ตู้ตรวจเชื้อ Swab Test ช่วยคัดกรองไวรัสได้ดี รพ. แจ้งขอรับได้ที่ศูนย์นวัตกรรมสู้ COVID-19 สจล. | Techsauce

ตู้ตรวจเชื้อ Swab Test ช่วยคัดกรองไวรัสได้ดี รพ. แจ้งขอรับได้ที่ศูนย์นวัตกรรมสู้ COVID-19 สจล.

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช รับมอบตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) จากศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมเปิดเผยว่าตู้ดังกล่าวสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับการคัดกรองโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย รองรับปริมาณการคัดกรองผู้ป่วยต่อวันได้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ สจล. ได้ส่งมอบตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 4 ตู้ และโรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 1 ตู้ พร้อมด้วยนวัตกรรมสู้โควิด-19 อาทิ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ (Med Transporter Robot) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C และเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคในระบบปิด โดย สจล. พร้อมส่งต่อนวัตกรรมดังกล่าว ให้แก่โรงพยาบาลทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดและหน่วยงานที่สนใจและแจ้งความจำนงเข้ามา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งเตรียมผลิตและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการทั่วประเทศ

สำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อสอบถาม และรับคำแนะนำด้านการพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ดำเนินงานโดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) LINE ID: @825adigj โทร. 0809861242, 0853820960 หรือ 091-812-0416 หรืออีเมล [email protected] ทั้งนี้ สจล. ยังเปิดระดมทุนบริจาคเพื่อต่อยอดการผลิตและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยหากประชาชนสนใจสามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี  สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0

พลอากาศตรี ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการจัดตั้งคลินิกโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เป็นจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้ารับการตรวจเชื้อถึงวันละ 100 – 200 คน ผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองเบื้องต้นและมีความเสี่ยงติดเชื้อจะต้องตรวจคัดกรองในขั้นตอนต่อไป ด้วยวิธีการ PCR ซึ่งใช้การ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้ม เพื่อน้ำสารดังกล่าวไปตรวจเชื้อ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์ จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง นวัตกรรมตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) จะช่วยให้การตรวจคัดกรองเป็นไปอย่างปลอดภัย ด้วยหลักการทำงานที่สามารถกักเก็บเชื้อไม่ให้แพร่กระจายสู่อากาศภายนอก ช่วยประหยัดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งทำให้การ Swab เชื้อของผู้เสี่ยงติดเชื้อแต่ละคนทำได้รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น นวัตกรรมดังกล่าวจึงนับว่าเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หลังจากที่ สจล. ได้เปิดตัว ศูนย์รวมนวัตกรรมสู้โควิด-19 (KMITL GO FIGHT COVID-19) โดยทีมนักวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สจล. อีกทั้งได้เปิดระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ แจกจ่ายแก่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่มีความต้องการ โดยมีความพร้อมนำเงินทุนดังกล่าวมาต่อยอดการผลิตต้นแบบนวัตกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มกำลัง อาทิ ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันบวก และความดันลบ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ (Med Transporter Robot) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C และเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคในระบบปิด เป็นต้น โดย สจล. มุ่งหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ผลิตตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) โดยการใช้งานของตู้ดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ผู้เข้ารับการตรวจเชื้อเข้าไปนั่งในจุดที่กำหนด เพื่อให้แพทย์สอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วย ผ่านระบบเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยแบบปลอดเชื้อ โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบ พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตู รวมถึงควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการ อีกทั้งมีระบบฆ่าเชื้อด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ และหลอดไฟฆ่าเชื้อ UV ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจเชื้อรายต่อไป นอกจากนี้ตู้ดังกล่าวยังถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่างๆ ตามความต้องการใช้งาน

โดยล่าสุด สจล. ได้ส่งมอบ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 4 ตู้ และโรงพยาบาลราชวิถีจำนวน 1 ตู้ พร้อมด้วยนวัตกรรมสู้โควิด-19 อาทิ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ (Med Transporter Robot) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C และเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคในระบบปิด ซึ่งก่อนหน้านี้ สจล. ได้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 5 โรง โดยแผนการต่อไป สจล. เตรียมเดินหน้าผลิตนวัตกรรมการแพทย์อีกจำนวนมาก เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่แจ้งความจำนงขอรับนวัตกรรมสู้โควิด-19 กว่า 70 โรงพยาบาล รศ.ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...