Thai Union Feedmill ขยายตลาดอาหารสัตว์เศรษฐกิจออกต่างประเทศ เร่งสร้าง Food Supply Chain ในภูมิภาคเอเชีย | Techsauce

Thai Union Feedmill ขยายตลาดอาหารสัตว์เศรษฐกิจออกต่างประเทศ เร่งสร้าง Food Supply Chain ในภูมิภาคเอเชีย

‘บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์’ หรือ TFM ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของคนไทย ชู 3 กลยุทธ์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ผู้นำในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน พร้อมขยายตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพเติบโต นำร่องอินเดีย ปากีสถานและอินโดนีเซีย เพื่อเสริมความมั่นคงด้าน Food Supply Chain แก่อุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคเอเชีย 

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญของโลก เนื่องจากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่มีเพียงพอสำหรับส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น โดยผลผลิตสัตว์น้ำที่มีการส่งออกสูง ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็น กุ้งสดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์กุ้ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2563 

ขณะที่แหล่งที่มาของผลผลิตสัตว์น้ำในประเทศมาจาก 2 แหล่งที่สำคัญ คือ การจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์น้ำบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก โดยข้อมูลประมาณการของกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมงฯ ประเมินผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศไทยในปี 2563 ทั้งสิ้นกว่า 3,498,137 ตัน แบ่งเป็นผลผลิตที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 2,553,101 ตัน และมาจากการเพาะเลี้ยงประมาณ 945,036 ตัน 

สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำมักจะประกอบไปด้วยหลากหลายภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เริ่มตั้งแต่ 1) ธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบให้กับธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) ธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและธุรกิจประมง ซึ่งเป็นผู้จัดหาผลผลิตสัตว์น้ำนำส่งให้แก่ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล และ 3) ธุรกิจปลายน้ำ เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าอาหารทะเลสดให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจำหน่ายและส่งออกไปยังตลาดหลักต่างๆ ของโลก ทั้งนี้ ทุกธุรกิจที่กล่าวมานั้น ล้วนเกี่ยวโยงกันในรูปแบบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งกลุ่ม TU ให้ความสำคัญมากที่สุด เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับ Food Supply Chain แก่อุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคเอเชีย

นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของคนไทย โดยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี สั่งสมองค์ความรู้รวมถึงมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้า ภายใต้วิสัยทัศน์ของ TFM คือการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาบริษัทฯ มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ครอบคลุมการเพาะเลี้ยงตลอดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำในราคาที่แข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตของลูกค้ากลุ่มเกษตรกรในประเทศและยกระดับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย

ปัจจุบัน TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดอาหารกุ้ง ประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณอาหารกุ้งไทย (ปี 2563) และมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารกุ้ง ณ ไตรมาส 1/64 ร้อยละ 43.3
     
  2. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง ปลาเก๋า เป็นต้น (2) อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล ปลาดุก (3) อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ (4) อาหารกบ โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารปลากระพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารปลากะพงประมาณร้อยละ 24 ของปริมาณอาหารปลากระพงไทย (ปี 2563) และมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารปลา ณ ไตรมาส 1/64 ร้อยละ 41.4

  3. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) อาหารสุกร (2) อาหารสัตว์ปีก ได้แก่ อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารนกกระทา โดยบริษัทฯ เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกปลายปี 2561 และปริมาณการขายอาหารสัตว์บกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารสัตว์บก ณ ไตรมาส 1/64 ร้อยละ 10.5

บริษัทฯ มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมทั้งหมด 288,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 168,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตอาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี ภายใต้ระบบการผลิตที่ทันสมัยทั้งแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่ควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้าแต่ละขั้นตอนการผลิตที่สำคัญทั้งหมดในโรงงานจังหวัดสมุทรสาครและสงขลา จึงทำให้สามารถติดตามข้อมูลในระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 แนวทาง เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย 1) รักษาและพัฒนาความเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายเดิมและลูกรายใหม่ โดยเข้าไปศึกษาข้อมูลช่วยแก้ไขปัญหา หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม 2) การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผ่านการลงทุนและจัดหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และ 3) ขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต เริ่มจากประเทศอินเดีย ไปยังปากีสถาน และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชีย

“เรามีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงมีศักยภาพเติบโตจากตลาดในประเทศ ผ่านการขยายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ และตลาดต่างประเทศผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การเข้าทำสัญญาความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น, การเข้าจัดตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศกับพันธมิตรท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งเน้นขยายโอกาสไปสู่ประเทศที่มีการเติบโตสูง ทั้งอินเดียและอินโดนีเซีย เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายบรรลือศักร กล่าว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...