ในปีที่ผ่านมา การประชุม COP26 (Conference of the Parties) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ หลายประเทศร่วมให้คำมั่นสัญญาว่า จะใช้เงินลงทุนเพื่อสนับสนุนด้านสภาพอากาศมากขึ้น แต่กลับขาดการให้คำมั่นสัญญาระดับชาติ นั่นคือ การจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศา
ส่วนการประชุม COP27 ที่จะจัดขึ้นในอียิปต์ จึงเป็นโอกาสและวาระสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ร่วมกับการปกป้องช่วยเหลือผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อหรือตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ไม่ใช่ทุกคนที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยเฉพาะ ผู้หญิง เด็กหญิง และ ชาวชุมชนชายขอบ ในหลายประเทศที่ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว และมากยิ่งขึ้นเมื่อเจอสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นไปอีก ความไม่เท่าเทียมทางเพศก็เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ
หากสังเกตและดูบทวิเคราะห์ต่างๆ อาจพบว่า วิกฤตใดๆ ที่เกิดขึ้นกับประชากรโลก ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าใคร รวมถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็คือกลุ่มคนที่ระบุไว้ข้างต้น ดังที่ World Economic Forum เปิดเผยว่า "ผู้หญิง เด็ก โดยเฉพาะเด็กหญิง และคนที่อยู่ตามชุมชนชายขอบมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญทั้งปัญหาความยากจน การขาดสารอาหาร ไปจนถึงการสูญเสียชีวิต ในอีก 9 ปีข้างหน้า"
นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลอีกว่า สถานการณ์ COVID-19 ระบาด ทำให้ชาวโลก 150 ล้านคน ต้องประสบกับความยากจนขั้นรุนแรง และภายในปี 2030 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะผลักดันให้ชาวโลกอีก 132 ล้านคน เข้าสู่ภาวะยากจนขั้นรุนแรง
เพื่อให้ชาวโลกอยู่รอดได้อย่างปกติสุข จึงเกิดเสียงเรียกร้องและการมุ่งให้ความสำคัญเรื่อง ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ (Climate Justice) ด้วยเห็นว่า มาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่สุดจะสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้สังคมในวงกว้าง และยังเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อีกด้วย
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ช่วยสร้างความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศที่หลายคนอาจมองข้าม คือ การเปิดโอกาสให้ ‘ผู้หญิง’ เข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่เพียงแต่ช่วยให้การแก้ปัญหาสภาพอากาศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยสร้าง ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ข้อ 5 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้บรรลุเป้าหมายอีก 16 ข้อได้ด้วย โดยในการประชุม COP27 ผู้นำหรือผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า พวกเขากำลังดำเนินการเพื่อความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ ซึ่งมีอยู่ 3 ขั้น ดังนี้
ผู้หญิง เด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง รวมถึงคนที่อาศัยตามชุมชนชายขอบ ต้องเป็น ผู้ได้รับประโยชน์หลักจากการจัดหาเงินทุนเพื่อสภาพอากาศ และสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่อยู่ทางตอนใต้ของโลก ที่อาจไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการเงินเพื่อสภาพอากาศ ได้อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว
และเมื่อดูตามหลักการของการสร้างความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ ระบุไว้ชัดเจนว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง (GHG) ในอดีต ควรรับภาระในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสภาพอากาศเป็นสำคัญ และเพื่อสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพอากาศให้แก่ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้วควรพิจารณาอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมร่วมด้วย ไม่ใช่แค่อัตราการปล่อยก๊าซในปัจจุบัน
แม้ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้แผนการเงินด้านสภาพอากาศ ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่หากย้อนดู 10 ปีที่ผ่านมา แผนการเงินด้านสภาพอากาศโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 632 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2019/2020
ผู้หญิงและชุมชนชายขอบต้องส่งคนเข้าร่วมในการประชุม COP27 เพื่อเป็นตัวแทนในการตัดสินใจ เนื่องจากบนเวที COP26 กล่าวกันว่า เป็นการประชุมที่มีแต่ตัวแทนที่เป็นผู้ชาย ทำให้สิทธิ/เสียงของผู้หญิงและผู้ที่อยู่ตามชุมชนชายขอบแผ่วลงไปอีก
แนวทางการลงทุนต้องเน้นไปที่ การเพิ่มความยืดหยุ่นของสภาพอากาศ และเป้าหมายหลักของการลงทุนด้านสภาพอากาศ ต้องดำเนินการเพื่อช่วยผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่การช่วยบริษัทขนาดใหญ่อย่างในอดีต ที่นำงบ 90% ของการลงทุนเพื่อสภาพอากาศไปใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งที่จริง บริษัทขนาดใหญ่มีช่องทางในการหาแหล่งเงินทุนอยู่แล้ว
เพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศ การประชุม COP27 ประจำปีนี้ ผู้นำและผู้แทนที่ร่วมประชุมจึงต้องใส่ใจทั้งประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ และแผนดำเนินงานในอนาคตที่ครอบคลุมและปรับให้เกิดความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ตลอดจนความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาค ความยากจน ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม หากผู้นำทำให้เกิดความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศไม่สำเร็จ เป้าหมายที่เป็นสาระสำคัญของการประชุม COP27 อาจมลายหายไป ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนที่หนาขึ้นหรือคำมั่นสัญญาจากผู้นำระดับโลก...
ถึงตอนนั้นก็อาจไร้ความหมาย
.....................................
แหล่งอ้างอิง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด