลักในการพัฒนาทักษะคือเพื่อสนับสนุนงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ที่ได้ทำการพัฒนาทักษะมาแล้วนั้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเองค่อนข้างมาก 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการพัฒนาทักษะของแรงงานแต่ละกลุ่มยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนของคนที่ได้พัฒนาทักษะน้อยกว่าคนรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

มีสัดส่วนผู้ที่ได้ทำการพัฒนาทักษะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเพียง 40% ขณะที่กลุ่มผู้รายได้มากกว่านั้นจะมีสัดส่วนดังกล่าวที่สูงกว่า โดยกลุ่มคนที่เงินเดือนมากกว่า 1 แสนบาทมีสัดส่วนผู้ได้พัฒนาทักษะสูงสุดถึง 69% 

นอกจากนี้ กลุ่มลูกจ้าง SMEs ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับโอกาสในการฝึกทักษะน้อยกว่ากลุ่มลูกจ้างบริษัทใหญ่หรือลูกจ้างภาครัฐอยู่มาก โดยมีเพียง 36% ของกลุ่มลูกจ้าง SMEs เท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาทักษะผ่านคอร์สที่นายจ้างจัดให้ ขณะที่สำหรับกลุ่มลูกจ้างบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และกลุ่มลูกจ้างภาครัฐ สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่สูงถึงราว 69% 

ความไม่เท่าเทียมในแง่ของการได้รับการฝึกทักษะนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส เพราะคนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ได้รับผลกระทบมากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา การขาดซึ่งโอกาสในการพัฒนาทักษะเพื่อปรับตัวจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากอยู่แล้ว

ในระยะข้างหน้า แรงงานไทยส่วนใหญ่มีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะ โดยทักษะด้านการเงิน-การลงทุนเป็นทักษะที่คนไทยสนใจมากที่สุด ขณะที่ช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกอันดับหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย 

ข้อมูลผลสำรวจ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ถึง 87% สนใจที่จะพัฒนาทักษะของตนเองในช่วง 1 ปีข้างหน้า สำหรับทักษะที่คนไทยสนใจมากเป็นอันดับหนึ่งคือทักษะด้านการเงิน-การลงทุน ตามมาด้วยภาษาต่างประเทศ และทักษะด้านการทำธุรกิจ 

โดยทั้ง 3 ทั้งทักษะนี้ เป็น Top 3 ในทุกกลุ่มอายุ ขณะที่ทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูล หรือสร้างแอปพลิเคชัน ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในโลกยุคใหม่นั้นได้รับความนิยมอยู่ในระดับปานกลาง 

ในส่วนของช่องทางการพัฒนาทักษะ ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะถึง 72% เลือกช่องทางออนไลน์ (เช่น คอร์สออนไลน์ Youtube หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ) เป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง โดยพบว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย 

ในด้านความพร้อมในการลงทุนกับการพัฒนาทักษะนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะถึง 45% มองว่าการพัฒนาทักษะนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ซึ่งมักไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสัดส่วนคนที่พร้อมจะใช้จ่ายในระดับสูง (มากกว่า 20% ของรายได้ต่อเดือนขึ้นไป) มีไม่มากเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจพัฒนาทักษะทั้งหมด

ระดับความสนใจและระดับการลงทุนในการพัฒนาทักษะของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามทัศนคติต่องานและความสามารถของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจพบว่าทัศนคติของแรงงาน เมื่อพิจารณาจากคำถามเกี่ยวกับความเพียงพอของความสามารถตนเองและความมั่นคงของงานที่ทำอยู่ มักมีความแตกต่างที่นำไปสู่ความสนใจและพฤติกรรมการพัฒนาทักษะที่ต่างกัน โดยกลุ่มคนที่กังวลว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอและงานที่ทำอยู่ไม่มั่นคง มักมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาทักษะมากกว่า โดยจะมีสัดส่วนของคนที่สนใจที่จะพัฒนาทักษะมากกว่า ยอมจ่ายเงินในการฝึกทักษะมากกว่า และยังพร้อมที่จะใช้เวลาใน

การพัฒนาทักษะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ในแง่มุมดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสังเกตคือ คนที่ตอบว่า“ไม่แน่ใจ” ในความสามารถตนเองหรือความมั่นคงของงาน จะเป็นกลุ่มที่แสดงความกระตือรือร้นในการพัฒนาทักษะน้อยที่สุด ซึ่งน้อยกว่าคนที่มั่นใจในงานและทักษะของตนเองด้วยซ้ำ ความแตกต่างจุดนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลและการสร้างการรับรู้ (awareness) เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของแรงงานแต่ละคน อันเป็นจุดตั้งต้นของแรงผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาทักษะของตนเอง

การสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานไทย  

EIC มองว่าการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตของประเทศที่ต้องการการสนับสนุนอย่างรอบด้านและทั่วถึงอันประกอบไปด้วย 5 ด้านที่สำคัญ 

  1. การให้ข้อมูลและคำแนะนำ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความจำเป็นของการพัฒนาทักษะในทุกสาขาอาชีพตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งความรู้ความเข้าใจในความต้องการของตนเองและปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับการทำงาน จะช่วยให้แรงงานเห็นแนวทางและเป้าหมายซึ่งถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการพัฒนาตนเอง 
  2. การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ที่การพัฒนาทักษะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยควรเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ต้นทุนต่ำ มีทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยช่องทางออนไลน์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นช่องทางที่คนไทยให้ความนิยมสูงสุดจากผลสำรวจ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักที่จะช่วยตอบโจทย์ในข้อนี้ 
  3. การสร้างประสบการณ์ที่ดี โดยจากข้อมูลผลสำรวจพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้เรียนยังต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้จึงน่าจะช่วยลดอุปสรรคไปพร้อม ๆ กับเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนให้แก่คนจำนวนไม่น้อย ผ่านการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียน 
  4. การให้การยอมรับกับการพัฒนาทักษะของแรงงาน โดยจากผลสำรวจพบว่าแรงงานมีการระบุถึงสิ่งที่ต้องการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับ เช่น ความต้องการใบประกาศนียบัตรรับรอง ความต้องการหลักสูตรที่ออกแบบจากภาคธุรกิจหรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นต้น การได้การยอมรับจากนายจ้างและสังคมจะช่วยให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาทักษะถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งแรงงานและภาคธุรกิจ รวมถึงจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในภาพรวม 
  5. การสนับสนุนกลุ่มขาดโอกาส ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาทักษะในช่วงที่ผ่านมายังมีกลุ่มที่ขาดโอกาสอยู่ การสนับสนุนการพัฒนาทักษะในไทยอย่างทั่วถึงจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงแก่แรงงานที่ขาดโอกาสซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องการการพัฒนาทักษะมากที่สุด เพื่อให้แรงงานไทยทุกคนรอดจากวิกฤตและปรับตัวได้ไปพร้อมกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...