ก่อนหน้าที่ USTR จะประกาศยกเลิกสิทธิ Generalized System of Preference (GSP) ของไทยเพิ่มเติม สหรัฐฯ ได้ยกเลิกสิทธิ GSP ในรอบแรกไปแล้วซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา เนื่องจาก USTR กล่าวหาว่ามาตรฐานแรงงานของไทยที่ไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล โดยมีสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ 573 รายการ ครอบคลุมมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.5% ของมูลค่าการส่งออกรวม) ซึ่งสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สุขภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหาร (ผลิตภัณฑ์ถั่ว, เส้นพาสต้า, เนื้อปู) และเครื่องประดับ (สร้อยทอง และหินอัญมณี) (อ่านเพิ่มเติม EIC Note : อีไอซีประเมินการตัดสิทธิ GSP จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีการพึ่งพาสิทธิ GSP สูง แต่ผลต่อการส่งออกรวมมีจำกัด)
สำหรับในรอบล่าสุด USTR ได้ประกาศตัดสิทธิ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2020 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2020 เป็นต้นไป โดยรายการสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิในครั้งนี้ครอบคลุมมูลค่าราว 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท (0.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม) โดย USTR กล่าวหาว่าการเปิดตลาดเนื้อสุกรของไทยที่ไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากไทยมีความกังวลด้านการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนทำให้มีมาตรการกีดกันการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ
1) สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่จะถูกตัดสิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% ต่อการส่งออกรวม โดยจากรายการสินค้าที่ไทยโดนตัดสิทธิในรอบนี้ที่มี 231 รายการ มีเพียง 147 รายการที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP จริง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ รวมที่ 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ทั้งที่ใช้และไม่ใช้สิทธิ GSP) แต่มูลค่าส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP จริงมีเพียง 602 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.2% ของการส่งออกรวมเท่านั้น
2) สินค้าที่จะโดนตัดสิทธิ GSP จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายไม่มากนัก โดยการตัดสิทธิ GSP จะทําให้สินค้าส่งออกที่โดนตัดสิทธิถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมในช่วง 0% ถึง 12.5% แล้วแต่ประเภทสินค้า ซึ่งมีค่าเฉลี่ยถ่วงนํ้าหนักของอัตราภาษี (weighted effective tax rate) ที่จะถูกจัดเก็บเพิ่มเติมอยู่ที่ 3.1% หรือคิดเป็นมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายประมาณ 18.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้หากมีสมมติฐานให้ธุรกิจส่งผ่านภาษีที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้บริโภคทั้งหมด โดยที่ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกไทยนั้นไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง (เช่นค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.1% และจากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยสรุปไว้ว่าค่าความยืดหยุ่นด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย (price elasticity) มีค่าในช่วง 0.3% – 0.6% ทําให้ได้ข้อสรุปว่ายอดขายสินค้าส่งออกไทยที่จะโดนตัดสิทธิ GSP มีแนวโน้มลดลงประมาณ 0.001% - 0.003% ต่อการส่งออกรวมทั้งหมด (ราว 3.2 – 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ผลกระทบต่อสินค้าแต่ละประเภทจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยความยืดหยุ่นต่อราคา โดยหากสินค้าที่โดนตัดสิทธิเป็นสินค้าที่ถูกทดแทนได้ง่ายหรืออาจไม่ค่อยเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ (มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง : high price elasticity) ผลกระทบจะมีค่อนข้างมาก ผู้ส่งออกจึงอาจต้องยอมลดราคาสินค้าก่อนรวมภาษีนําเข้าของทางสหรัฐฯ เพื่อให้ราคาขายที่รวมภาษีแล้วเพิ่มเล็กน้อยซึ่งจะทําให้กําไรต่อหน่วยลดลง ในทางกลับกัน หากสินค้าที่โดนตัดสิทธิเป็นสินค้าที่ถูกทดแทนได้ยากหรือเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ (มีความยืดหยุ่นต่อราคาตํ่า : low price elasticity) ผลกระทบก็อาจมีจํากัด
นอกจากนี้ หากวิเคราะห์โดยละเอียด พบว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสมาสต์, ปิโตรเรซิน, ซิลิคอน, ภาชนะอะลูมิเนียมทรงกระบอก, โลหะสำหรับยึดและติดตั้ง, ประแจ และตะปูควง โดยมีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ 3 ด้าน ได้แก่
โดยจากเกณฑ์ข้างต้น สามารถแสดงผลได้ดังรูปที่ 1 ซึ่งสังเกตได้ว่าสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงส่วนใหญ่จะกระจุก ตัวอยู่มุมขวาล่างของภาพ สะท้อนว่าสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP สูง แต่จะโดนภาษีเพิ่มเติมในระดับที่ไม่สูงนัก (สินค้าสำคัญที่มีมูลค่ามากคือ ชิ้นส่วนรถยนต์จำพวกแกนพวงมาลัยและกระปุกเกียร์) จึงทําให้เข้าข่ายความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) ขณะที่สินค้าที่มีความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีแดง) คือสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิ GSP ในระดับสูง และจะโดนเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นมาก ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสมาสต์, ปิโตรเรซิน, ซิลิคอน, ภาชนะอะลูมิเนียมทรงกระบอก, โลหะสำหรับยึดและติดตั้ง, ประแจ และตะปูควง
รูปที่ 1 : สินค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากจากการตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสมาสต์, ปิโตรเรซิน, ซิลิคอน, ภาชนะอะลูมิเนียมทรงกระบอก, โลหะสำหรับยึดและติดตั้ง, ประแจ และตะปูควง
หมายเหตุ : มีบางประเภทสินค้าที่มีจัดเก็บอัตราภาษีต่อปริมาณนำเข้า เช่น 1.5 cent/Kilogram EIC ทำการคำนวณ implied tax rate ของสินค้าประเภทดังกล่าวจากข้อมูลปริมาณและมูลค่านำเข้าสินค้าของปี 2019 เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบกับ tax rate ของสินค้าประเภทอื่นได้
แม้ว่าผลกระทบจากการโดนตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติมจะมีไม่มากนัก แต่จากผลกระทบสะสมของการโดนตัดสิทธิ GSP ในรอบก่อนหน้า รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับกระแสการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) ที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า และทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้ โดยแม้ว่าผลกระทบจากการตัดสิทธิในรอบนี้จะมีไม่มากตามรายละเอียดในช่วงต้น แต่หากรวมกับสินค้าที่โดนตัดสิทธิในรอบก่อนหน้า
พบว่ามีมูลค่าที่โดนตัดสิทธิรวมที่ 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 0.8% ของการส่งออกรวม (ตารางที่ 1) ซึ่งทำให้มูลค่าส่งออกของไทยที่ได้รับสิทธิ GSP หายไปกว่า 40% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ในปี 2019 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกของปีนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 และยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระยะข้างหน้า นโยบายการปกป้องทางการค้า (Protectionism) ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ผ่านมาตรการกีดกันทางการค้าจากการขึ้นภาษี การยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) รวมถึงการแข็งค่าสะสมของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง (Nominal Effective Exchange Rate : NEER ซึ่งแข็งค่าถึง 18.6% นับตั้งแต่ปี 2014 จนถึง ตุลาคม 2020) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า และทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องตระหนักถึงความเสี่ยงรอบด้านที่มีในอนาคต โดยอาจต้องมีแผนลดการพึ่งพาผลประโยชน์ทางภาษีหรือเน้นแข่งขันด้านราคาลดลง และหันไปปรับตัวและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง เช่น การหาตลาดใหม่รองรับผลกระทบ การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกระแสโลก และการพัฒนากลยุทธ์การขายสินค้า เป็นต้น เพื่อที่จะสามารถรักษาหรือขยายฐานตลาดส่งออกได้ในระยะต่อไป
บทวิเคราะห์โดย https://www.scbeic.com/th/detail/product/7180
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด