ทำกับข้าว ดูแลบ้าน เลี้ยงลูก คำนิยามในอดีตที่จำกัดหน้าที่ของผู้หญิงอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันนี้บทบาทของผู้หญิงไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เราได้เห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมาสู่การทำงานในระดับแนวหน้าทั้ง CEO ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือแม้กระทั่งในสายงานที่เคยมีแต่ผู้ชายเท่านั้นอย่างวงการเทคโนโลยี
วันนี้ Techsauce ชวนคุยกับหนึ่งในผู้หญิงที่โลดแล่นอยู่ในวงการเทคโนโลยีและเชี่ยวชาญในด้าน Data พร้อมจบจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในด้าน Data Science โดยเฉพาะ คุณมินท์ ดร.ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ CEO แห่ง EATLAB นอกเหนือจากความสามารถในการทำงานแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่หนีไม่พ้นคือบทบาทของความเป็นแม่ที่ตั้งใจจะดูแลและเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด มาอ่านมุมมองของคุณมินท์ต่อบริบทของผู้หญิงและการทำหน้าที่ที่หลากหลายได้อย่างมืออาชีพ
EATLAB คือแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยร้านอาหารในการจัดการเมนูอาหารและบริการ ผ่านการใช้เทคโนโลยี AI รวมถึงนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยตั้งราคาสินค้าและโปรโมชั่นต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีความแตกต่างจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลรายอื่นๆ เพราะมีการนำเอา Data ที่ได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคมาปรับใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างผลกำไรและรายรับที่ดีให้กับร้านค้า โดยนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้กับอุตสาหกรรมร้านอาหารและปรับเข้ากับฝ่ายที่หลายๆ คนอาจจะมองว่าปรับตัวยากที่สุด
ในช่วงปลายสิงหาที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวบริการแรกไป ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์สำหรับร้านอาหารที่ทำหน้าที่นำเสนอเมนูใหม่ในราคาที่เหมาะสม และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ในตอนนี้หลายๆ ร้านอาหารก็ได้ใช้บริการของเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีลูกค้าเป็นร้านอาหารจำนวน 89 ร้านแล้ว และเรากำลังมองหาผู้ที่พร้อมจะปรับตัวและมีศักยภาพในการรับบริการรวมถึงพร้อมขยายการทำงาน
เป็นเรื่องของ Automation ต้องบอกว่าประเทศไทยของเราโชคดี เพราะปลูกอะไรก็ขึ้น มีพื้นที่ มีวัตถุดิบมาตั้้งแต่แรก แต่ในอนาคตเราคงจะไปพึ่งพาพวกทรัพยากรในเชิงการผลิตแบบนี้ตลอดคงไม่ได้ เพราะมีมูลค่าต่ำ และคนอื่นก็ทำได้เช่นกันในราคาที่ถูกกว่า โดยทั่วไป GDP ไทยนั้นขึ้นอยู่กับการส่งออกอาหารค่อนข้างเยอะ ซึ่งวัตถุดิบนี้ที่ส่งออกไปไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าสูง มันจึงเป็นจุดที่ผู้ประกอบการควรจะเข้ามาแก้ไข เราเลยมองว่ามันเริ่มมี Disruption เกิดขึ้นในฝั่งของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
ถ้าเราจะไปสร้างอาหารจาก Lab เริ่มมีวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมกับวัตถุดิบ แล้วคุณค่าของการเป็นประเทศที่เคยเป็นแหล่งผลิตอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจะเป็นเช่นไร อันนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล ตอนนี้เริ่มมีการถูกแทนที่ด้วยการทำงานแบบไม่ใช้คน ไม่ต้องใช้วิธีธรรมชาติมากนัก ซึ่ง Disruption มันเกิดขึ้นแต่ยังเล็กๆ อย่างกรรมวิธีในการผลิต พอมาในส่วนของการกระจายสินค้าอย่าง Food Delivery ก็มีการ Disrupt ชัดมาก และมาจบที่การบริโภค
EATLAB เองก็พยายามข้ามขั้นตอนผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าคนจะชอบแล้วลองตลาด และนำวิธีการใช้ Data ในการทำให้ร้านอาหารรู้ใจลูกค้ามากขึ้น โดยไม่ต้องไปทดลองและเปลืองทรัพยากรมากมาย ซึ่งมันคือการเล่นกับข้อมูลว่าที่มีอยู่แล้ว นำเอามาสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คน
ถ้ามองสรุปเป็นวงจรคือตั้งแต่ฟาร์ม สู่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค และการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า กระบวนการผลิตและส่วนสุดท้ายที่เป็นเรื่องการบริโภคยังไม่ถูก Disrupt มาก แต่การกระจายสินค้าอาหาร การทำการตลาดว่าจะสื่อสารถึงใครเกิดขึ้นแล้ว ถึงอย่างไรแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป อย่างเราอาจจะอยู่ในกลุ่มเป้าหมายนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีลักษณะพฤติกรรมที่คล้ายกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม
มองว่าจีนคือจุดหมายใหม่ที่น่าสนใจของ Startup ซึ่งเป็นโอกาสดีในการที่จะได้เรียนรู้จากบริษัทต่างๆ ในหลากหลายแง่มุม
คุณมินท์เล่าว่า 2 เดือนหลังจากที่ลูกคนแรกเกิด เธอต้องบินไปสิงคโปร์เพื่อทำงาน นั่นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากเมื่อต้องห่างจากลูก แต่ถึงอย่างไรก็ตามในฐานะแม่ เธอก็จำเป็นจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกๆ ในขณะที่ต้องแสดงออกให้เขาเห็นถึงความรักและการดูแลเอาใจใส่เสมือนเด็กคนอื่นๆ ทำให้ต้องจัดสรรเวลาให้มีประโยชน์สูงที่สุดเพื่อที่จะทำงานอื่นๆ ให้เสร็จและใช้เวลากับลูก ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในฐานะ CEO แต่การกระทำทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำเพื่อแสดงให้ลูกๆ ได้เห็นในวันหนึ่งว่าแรงพลังทั้งหมดนั้นก็มาจากลูกๆ นั่นเอง พวกเขาคือคนที่ช่วยให้คุณมินท์ทำสิ่งที่เกินคาดและบรรลุเป้าหมายที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้
มันมีความคิดอคติเกิดขึ้นเสมอในโลก ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนตัวไม่ค่อยได้เจอบ่อยนัก จะพูดอีกอย่างก็ได้ว่าเป็นคนที่มักไม่ค่อยมองเรื่องเหล่านี้เป็นอุปสรรคทางการทำงานมาก เพราะค่อนข้างเป็นคนที่ถ้าตั้งใจอะไรแล้ว จะทำให้สำเร็จให้ได้ ในอีกทางหนึ่งคือต้องขอบคุณสามีที่ทำหน้าที่เป็นแทบทุกอย่างทั้ง CTO COO CMO และเพื่อน ซึ่งทั้งหมดนี่มีส่วนช่วยในกาารผลักดันเธอมาอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าให้มุ่งตรงไปที่จุดหลัก ก็ต้องบอกว่าทุกวันนี้เรายังไม่มีผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการมากนัก รวมถึงตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผู้หญิงที่เยอะนัก ทำให้มันยากที่จะเชิญชวนให้เด็กรุ่นใหม่มาหันเข้าสู่วงการเทคโนโลยี ในขณะที่เราเห็นผู้หญิงจำนวนมากในวงการความงามอยู่มากมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่ถ้าเราอยากก้าวข้ามออกจากวงโคจรแบบเดิม ก็ต้องกล้าหาญที่จะก้าวออกมา
เท่าที่สังเกตมามีผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งสูงๆ เยอะในเมืองไทย ดังนั้นโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆ ได้ให้กับผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเรื่องเพศว่าผู้หญิงทำอะไรได้หรือไม่ได้ มองอีกมุมหนึ่งคือเรื่องการศึกษาหรือแบบอย่างที่เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่จะถูกมองให้เป็นด้านอื่น อย่างเช่น ผู้หญิงมักได้รับอิทธิพลในด้านความงาม รูปร่าง หน้าตา มีอะไรแบบนั้นเยอะมากให้ได้เห็น ไม่ได้มีแบบอย่างของผู้หญิงเก่งมาก ถ้าเป็นสิงคโปร์ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ในเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกแต่เป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ จึงเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เราไม่ได้มองว่ามันแยกออกมาจากเทคโนโลยี เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการคือคนที่ชอบแก้ปัญหา และส่วนใหญ่มักเลือกแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี หลายๆ ครั้งคือตัวเจ้าของเองอาจจะไม่ใช่คนที่สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาแต่เป็นคนที่หาวิธีการแก้ปัญหาให้กับผู้คน
มองอีกมุมหนึ่งเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ การเป็นนักแก้ปัญหาบางทีผู้หญิงมักจะได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะชีวิตเกิดมาต้องแก้ปัญหาหลายอย่างของผู้คนมากมาย เรียกว่าผู้หญิงมีสัญชาตญาณที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น แต่ข้อเสียก็อาจจะเป็นในเรื่องของการสร้างเครือข่ายกับผู้คน ที่อาจจะไม่กว้างขวางเท่าผู้ชาย เพราะกลุ่มสังคมมักถูกจำกัดอยู่บนความสนใจหรือกลุ่มเพื่อน ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องของระดับความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งด้วยความที่วงการเทคโนโลยีส่วนใหญ่อาจจะถูกควบคุมโดยผู้ชายด้วย ยิ่งผู้หญิงที่มีลูกแล้วอย่างเรา การออกไปพบคนเข้าสังคมตอนสองทุ่มก็คงยาก มันเป็นช่วงเวลาส่งลูกเข้านอน นี่ก็ทำให้ Network หายไปค่อนข้างเยอะ เพราะเราไม่สามารถไปงานต่างๆ ได้
ความสามารถในการเข้าใจคน เพราะคิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีจะมาทำแทนไม่ได้ในเร็ว ๆ นี้ อย่างน้อยความรู้สึกของคนก็ต้องใช้คน (Human Touch) สุดท้ายถ้าอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญก็คือการที่เราเข้าใจผู้คน เข้าใจลูกค้าและเข้าใจปัญหาของเขา
อยากให้คนรุ่นใหม่มีทักษะที่มุ่งเน้นไปที่ปัญหาของคน ไม่ได้มองไปที่ปัญหาแค่เรื่องเงิน ถ้าคนมีปัญหาเราก็ไปช่วยเขาแก้ มันเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ เรามีวิธีการแก้ที่มันสเกลได้ มันก็เลยกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ อีกอย่างคือการเป็นคนที่นึกถึงคนอื่นก่อน
อยากให้กำลังใจคนที่ทำ Startup ในเมืองไทย เพราะมันยากสิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ล้มเลิก ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม สิ่งนั่นไม่ได้เป็นข้อจำกัด หากเรามีเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นเรื่องยากเสมอ เพราะถ้ามีคนทำไปแล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องมีเรา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงยาก มันยากเพราะยังไม่มีใครทำได้
อย่ายอมแพ้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้ประกอบการได้ มันเหมือนเป็นคำสาป เป็นภาระหน้าที่บนคำสาป ก็ต้องถอนคำสาปโดยการแก้ปัญหา เราไม่ทำก็ไม่ได้ ธรรมชาติของเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ แม้จะเหนื่อยแต่การได้ทำนั้นคือความสุข อย่าท้อแท้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด