มูลนิธิชัยพัฒนา-DTAC-NECTEC ลงนาม MOU วิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ด้วย 5G, IoT และ Machine learning | Techsauce

มูลนิธิชัยพัฒนา-DTAC-NECTEC ลงนาม MOU วิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ด้วย 5G, IoT และ Machine learning

มูลนิธิชัยพัฒนา-DTAC-NECTEC ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 2 ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  นำเทคโนโลยี 5G พร้อม IoT และ Machine Leaning เดินหน้าพัฒนาการเกษตรแม่นยำต่อไป หลังประสบความสำเร็จเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวอุณหภูมิเลขตัวเดียวสำเร็จ มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ในการบริหารจัดการสำหรับการเพาะปลูกในโรงเรือน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

มูลนิธิชัยพัฒนา-DTAC-NECTEC ลงนาม MOU วิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ด้วย 5G, IoT และ Machine learningดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ลงนามในสัญญาร่วมวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม (RD&E Co-RESEARCH CONTRACT) โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 2 ร่วมกับนายบุญชัย เบญจรงคกุล (ที่ 5 จากซ้าย) ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) โดยมีนายดนุชา สินธวานนท์ (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการและรองเลขาธิการ พร้อมด้วยนายประเทศ ตันกุรานันท์ (ขวาสุด) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค และ ดร. พนิตา พงษ์ไพบูลย์ (ซ้ายสุด) รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องตั้งแต่การทดลองครั้งแรกในฤดูหนาวปี พ.ศ. 2562 ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนาการทดลองและอุปกรณ์ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนได้มีความใกล้เคียงสภาพแวดล้อมจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นความร่วมมืออย่างในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงวิชาการและเทคโนโลยีด้านการผลิต อันจะนำไปสู่การปฏิรูปเทคโนโลยี (technology disruption) เพื่อเตรียมรับปรับตัวล่วงหน้าสู่สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) ด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาบริหารจัดการในโรงเรือนขยายผลสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรในยุคดิจิทัล เพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อนำเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ อันเป็น ‘ชัยชนะแห่งการพัฒนาที่แท้จริง’ โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้ก้าวสู่ปีที่ 4 และนำเทคโนโลยี 5G ที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการศึกษาเชิงลึกการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยความร่วมมือที่ผ่านมาได้สามารถประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวอุณหภูมิเลขตัวเดียวสำเร็จ รวมทั้งเราได้นำเทคโนโลยี IoT เซนเซอร์ กล้องบันทึกภาพ และเครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ ที่จำเป็นร่วมกับเนคเทค สวทช. มาสู่การวิจัยในโครงการฯ ซึ่งเราพบกว่าเห็ดหลินจือมีลักษณะทางชีวภาพที่พิเศษและค่อนข้างอ่อนไหวง่ายกับสภาพแวดล้อม เราจะต่อยอดโครงการวิจัยด้วยการนำเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชัน Machine learning และ Artificial intelligence หรือ AI และระบบคลาวด์ เข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย และเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในโรงเรือนมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ สู่การหาค่าพารามิเตอร์กลางที่แม่นยำ มุ่งเป้าหมายสู่การเพิ่มผลผลิตเห็ดหลินจืออย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรในยุคดิจิทัล”

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 นี้ ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต สร้างให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง หรือเป็นต้นแบบสำหรับผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังได้ผนึกกำลังจากหน่วยงานภายใน สวทช. คือ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) เข้าร่วมทำการศึกษาวิจัย โดยทดสอบปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในตู้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือ Growth Chamber ซึ่งสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่ต้องการ ร่วมกับนำข้อมูลเซนเซอร์และภาพที่ได้เก็บบันทึกไว้มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI วางแผนการทดลองเพื่อค้นหาสูตรการผลิตที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด และจะนำสูตรการผลิตที่ค้นพบนี้ ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ต่อไป”

ความร่วมมือโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่2 คือ พันธกิจครั้งสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ลงพื้นที่ศึกษาและวิจัย เมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จากความร่วมมือในระยะที่ 1 จนมาถึงวันนี้ และความร่วมมือครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นยังมุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าสำหรับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องอีก 3 ปี และจะมีต่อเนื่องต่อไป เพื่อหลอมรวมสู่เป้าหมายที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ คือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศในที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

“Money 20/20 Asia” ปักหมุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ 3 ปี ส่งเสริมไทยสู่ศูนย์กลางฟินเทคชั้นนำของเอเชีย

เปิดประตูบานใหม่สู่ “Money 20/20 Asia” ครั้งแรกของเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 ที่ดึงดูดผู้คร่ำหวอดด้านฟินเทค และบริการทางการเงินกว่า 20,00...

Responsive image

เตรียมพบกับงานสัมมนา Social Value thailand Forum 2024 เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานสัมมนาเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม Accelerating Education and Partnership for the SDGs...