ฟัง Mindset ผู้บริหารรุ่นใหม่ ทำอย่างไรกับ 'การบริหารคน' ยุค Millennial  | Techsauce

ฟัง Mindset ผู้บริหารรุ่นใหม่ ทำอย่างไรกับ 'การบริหารคน' ยุค Millennial 

ว่ากันว่า การบริหารคนรุ่นใหม่ยุค Millennial คืองานยาก โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่แต่ละองค์กรต้องเร่งปรับตัวให้ทันกระแสไปพร้อมๆ กับบริหารพนักงานให้คงอยู่กับบริษัทไปนานๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มีโครงสร้างการบริหารงานแบบ Top-down ที่มักจะเจอกับปัญหาและแรงต้านของพนักงานที่ไม่ให้ใจเหมือนแต่ก่อน

แล้วผู้บริหารยุคใหม่ควรต้องมี Mindset อย่างไรในการครองใจพนักงานและผลักดันให้เกิด team work ที่ดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขององค์กรในยุคดิจิทัลเป็นใหญ่

Techsauce ได้ถามเรื่องนี้กับ คุณศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Shopee ตัวแทนผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง กับประสบการณ์การบริหารที่ต้องคลุกคลีอยู่กับพนักงานที่มีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 26 ปีของ Shopee

นิยามคำว่า 'ผู้บริหารยุคใหม่' เอาไว้อย่างไร?

อย่างแรกคือต้องมีความ Open-minded ตอบสนองกับตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สองคือ คิดนอกกรอบ เพราะโจทย์ที่ได้จากธุรกิจแบบใหม่ มักไม่มีคำตอบที่ตายตัว จึงต้องกล้าคิดนอกกรอบเพื่อหาทางแก้แบบใหม่ๆ สามคือ ต้องสามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้ และรู้จักวิธีการบริหารงานกับ Millennial ที่ไม่เหมือนกับองค์กรรูปแบบเก่า

บริหาร Millennial อย่างไร?

Millennial หรือพนักงานรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Work-Life Balance และมองหาประสบการณ์ที่จะได้รับจากการทำงาน เช่นเรื่อง Learning Skill ว่าจะเอาไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ความน่าสนใจของตัวงาน รวมไปถึงเรื่องของการหาจุดกึ่งกลางในชีวิต ไม่ให้งานหนักเกินไป หรือเบาเกินไป จะไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องเงินหรือความก้าวหน้าเท่ายุคเก่า

ดังนั้นผู้บริหารจึงความต้องเปิดใจรับฟัง และสื่อสารกับทีมให้ดี เพราะ millennial มักมีความคิด ความชอบเป็นของตัวเอง มีความอยากลองเรียนรู้อยู่ตลอด แต่ถ้าเราไม่รับฟัง เขาก็จะไม่ให้ input เราเต็มที่ นอกจากนี้เมื่อเราทราบแล้วว่าใครถนัดหรือชอบอะไร ก้ต้องนำเขาไปไว้ในงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มีแรงจูงใจในการทำงาน

ผู้บริหารยุคนี้ต้องสามารถปรับตัวได้เร็ว ไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ และต้องลงมือทำจริงกับทีม ทำให้ดูและทำด้วยกัน เพื่อที่พอถึงจุดหนึ่ง เขาจะสามารถเอาวิธีการทำงานต่างๆ ไปทำต่อได้ในวงกว้าง

ความท้าทายในการบริหารองค์กรในยุคดิจิทัลมีอะไรบ้าง?

จุดเด่นของยุคดิจิทัล คือความเร็ว เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทุกปี ทุกเดือน ดังนั้นความท้าทายก็คือ เราต้องเปลี่ยนให้ทันกระแส ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจให้เร็ว มองเห็นปัญหาให้เร็ว และเปิดกว้างเพื่อหาทางแก้ คอยรับฟังความเห็นของทีม ดึงข้อมูลมาให้มากที่สุดจากทุกทิศทางเพื่อตกผลึกออกมาเป็น solution และเมื่อทดลองแล้วมันเวิร์ค ก็ต้องรีบ scale ออกไปให้เร็วที่สุด

การที่องค์กรโตเร็วขึ้น จะทำอย่างไรให้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วเหมือนเดิม?

ต้องกลับไปที่การ 'Put the right man on the right job' หรือการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ดูว่างานแบบนี้ จะต้องการคนที่มีประสบการณ์ด้านไหนมาทำ หรือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ต้องใช้ทีมไหนมาแก้ ทีมมีส่วนสำคัญมาก เพราะถ้าทีมไม่ดี งานก็จะออกมาไม่ดีแน่นอน

อีกอย่างคือต้องมี resource ติดอาวุธให้กับทีม เพื่อให้สามารถรีบทดลอง pilot ใหม่ๆ ได้ หากทีมดีแล้วแต่ไม่มี resource ให้ เขาก็ไม่รู้จะทำอะไรออกมา หรือถ้าให้เยอะเกินไป เราก็บาดเจ็บ ดังนั้นจึงต้องให้พอดีๆ แล้วค่อยไปดูต่อว่าจะ scale อย่างไร

ดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมงานอย่างไร ?

จริงๆ Shopee ถือว่าโชคดี เพราะว่าเราอยู่ในวงการที่กำลังบูมอยู่ ทั้งวงการ Tech และ E-Commerce ที่กำลังได้รับความสนใจมากใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่จะทำอย่างไรให้เจอคนที่เรามองหา

ด้วยธรรมชาติของบริษัท E-Commerce ที่มีความคล่องตัวสูง เราจึงต้องหาคนที่มีความกระตือรือร้น และค่อนข้างมีอุดมการณ์ในการช่วยให้ธุรกิจของผู้ค้าบนแพลตฟอร์มโตได้ เพราะหากเขาไม่มีความสุขกับงาน เวลาเจอปัญหา ก็จะท้อได้ง่าย

อีกหนึ่งความท้าทายที่ห้ามมองข้าม คือการทำอย่างไรให้เขาอยู่กับองค์กรไปนานๆ ข้อดีของ millennial คือถ้าเขารู้สึกว่ามันเหมาะ เขาจะอยู่นานมาก แต่ถ้ามีอะไรที่ไม่สบายใจหรือตัวงานที่ไม่เหมาะ เขาก็จะออกเร็ว ดังนั้นจึงมี 3 ปัจจัย ในฐานะองค์กรที่ต้องทำให้ดี ;

  1. ให้ประสบการณ์ที่ดี : คืองานที่เหมาะกับความสนใจของแต่ละคน มีโอกาสพัฒนาตัวเอง และได้เรียนรู้อยู่ตลอด
  2. สร้างบรรยากาศในที่ทำงาน : ออฟฟิศสวย อากาศถ่ายเทดี มี facility รองรับ มีมุมพักผ่อนให้บรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
  3. มีเพื่อนร่วมงานดี : ขั้นตอนการจ้างงาน มีความสำคัญมาก การหาคนที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน จะทำให้ทำงานด้วยกันได้และสร้าง team work ที่ดี

เมื่อบรรยากาศค่อนข้างเป็นกันเอง แล้วมี KPI วัดผลงานไหม?

เรามีวิธีการตั้ง KPI ที่ค่อนข้าง healthy คือจะเป็นแนว co-create กับหัวหน้างานมากกว่า เช่นเวลามีโปรเจค ก็จะให้คนทำงานที่รู้ดีที่สุดกำหนดเองว่า อันนี้ตึงไป ง่ายเกินไป หรือแบบไหนที่พอดี และหากตกลงกันแล้ว แปลว่าต้องทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าหากทำไม่ได้ตามเป้าแล้วจะมีปัญหา แต่มีเอาไว้เพื่อเป็นตัวนำทาง และให้แน่ใจว่างานจะคืบหน้าและให้ธุรกิจโตต่อไป

ปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัลที่ต้องแข่งขันเยอะมาก?

มี 3 ข้อหลักๆ ที่กระทบต่อการปรับตัวของเราอยู่ตลอด;

  1. User ที่เป็นผู้ค้าบนแพลตฟอร์ม : เมื่อสองปีที่แล้ว แบรนด์ใหญ่ๆ ยังไม่สนใจออนไลน์ แต่ปัจจุบันทุกคนอยากเข้ามาอยู่บนออนไลน์ เราจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จากที่เคยดูแลแค่ร้านเล็กๆ มาดูแลแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เริ่มสนใจแต่ยังทำไม่เป็น เราต้องปรับตัวให้รับกับความต้องการของคนขายที่ใหญ่ขึ้น ทั้งการจ้างคนใหม่มาดูแล วิธีการทำงาน รวมถึง feature ต่างๆ ในแอปที่ต้อง support
  2. พฤติกรรมคนซื้อที่เปลี่ยนไป : Social media เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ การไลค์ แชร์ คอมเมนต์ หรือการส่งให้เพื่อนดู เราจึงต้องมี feature รองรับ ในปีที่ผ่านมามีสิ่งที่กำลังมาแรง คือ อิทธิพลของ influencer ที่ไม่ใช่ดาราแต่เป็นคนสำคัญในหมวดหมู่เฉพาะทางนั้นๆ พวกนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามาก เคยมีงานศึกษาว่า 70% ของผู้หญิงที่จะซื้อของ ต้องไปดูรีวิวก่อน ซึ่งเราก็ต้องจับเทรนด์เหล่านี้ให้ทัน
  3. Partner เช่น ธนาคารที่พัฒนาด้าน E-Payment หรือบริษัท logistic ตัวเขาก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเวลาเขาปรับทีก็โดนเรา เราก็ต้องปรับตาม

สรุป

แม้แต่บริษัทที่เกิดมาพร้อมยุคดิจิทัล ยังหนีไม่พ้นการปรับตัว แล้วบริษัทเก่าแก่จะอยู่อย่างไร หากไม่คิดเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เห็นได้ชัดว่าผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับทีมและมีใจเปิดกว้าง รับฟังความเห็น จะช่วยผลักดันให้เกิด Team work พัฒนาองค์กรไม่ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ และไม่โดนคู่แข่งที่เป็นคลื่นลูกใหม่โหมทับ หรือแท้จริงแล้ว millennial ไม่ได้เข้าใจยาก หากแต่มันถึงเวลาที่ผู้บริหารต้องใช้ใจแลกใจกับคนทำงานเสียที

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...