ส่องสไตล์บริหาร Jensen Huang หัวใจของ Nvidia บริษัทชิป 1 ล้านล้าน | Techsauce

ส่องสไตล์บริหาร Jensen Huang หัวใจของ Nvidia บริษัทชิป 1 ล้านล้าน

เป็นเรื่องปกติที่ CEO บริษัทระดับโลกจะต้องถูกถอดรหัสความสำเร็จ วิธีการทำธุรกิจ หรือวิธีการจัดการคนในองค์กร ฯลฯ และตอนนี้ถึงคิวของ Jensen Huang ผู้นำบริษัท Nvidia ที่ปีนี้ประสบความสำเร็จแบบเกินความคาดหมาย ด้วยอิทธิพลของ AI

Jensen Huang CEO Nvidia บริหารบริษัทยังไง 

Jensen Huang ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC และ The New Yorker เผยสไตล์การบริหารของตัวเอง ที่แปลกแหวกแนว ต่างจากผู้บริหารคนอื่นๆ

ลดลำดับชั้น ลดขั้นตอนบริหาร 

Huang บอกว่าตัวเขามีผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงจำนวนมากถึง 50 คน ในขณะที่ผู้บริหารทั่วไปส่วนใหญ่มีเพียง 10 คนเท่านั้น เขาให้เหตุผลว่ามันช่วยขจัดขั้นตอนการบริหารที่ไม่จำเป็นออกไป 

ยิ่งมีผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงเยอะ ยิ่งทำให้ลำดับขั้นน้อยลง และช่วยให้จัดการข้อมูลได้ลื่นไหล ตัว Huang ย้ำว่ามันช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม

Huang ยังตัดลดขั้นตอนการส่งข้อมูลในองค์กร โดยให้พนักงานทั่วไป (ไม่ใช่ระดับหัวหน้า) รายงานข้อมูลกับเขาโดยตรง ไม่ต้องผ่านใคร ใช้วิธีส่งอีเมลรายสัปดาห์ ระบุสิ่งสำคัญที่พวกเขากำลังทำ 5 อย่าง แบบสั้นๆ

สื่อสารโดยตรง

ตัวเขาเองยังส่งอีเมลสั้นหลายร้อยฉบับต่อวันถึงพนักงานด้วย (ปัจจุบัน Nvidia มีพนักงานมากกว่า 26,000 คนทั่วโลก) ซึ่งผู้บริหารเผยกับสื่อว่า บางครั้งมันก็เหมือนไฮกุ (คำประพันธ์โบราณของญี่ปุ่น) และบางครั้งแอบเหมือนจดหมายเรียกค่าไถ่ (Ransom note)

Huang ยังบอกให้พนักงานทำงานด้วย ‘ความเร็วแสง’ ทำงานอย่างรวดเร็วและจัดลำดับความสำคัญโดย ทำงานที่คิดว่าจะเสร็จเร็วก่อน

แน่นอนสไตล์การสื่อสารแบบนี้ทำให้พนักงานหลายคนกลัวหัวหด พนักงานคนหนึ่งบอกกับ The New Yorker ว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับ CEO ของพวกเขาไม่ต่างอะไรกับ ‘เอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ’ ซึ่ง Huang รับว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ

ให้อิสระ (พร้อมความเชื่อใจ) 

สำหรับคำแนะนำด้านการทำงาน การสร้างเส้นทางอาชีพ ไม่จำเป็นที่ Nvidia และไม่จำเป็นเลยในความคิดของ Huang เขากล่าวว่าไม่มีผู้บริหารคนไหนมาขอคำแนะนำจากเขา แทนที่จะมานั่งสั่งสอนแนะนำ ตัวเขาใช้วิธีสร้างความไว้วางใจในศักยภาพของเพื่อนร่วมทีม และให้อิสระพวกเขาในการทำงาน

ความโปร่งใสคือหัวใจ 

ถือเป็นปรัชญาความเป็นผู้นำของ Huang ทุกการประชุมจะเปิดกว้างสำหรับทุกคนในองค์กร ไม่ว่าตำแหน่งเล็กใหญ่ และตัวเขาก็พยายามเปิดเผยทั้งกลยุทธ์ ปัญหา และข้อกังวลให้ทุกคนรับทราบ รวมถึงเชิญชวนให้ทุกคนแสดงความเห็น

ไม่มีแผนระยะยาว 

เป็นเรื่องน่าแปลกเมื่อเทียบกับหลายบริษัท ที่ Nvidia ไม่มีแผนอย่างเป็นทางการ สำหรับ 5 ปีข้างหน้า หรือแม้แต่ปีหน้า เพราะองค์กรจะประเมินและปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ให้ตอบโจทย์ตลาดและบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน

โตติดลม แต่ยังกลัวบริษัทเจ๊ง

แม้จะเติบโตอย่างเกินคาดในปีนี้ แต่ Huang ยังคงตื่นมาทุกวันพร้อมความกังวลว่า Nvidia จะไปไม่รอดในสักวัน เจ้าตัวเผยว่าไม่สามารถสลัดความรู้สึกนี้ทิ้งได้ หลังเคยผ่านเหตุการณ์ที่บริษัทเกือบล้มละลายเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1990 แต่มันก็ช่วยผลักดันให้เขามุ่งมั่นกับงานมากขึ้น 

Nvidia ปี 2023 ร้อนแรงแค่ไหน ?

ปีนี้หุ้นของ Nvidia เพิ่มขึ้นมากกว่า 228% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.19 ล้านล้านดอลลาร์ (วันที่ 29 พฤศจิกายน) จากความต้องการชิป GPU ใช้ในการฝึกและใช้งานโมเดล AI ซึ่งก็มาจากความพยายามของบริษัทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในการเปลี่ยนตลาดจากชิปเกมมิ่ง สู่ชิป AI 

อ้างอิง : Business Insider , Business Insider (2) , CNBC , apolloadvisor

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...