มหาเศรษฐีเอเชียจะก้าวสู่การเป็นคนรวยที่สุดในโลกได้หรือไม่ | Techsauce

มหาเศรษฐีเอเชียจะก้าวสู่การเป็นคนรวยที่สุดในโลกได้หรือไม่

รายงานจาก Nikkei Asia เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ระบุถึงสัดส่วนอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปเยอะที่สุดในโลก ในจำนวน  951 คน จากเดิมในปีที่แล้วที่มีจำนวน 899 คน ตามด้วยอเมริกาเหนือที่มีจำนวนมหาเศรษฐีที่เหลือเพียง 777 คน และยุโรป 536 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2022) ซึ่งแต่เดิมผู้ครอบครองความมั่งคั่งมากที่สุดในโลกอันดับแรกๆ นั้นมักเป็นผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจชาวตะวันตกมาอย่างยาวนาน

ชาวเอเชียกำลังก้าวสู่บันไดความมั่นคั่งระดับโลก

ส่วนใหญ่มหาเศรษฐีของโลกสะสมความร่ำรวยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ได้สร้างความมั่งคั่งมากที่สุด ซึ่งเป็นผู้นำคลื่นแห่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการเงิน ตามด้วยนักอุตสาหกรรมหน้าใหม่ในเอเชียรวมถึง Emerging Country หรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการเติบโต การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจมหภาค โลกาภิวัตน์ และการขยายตัวของเมือง อสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น ได้สร้างมหาเศรษฐีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค และนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

ข้อมูลจากการสำรวจที่ต่อเนื่องจากหลายสำนักชี้ไปทิศทางเดียวกันว่า ชาวเอเชียกำลังก้าวสู่บันไดความมั่นคั่งระดับโลกอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะจีน ที่ได้สร้างส่วนแบ่งที่สำคัญ พิจารณาจากสัดส่วนของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่เป็นชาวเอเชียนั้นเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ และกำลังจะมากกว่าทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตามการฟื้นฟูของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริบทของโลกาภิวัตน์ที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสาร

จากรายงาน Global Wealth Report ที่เผยแพร่โดย Credit Suisse เมื่อเดือนกันยายน พบว่า ระหว่างปี 2000 ถึง 2021 มูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองโดยกลุ่มคนที่ร่ำรวยในอินเดียและจีน พุ่งสูงขึ้น 11 เท่า และ 34 เท่าตามลำดับ ในขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.6 และ 1.2 เท่า

ปรากฎการณ์ล่าสุดที่รับรู้โดยทั่วกัน โดย Gautam Adani มหาเศรษฐีชาวอินเดีย วัย 60 ปี ที่กลายเป็นคนเอเชียคนแรกที่ติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดอันดับสองของโลกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (อันดับหนึ่ง ณ ปัจจุบัน คือ Elon Musk) ด้วยจำนวนทรัพย์สิน 10,94,400 สิบล้านรูปีหรือมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่เขาอยู่ในอันดับสามในปลายเดือนสิงหาคม 

โดยความมั่งคั่งของ Adani เพิ่มขึ้นกว่า 116% ในช่วงหนี่งปีที่ผ่านมา รายได้ของเขามาจากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน, สินค้าโภคภัณฑ์, พลังงาน และอหังสาริมทรัพย์  Adani  ยังเป็นเจ้าของท่าเรือพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียรวมถึงธุรกิจเหมืองแร่ด้วย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการวิเคราะห์สินทรัพย์ที่ถือครองโดยมหาเศรษฐี 2,400 คนทั่วโลก บน 'Real-Time Billionaires List' ของ Forbes ถึงแม้ว่าเอเชียจะมีจำนวนมหาเศรษฐีมากแซงหน้าอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีผลรวมมูลค่าสุทธิที่น้อยกว่า 

โดยมหาเศรษฐีทั้งหมดในอเมริกาเหนือถือครองสินทรัพย์มีมูลค่า 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเอเชียที่ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ และทวีปยุโรปที่ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้หากเทียบในระดับประเทศ สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่มีอันดับมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 719 คน ตามมาด้วยอันดับสองประเทศจีน 440 คน และอันดับสามประเทศอินเดีย 161 คน นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ไต้หวัน 45 คน สิบประเทศอาเซียนรวมแล้ว 114 คน เกาหลีใต้ 28 คนและญี่ปุ่น 27 คน

แล้วมหาเศรษฐีเอเชียจะขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของมหาเศรษฐีโลกได้หรือไม่ 

หากย้อนกลับไปดูในปี 2018 คือ ปีที่เอเชียแซงหน้าในแง่ของจำนวนมหาเศรษฐีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดย ฮ่องกง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น World’s Most Expensive Cities ประชากรมหาเศรษฐีของเมืองเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในสาม เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในปัจจุบันจากรายงานของ Nikkei Asia ฮ่องกง ยังคง Average Net Worth เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8

อ้างอิง : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Datawatch/Asia-has-over-950-billionaires-outnumbering-all-other-regions

การเติบโตของจำนวนมหาเศรษฐีในเอเชียเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ Soichiro Matsumoto CIO ของ Credit Suisse Wealth Management ในญี่ปุ่นกล่าวว่า ความมั่งคั่งของชาวเอเชียที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจาก “ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น” ในขณะที่มหาเศรษฐีระดับโลกส่วนใหญ่มาจากการเป็นเจ้าของกิจการ การเข้าไปถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทระดับโลก มากกว่าจะถือครองอหังสาริมทรัพย์  

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของเอเชีย การขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการเทคในวงการธุรกิจเทคโนโลยีและ และ วงการ Health Care  โดยเอเชียมีสัดส่วนของมหาเศรษฐีที่มาจากเซคเตอร์ Tech และ Health Care สูงที่สุดในโลก (อ้างอิงจากปี 2020) ยกตัวอย่างเช่น Ma HuaTeng ประธานบริษัท Tencent บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในจีน Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group ที่มีอิทธิพลทางการค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  Zhang Yi Ming ผู้ก่อตั้ง Bytedance ที่มีบริษัทลูกอย่าง Tiktok แพลตฟอร์มวีดิโอสั้นยอดนิยมในขณะนี้  Mukesh Ambani ผู้ก่อตั้ง Reliance Industries เจ้าใหญ่แห่งอินเดีย ที่ลงทุนในปิโตรเคมี แก๊ซ น้ำมัน โทรคมนาคม ไปจนถึงค้าปลีก เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก The Guardian ที่อ้างอิงจาก Oxfam International ที่ระบุว่า “โรคระบาดสร้างมหาเศรษฐีใหม่ทุกๆ 30 ชั่วโมง มหาเศรษฐีในภาคอาหารและธุรกิจพลังงานมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านดอลลาร์ทุกๆ สองวัน” โดย ในช่วงหลังจากแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2022 ทำให้มหาเศรษฐีเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 20 คน เนื่องจากผลกำไรจากยา อุปสงค์ของสินค้าบริการที่จำเป็นสำหรับการรับมือโรค เช่น Li Jianquan จาก Winner Medical ผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) , Dai Lizhong จาก Sansure Biotech ที่ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรค  

อุปสรรคจากมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น 

ตลาดที่ซบเซา ทำให้ปี 2022 นี้ไม่โสภาเท่าไหร่นักสำหรับเหล่าเศรษฐี  ในปีนี้รายชื่อคนรวยรอบโลกลดลงไป 87 คนจากปีที่แล้ว มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิก็ลดลงไป 400 แสนล้านดอลลาร์ จำนวนคนมหาเศรษฐีเดิมลดลงถึง 245 คน ชาวเอเชีย 126 คน และชาวอเมริกาเหนือ 27 คน

มหาเศรษฐีชาวเอเชียกำลังเผชิญกับผลกระทบที่มีนัยสำคัญ เช่น มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของสถาบันการเงินทั่วโลก ราคาหุ้นตกและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ทำให้ค่าเงินในประเทศโซนเอเชียลดลงอย่างพร้อมเพรียงกันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 

นอกจากนี้บางประเทศในเอเชีย เช่น จีน ประเทศที่มีมหาเศรษฐีเยอะเป็นอันดับสองของโลกที่ต้องเผชิญ นโยบาย Common Prosperity หรือ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ที่รัฐบาลต้องการลดอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการให้มหาเศรษฐีเลือกบริจาคโดยสมัครใจหรือลดปริมาณทรัพย์สินตนเองลง อีกทั้งนโยบายป้องกันการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำให้มหาเศรษฐีจีนจากภาคส่วนเทคโนโลยีเหลือเพียง 3 คนเท่านั้นใน Top 20 จากที่เคยติดถึง 9 คนในปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มหาเศรษฐีจีนอาจจะไปไม่ถึงที่สุดของโลก  

อย่างไรก็ตาม Credit Suisse คาดว่าภายในปี 2026 จำนวนมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นสองเท่าในจีนและอินเดียเมื่อเทียบกับปี 2021 ด้วยเหตุผลที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา คนร่ำรวยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วแม้ปัจจุบันชาวเอเชียจะยังไม่สามารถขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ของผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกได้ แต่จำนวนมหาเศรษฐีในเชียจะยังคงเพิ่มจำนวนต่อไปแน่นอน 

อ้างอิง : NIKKEI ASIA, Business Insider, South China Morning Post ,Forbes 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมความสำเร็จของ Bruno Mars มาจากความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ทักษะทางดนตรี?

หลายคนคงรู้จัก Bruno Mars นักร้องชื่อดังที่มีเพลงฮิตติดหูมากมาย แต่ความสำเร็จในวันนี้ นอกจากความสามารถทางดนตรีแล้ว เจ้าตัวเผยว่า ‘ความซื่อสัตย์’ ต่อสิ่งที่ทำ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญท...

Responsive image

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ มาจากคอนเนคชั่นและการเลือกคบคน บทเรียนสำคัญของ Mark Zuckerberg

Mark Zuckerberg ชี้การเลือกสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์นั้นอาจสำคัญกว่าเป้าหมายเสียอีกเพราะการที่เราจะเติบโตขึ้นไปเป็นใครสักคนหนึ่ง ผู้คนที่เราคบหาส่งผลอย่างมากต่อตัวตนของเรา...

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...