จากผลสำรวจสถานประกอบการพบว่า 'SMEs ไทยยังไม่ไฮเทค' | Techsauce

จากผลสำรวจสถานประกอบการพบว่า 'SMEs ไทยยังไม่ไฮเทค'

EIC ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งทำการสำรวจสถานประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าและธุรกิจทางการบริการ การผลิต การก่อสร้าง การขนส่งทางบกและคลังสินค้า โรงพยาบาลเอกชน และกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ทั้งนี้ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลปี 2560 (เผยแพร่ปี 2561 กลุ่มตัวอย่าง 39,818 จากทั้งหมด 2,529,676 สถานประกอบการ) และข้อมูลของปี 2555 (เผยแพร่ปี 2556 กลุ่มตัวอย่าง 41,401 จากทั้งหมด 2,227,852 สถานประกอบการ) EIC พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ในปี 2560 สัดส่วนสถานประกอบการไทยที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ อยู่ที่เพียง 28.3% ของสถานประกอบการทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาแยกตามขนาดสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป (มีจำนวนคิดเป็นเพียง 4.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด) จำนวนเกิน 3 ใน 4 มีการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเกิน 200 คนขึ้นไปมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนสูงถึง 99.7% อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการขนาดเล็กที่สุดคือมีลูกจ้างไม่เกิน 10 คน ซึ่งถือเป็นสถานประกอบการส่วนใหญ่ของไทย (มีจำนวนคิดเป็น 95.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด) มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่เพียง 25.7% ส่งผลทำให้สัดส่วนในภาพรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดี สัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ในทุกขนาดสถานประกอบการและทุกอุตสาหกรรมที่มีการสำรวจ 

ธุรกิจไทยยังใช้อินเทอร์เน็ตกันไม่มาก และส่วนใหญ่ยังไม่ใช้เพื่อการค้าขาย ในปี 2560 สัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 29.6% ของสถานประกอบการทั้งหมด ทั้งนี้ในทำนองเดียวกันกับสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 10 คนจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำโดยมีสัดส่วนสถานประกอบการที่ใช้เพียง 27.2% ขณะที่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นจะมีสัดส่วนสูงกว่า 70% ขึ้นไป โดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุด (มีลูกจ้างมากกว่า 200 คน) จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตในเกือบทุกสถานประกอบการ (99.2%) สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ของธุรกิจไทยจะใช้เพื่อค้นหาข้อมูล (74.6% ของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ต) และรับส่งอีเมล (70.8%) ส่วนการใช้เพื่อการค้าขายนั้นยังถือเป็นส่วนน้อย โดยมีเพียง 27.3% เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการซื้อ/ขายสินค้าและบริการ สำหรับธุรกิจไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.4% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 9.4% ในปี 2555 ซึ่งเป็นเหตุผลในการใช้อินเทอร์เน็ตของสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับทิศทางของบริการทางการเงินด้านออนไลน์ที่มีการพัฒนามากขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

ไทยยังตามหลังต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมากในด้านดิจิทัล การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนน้อยของไทยอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยตามหลังหลายประเทศในโลก โดยจากข้อมูลอันดับความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) ล่าสุดในปี 2562 ของสถาบัน IMD ในด้านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล (use of digital tools and technologies) ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศที่ทำการสำรวจ นอกจากนี้ ข้อมูลสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่รับคำสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต (proportion of small and large enterprises receiving orders over the internet) ของ UNCTAD เมื่อปี 2561 ยังพบอีกว่าไทยอยู่ในอันดับ 42 จาก 46 ประเทศที่ทำการสำรวจ โดยไทยมีสัดส่วนจำนวนของ SMEs  ที่รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตที่เพียงประมาณ 10% ห่างไกลจากประเทศอันดับหนึ่ง คือ สิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 60% 

แม้ว่าธุรกิจไทยยังไม่ไฮเทค แต่ก็ยังต้องการบุคลากรด้านไอทีอีกมาก ในปี 2560 ธุรกิจไทยมีการจ้างงานบุคลากรด้านไอทีรวมประมาณ 4.4 แสนคนเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ประมาณ 1.8 หมื่นตำแหน่ง สวนทางกับจำนวนการจ้างงานในภาพรวมของไทยที่ลดลงในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบอีกว่าสถานประกอบการไทยยังมีความต้องการบุคลากรด้านไอทีเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่อีกมากโดยเฉพาะตำแหน่ง ดังนี้

  • ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ที่ยังมีความต้องการอีก 1.5 พันตำแหน่งจากการจ้างงานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 2.4 พันตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนความต้องการที่เพิ่มขึ้นถึง 64%
  • รองลงมาคือตำแหน่ง นักออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (ต้องการ 4.1 พันตำแหน่ง) และโปรแกรมเมอร์ (ต้องการ 6.2 พันตำแหน่ง) คิดเป็น 32% และ 24% ตามลำดับ  

เมื่อเทียบกับจำนวนการจ้างงานของแต่ละตำแหน่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ในส่วนของความต้องการบุคลากรใน SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 10 คนมีมากถึงราว 1.5 หมื่นตำแหน่ง คิดเป็น 9.8% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบัน มากกว่าธุรกิจที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไปซึ่งมีความต้องการบุคลากรไอทีรวมกันที่ 9.3 พันตำแหน่ง คิดเป็น 3.2% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบัน ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของ SMEs ของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าระดับการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม อย่างไรก็ดี การตอบสนองความต้องการในด้านแรงงานไอทีของ SMEs  ยังมีความท้าทายที่ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมมือกันหาทางออก ได้แก่ การผลิตแรงงานด้านไอทีตั้งแต่ระดับสถานศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณที่ตรงกับความต้องการ การยกระดับ SMEs  ให้มีทัศนคติที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และการจับคู่ (matching) ให้สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานและความต้องการของธุรกิจ

บทความโดย

Economic Intelligence Center - TeamData  

ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ติดท็อป 5 ‘Best Taiwan Global Brands’ 7 ปีซ้อน ขับเคลื่อน Edge AI ด้วยมูลค่า 2.8 หมื่นล้าน

แอดวานซ์เทค (Advantech Co., Ltd.) ผู้นำด้านอุตสาหกรรม IoT ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกของ "2024 Best Taiwan Global Brands" ด้วยมูลค่าแบรนด์ 851 ล้านดอลลาร์...

Responsive image

PLEX MES ก้าวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วย Smart Manufacturing Solutions

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการแนะนำ PLEX MES โซลูชันที่เปรียบเสมือน "สมองดิจิทัล" สำหรับโรงงานยุคใหม่ ระบบนี้ถูกออกแบบ...

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...