Goodbye FamilyMart Welcome Tops Daily สู่สมรภูมิร้านสะดวกซื้อ | Techsauce

Goodbye FamilyMart Welcome Tops Daily สู่สมรภูมิร้านสะดวกซื้อ

ปิดฉากร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง FamilyMart เป็นที่เรียบร้อย หลังจากกลุ่มเซ็นทรัล ขอรีแบรนด์ทำด้วยตัวเอง เนื่องด้วยสภาวะทางการเงินที่ขาดทุนถึง 5 ปีซ้อน พร้อมปรับกลยุทธ์มาเป็น Tops Daily สู้ศึกร้านสะดวกซื้อ ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2566 รีแบรนด์ครบทุกสาขาทั่วประเทศ

นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ของวงการธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่ผู้บริโภคต้องโบกมือลาร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง FamilyMart แม้จะเข้าไปครองใจผู้บริโภคด้วย ‘โอเด้ง’ และ ‘กาแฟอาริกาโตะ’ แต่ก็ไปต่อไปไหว ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

บทความนี้ Techsauce ขอพาย้อนรอยเส้นทางธุรกิจของ FamilyMart ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาว่าอะไรเป็นปัจจัยและสาเหตุหลักที่สุดท้ายต้องบายเธอ ก่อนจะถูกปัดฝุ่นลงสู่สมรภูมิร้านสะดวกซื้ออีกครั้งในนามของ Tops Daily จากกลุ่มเซ็นทรัล

จากอาทิตย์อุทัย สู่ สยามประเทศ

ย้อนกลับไปในปี 2535 FamilyMart เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยโดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ ‘Siam FamilyMart’ ด้วยทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท และดำเนินการมาเรื่อยๆ จนมีสาขามากถึง 1,035 สาขา ทั่วประเทศ

ก่อนที่ในปี 2555 Family Mart จะถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ในมือของเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ที่ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาทตั้งเป้าเปิดสาขาให้ได้ 1,500 สาขาใน 5 ปี 3,000 สาขาใน 10 ปี พร้อมสัดส่วนหุ้น 50.29% และเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด

CRC พยายามผลักดัน Family Mart ให้เหนือคู่แข่งตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการขนสินค้าและบริการที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ทั้ง ตู้กดอาหารพร้อมทานอัจฉริยะ มุมกาแฟจากแบรนด์อาริกาโตะ เบเกอรี่ บาร์เครื่องดื่มเบียร์สด ไปจนถึงเข้าร่วมเป็นหนึ่งในร้านค้าพันธมิตรของเครือข่ายบัตร ‘The1’ Loyalty Program ของเซ็นทรัล ทำให้สมาชิกสามารถสะสมและแลกคะแนนที่ร้าน FamilyMart ได้ทุกสาขา

มาจนถึงปี 2563 ปี บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้บรรลุข้อตกลงการเข้าซื้อหุ้นบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัดจาก FamilyMart Co., Ltd. (JFM) จำนวน 5,757,500 หุ้น หรือคิดเป็น 49%  ส่งผลให้กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด อย่างเต็มรูปแบบ

ตัวเลขมันฟ้อง จนต้องเคลียร์คัท

นับตั้งแต่ปี 2561 - 2565 ตลอด 5 ปี ร้านสะดวกซื้ออย่าง FamilyMart เผชิญสภาวะทางการเงินที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก อ้างอิงจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่า

  • ปี 2561 มีรายได้ 17,884.6 ล้านบาท ขาดทุน 360.2 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีรายได้ 16,754.8 ล้านบาท ขาดทุน 182.5 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ 11,877.7 ล้านบาท ขาดทุน 281.4 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 7,481.8 ล้านบาท ขาดทุน 1,049 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้รวม 7,849.1 ล้านบาท กำไร 29.8 ล้านบาท

ทำให้เซ็นทรัลต้องปรับกลยุทธ์สู้ศึกครั้งนี้ใหม่ ด้วยการดึงแบรนด์ Tops Daily กลับมา เพราะเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น และเพื่อสร้างการจดจำในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกด้วยเช่นกัน

ทำนายอนาคตบนตัวเลข

ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฉายภาพแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2566 - 2568 ว่า ร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ท (Convenience Store)  จะมียอดขายเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จาก 4.5% ในปี 2565 เป็นผลจากการมีสาขาจำนวนมากกระจายไปในทุกพื้นที่ ทั้งยังมีการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและเพิ่มบริการการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง ด้วยความเข้มข้นในการแข่งขันทั้งการตลาดและประเภทสินค้า ตลอดจนบริการต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้ง รับชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบัตรเครดิต บริการ Delivery บริการฝากส่งพัสดุ ที่ร่วมกับพันธมิตร เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้ให้บริการด้าน E-commerce อีกทั้งเพิ่มจุดบริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ด้วย

โดยนับจากปี 2562 พบว่าร้านสะดวกซื้อมีการเติบโต 2.9% แต่กลับมาติดลบถึง 6.5% ในปี 2563 จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ภาครัฐสั่งควบคุมเวลาเปิดปิด ทำให้จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการลดลง และยังส่งผลต่อเนื่องมาในปี 2564 ทำให้การเติบโตยังคงติดลบที่ 4.5% ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ร้านสะดวกซื้อกลับมาเติบโตเป็นบวกอีกครั้งที่ 4.5% หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาลง

มีการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 3 ปีธุรกิจร้านสะดวกซื้อก็ยังคงมีการเติบโตเป็นบวกต่อไป จากการกลับมาเดินหน้าลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะเบอร์ 1 ในตลาดอย่าง ‘7-Eleven’ ภายใต้การนำของ CP All หรือ เบอร์ 2 อย่าง ‘Lotus Go Fresh’ โดย CP Axtra รวมถึงการกลับเข้าตลาดหุ้นของ ‘BigC Retail’ ที่เดินหน้าขยายการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกทั้งแบรนด์ BigC และ Mini BigC อย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าตอนนี้ Family Mart จะอยู่ในมือของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มเซ็นทรัล แต่ก็ยังอยู่ที่เบอร์ 4 ในส่วนแบ่งของตลาดอยู่ดี

Tops Daily เดินหน้าเต็มกำลัง Go Big or Go Home

ทั้งนี้ทาง ‘เซ็นทรัล รีเทล’ หรือ CRC ได้เริ่มทยอยรีแบรนด์ร้าน ‘FamilyMart’ เป็น ‘Tops Daily’ ทยอยปรับเปลี่ยนในหลายสาขา พร้อมๆ กับการเปลี่ยนโลโก้ในช่องทาง Online ที่มีการปรับหน้าเว็บไซต์บริการสั่งสินค้าออนไลน์เป็น Tops Daily แล้วทั้งหมด

ส่วนสินค้าข้างในยังมีสินค้าเหมือนเดิม ทั้ง โอเด้ง เมนูยอดฮิต Coffee Arigato กาแฟ-เครื่องที่จะยังคงมีวางจำหน่ายเหมือนเดิม เพื่อการเข้าถึงและพร้อมรองรับลูกค้าทุกท่านและให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน

อ้างอิงจาก Nikkei Asia ได้สัมภาษณ์ผู้บริโภคบางคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

“เสียดายที่จะไม่ได้รับประทานโอเด้ง และเห็นสินค้าจากญี่ปุ่นที่หลากหลาย” และอีกท่านให้ความเห็นว่า “ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนักกับการเปลี่ยนแปลง เพราะ Tops มีสินค้าที่หลากหลายเหมือนกัน”

Kenichi Shimomura หัวหน้าฝ่าย Asia Japan แห่งบริษัทที่ปรึกษาอย่าง Roland Berger ก็มองว่า “เซ็นทรัลน่าจะซึมซับการทำธุรกิจสไตล์ญี่ปุ่นแบบ FamilyMart มาบ้างและน่าจะนำความรู้ดังกล่าวมาประกอบธุรกิจให้ดีต่อไปได้”

To be Continued

FamilyMart ก็มีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทย ขณะที่ 7-Eleven จาก CP All นั้นครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มีหน้าร้านมากถึง 13,433 แห่ง คิดเป็น 80% ของตลาดทั้งหมด ขณะที่ FamilyMart มีหน้าร้านเพียง 448 แห่ง จากการยุติข้อตกลงของ FamilyMart กับเครือเซ็นทรัล ที่ทำให้ FamilyMart ลดจำนวนลงจากราวๆ 1,000 แห่งในปี 2020 เป็น 200 แห่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะถูกเปลี่ยนเป็น Tops Daily ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม เราอาจคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องว่าเซ็นทรัล รีเทล จะมีกลยุทธ์ใดบ้างที่นำ Tops Daily มาเสริมทัพในสมรภูมิร้านสะดวกซื้อ และจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเบอร์ที่เท่าไหร่จากเบอร์ 4 ในปัจจุบัน และจะครองตลาดร้านสะดวกซื้อได้สำเร็จหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

อ้างอิง

Nikkei (1), Nikkei (2), Krungsri, DBD, Nation

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...