สร้างนวัตกรรมแสนล้านบาทกับ MedVentures Incubation Program | Techsauce

สร้างนวัตกรรมแสนล้านบาทกับ MedVentures Incubation Program

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง MedTech ในประเทศไทย ก็มักเกิดคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเทศไทยจะเป็น Medical hub ของเอเชียได้อย่างไร Techsauce ชวนถกประเด็น แนวทางของ DeepTech ในไทย และทำความรู้จัก MedVentures Incubation Program ที่จะบ่มเพาะ Startup ด้าน Medtech โดยเฉพาะ

เสวนาโดย

  • คุณสุรวัฒน์ พรหมโยธิน หรือคุณแซม ผู้อำนวยการศูนย์ Sustainability and Entrepreneurship Center แห่งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Executive Director ของ Bangkok Venture Club มาพูดคุยในมุมมองของผู้จัดงาน Incubation และ Accelerator program และยังเป็นผู้ลงทุนใน Startup

  • รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของ Medtech Startup ชื่อ Meticuly มาพูดถึงมุมมอง Painpoint หลาย ๆ เรื่องของ Startup ด้านนี้ในประเทศไทย

  • ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Chulalongkorn University Technology Center - UTC) พูดคุยในมุมมองของอาจารย์นักวิจัย และประเด็นของการจะทำอย่างไรให้สามารถนำนวัตกรรมในการวิจัยออกมาใช้งานได้จริง

  • คุณอรสิรี จุนชยะ หรือคุณอร Deep Tech Incubation Manager ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Chulalongkorn University Technology Center - UTC) พูดคุยในเรื่องของ MedVentures

ทำไมคนไทยควรมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์

คุณแซม: มี 3 ประเด็นที่เป็นโอกาสสำหรับคนไทยในการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา

  • คนไทยมีความสามารถและมีศักยภาพด้านนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีคอขวดบางอย่าง

  • Impact ของ Deeptech โดยเฉพาะ Medtech มันสูงมาก เมื่อทำสำเร็จ Economic และ Social Impacts จะสูงมาก เพราะฉะนั้นมันจะส่งผลกับเทคโนโลยีและกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีก

  • ตลาดของไทยได้เปรียบอยู่แล้ว อุตสาหกรรมด้านนี้ของเราดีอยู่แล้ว รวมทั้งเราเป็น Emerging market หรือตลาดกำลังพัฒนา ทำให้มีโอกาสที่จะสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

ดร.ณัฐวุฒิ: ถ้าลองมามองในมุมมองของบ้านเรา 

  • ถ้าเราพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเองได้ จะทำให้คนไทยได้เข้าถึงการดูแลทางสุขภาพในราคาที่เหมาะสมขึ้น และดีขึ้น เพราะเราไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง 

  • รวมทั้งเรื่องของ AI ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา พวก Data ต่าง ๆ ถ้าเรานำเข้ามามันก็จะมาในลักษณะที่เป็น Global แต่ถ้าเราพัฒนาของเราเองก็จะเป็น Data ที่เป็นของคนไทยเอง เช่น เรื่องรูปร่าง ลักษณะทางพันธุกรรม ดังนั้นมันจะทำให้เราดูแลคนในประเทศ และในภูมิภาคใกล้เคียงได้ดีขึ้น 

  • นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Mindset ของนวัตกรที่จะเปลี่ยนไป พร้อมที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่าให้คนอื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์

คุณอร: สำหรับการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์จะมีความซับซ้อนมาก ๆ ทั้งการระดมทุน การขึ้นทะเบียนกับองค์กรต่าง ๆ เช่น อย. และในประเทศไทยก็ได้มองเห็นว่าการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ใช้เองนั้นเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และจากการระบาดของ COVID-19 ก็ได้มีการปิดประเทศไป ก็มีความลำบากการนำเข้า-ส่งออกอุปกรณ์เหล่านี้ โดยตอนนี้เราได้เอา Regulatory Hacking เข้ามา Apply กับการทำงานของ UTC และจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเราจะเข้าไปร่วมทำงานกับ Policy maker เพื่อเอาความรู้ที่ได้มาแชร์กับ Startup เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถนำมาพัฒนาเครื่องมือไปได้ถูกทาง

ดร.บุญรัตน์: ในมุมมองของคนที่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้ จากการที่เคยเข้าไปในห้องรักษาแล้วพบว่าไม่มีอุปกรณ์ตัวไหนเลยที่เป็นของคนไทย ก็เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าเมื่อไหร่ที่เราจะไม่ต้องนำเข้าอุปกรณ์พวกนี้ แต่การจะสร้างอุปกรณ์พวกนี้ มันแค่ทำได้อย่างเดียวไม่ได้ มันจะต้องมีมาตรฐานด้วย ก็เลยเริ่มมองหาแนวทาง แล้วไปพบจุดเปลี่ยนจุดหนึ่ง โดยได้ไปร่วมงานกับคุณหมอท่านหนึ่งในการสร้างชิ้นส่วนกระดูกจาก 3D Printing และพบว่ามันได้ผล มันใช้งานได้จริง และได้ไปออกตีพิมพ์ว่าเป็นกระดูกส่วนนี้ชิ้นแรกของโลก มันเลยทำให้เห็นว่าคุณหมอในประเทศเรามีเก่งมาก ๆ ถ้าเราสามารถสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ ช่วยเสริมให้หมอทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะดีมาก และอย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศเรามีอุตสาหกรรมการผลิตที่ดีมากเช่นกัน รวมทั้งคนไทยก็เก่งมาก ถ้าเราสามารถ Upgrade ให้อุตสาหกรรมนี้ไปผลิต Medical devices ได้มันอาจจะเพิ่ม Value และเพิ่ม GDP ให้ประเทศได้

ทำไมนักวิจัย หรือบุคคลากรทางการแพทย์ ในไทยถึงควรหันมาทำ Startup ด้านการแพทย์

ดร.บุญรัตน์: ตรงนี้มองว่าหลาย ๆ ส่วนจะต้องทำงานร่วมกัน อย่างที่ทราบกันว่า หมอของเราเก่งแล้ว แต่ยังขาดวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ไปซัพพอร์ต ในด้านของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ก็ยังขาดหมอมาช่วยดู ดังนั้นถ้ามันมีสะพานเชื่อม หรือแพลตฟอร์มที่ช่วย Startup ก็จะดีมาก และถ้าไปมองในวงการของการศึกษา ตอนนี้การศึกษาของไทยเน้นการตีพิมพ์ Paper เพื่อให้ได้เลื่อนวิทยาฐานะ หรือที่เรียกว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา การจะเลื่อนวิทยฐานะของอาจารย์มาจากงานที่มี Impact ซึ่งต่างจากไทยที่วัดกันจากจำนวนของการตีพิมพ์ Paper มากกว่า โดยในบางที่ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้นได้มีการเปิดให้กลุ่มอาจารย์มาสร้าง Startup กัน มันเลยทำให้เกิด Impact กับคน กับสังคมมากกว่า ถ้าบ้านเราทำแบบนี้มันจะไปได้ไกลกว่านี้ ให้อาจารย์หรือบุคคลากรหันมาพัฒนาสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน เลยมองว่า Collaboration เป็นคีย์สำคัญมาก ๆ 

Pain Point และความท้าทายสำคัญของการสร้าง Startup ทางด้าน Medtech มีอะไรบ้าง

ดร.ณัฐวุฒิ: เมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจคำว่า วิจัยขึ้นหิ้ง เท่าไหร่ แต่เมื่อได้มารับตำแหน่งก็พบว่างานวิจัยของเรามีคนนำไปใช้น้อย พอมาดูหลาย ๆ ด้านเราก็ได้เห็นว่า งานวิจัยส่วนใหญ่มาจากสิ่งที่เราเรียน เราจะมีโจทย์ของเรา และอยู่ใน Comfort zone นั้น ๆ แต่การจะสร้างนวัตกรรมมันจะเริ่มจากโจทย์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของเรา โจทย์ที่มาจากคนอื่น มันต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาจริง ๆ ซึ่งมันยากกว่าการทำวิจัยหลายเท่า เพราะการทำวิจัยเราจะมีตัวแปรที่เราควบคุมได้ และจะเห็นผลตามที่เราควบคุมไว้ แต่เมื่อเป็นนวัตกรรม ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้มันจะมีเยอะ เพราะมันจะเป็นงานที่เกี่ยวกับคน ซึ่งถ้าเราไม่ลองเอามาทำให้ใช้กับคน ไม่ลองเอามาพิสูจน์ให้คนใช้ ทำแบบเดิม ๆ มันจะไม่มีทางเอามาใช้จริง ๆ ได้ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนมาสร้างนวัตกรรมแบบนี้ได้ มันจะมี Impact ที่กว้างขึ้น และตอบโจทย์ที่มันชัดเจนขึ้น แต่งานแบบนี้มันก็จะต้องใช้เวลา ต้องมีการทดลองหลาย ๆ แบบ ต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่าง และจะต้องรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาให้ได้ 

คุณอร: ขอเสริมเรื่องของการ Identify user need หรือการมองหาว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร มันเป็นสิ่งสำคัญมากเลย ในโครงการ MedVenture เราก็มีหลักสูตรที่เป็นช่องทางให้นวัตกรรมเห็นปัญหาในสังคม และช่วยสร้างวิธีการแก้ปัญหา โดยเราสนับสนุนให้ผู้สร้างนวัตกรรมได้เข้าไปคุยกับ User เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่พวกเขาเจอ รวมทั้งเราจะทำการสำรวจว่าเมื่อมีการทำนวัตกรรมออกมาแล้ว เราจะขายให้กับใคร 

คุณแซม: จากที่ทั้งสองท่านกล่าวมาเป็นปัญหาใหญ่มากที่ทางฝั่งของ Investor ก็เจอเป็นประจำ 

  • จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเวลามีการ Pitching เห็นเลยว่ามี Deeptech รวมไปถึง Medtech ไม่น้อยเลยทีเดียว ที่มีความสามารถ มี Technical innovation แต่ยังนวัตกรรมเหล่านั้นยังไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาที่มันมีจริง ๆ ซึ่งเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปคุยกับ User หรือ Stakeholder ต่าง ๆ 

  • อีกประเด็นหนึ่งคือปัญหาของ Fundability คือจากมุมของนักลงทุนว่าเขาจะสามารถลงทุนใน Startup ตัวนี้ได้หรือไม่ ด้วยปัจจัยเรื่อง Potential market size ที่ตลาดจะต้องมีความใหญ่พอให้ลงทุนได้ และ Scalability ซึ่งถ้าทำแล้วจะมีโอกาสเติบโตได้ขนาดไหน 

  • อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะขัดกับข้อที่กล่าวมาด้านบนคือ ศักยภาพของคนไทยจริง ๆ ทำให้นวัตกรรมไประดับโลกได้ แต่มักจะมีความคิดที่เล็งเฉพาะในไทยอย่างเดียว มันเลยทำให้บางครั้งนักลงทุนก็ไม่ได้เข้าไปลงทุน เพราะว่ามันเป็นตลาดที่เล็กไป 

  • นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Founder ที่เป็นนักวิจัย เมื่อถึงจุดที่จะต้องสร้างให้เป็น Startup บางคนยังขาดทักษะทางด้าน Business และ Enterpreneur โดยจะมี 2 ทางเลือกที่จะมาแก้ปัญหาตรงนี้คือ 1.) ไป Transform ตรงทักษะของ Founder คนนั้นให้เล่นได้หลายบทบาท ซึ่งค่อนข้างยาก 2.) หา Co-founder ที่มีทักษะด้านนี้

คุณอร: ขอเสริมเรื่องของตลาด Medtech ในไทย ตอนนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 70% มีมูลค่าทางตลาดเกือบ 1.8 แสนล้านบาท และข้อดีของการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ตลอดเวลา และอาจจะสามารถขยายตลาดออกไปสู่อาเซียนได้อีก 

ดร.บุญรัตน์: สำหรับเรื่องนี้มองว่า 

  • Speed เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนวัตกรรมคนทำกันทั่วโลก วันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดที่นวัตกรรมที่เราสร้างมีหลากหลาย จนทำให้ราคาตก และขาดนักลงทุนมาช่วยสานต่อ สิ่งที่จะทำได้คือมองหา Pain point ในนวัตกรรมกลุ่มนี้ แล้วหาทางแก้เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา 

  • อีกปัญหาหนึ่งในการลงทุนจากประสบการณ์ที่พบมาคือ คนไทยชอบการทำบุญ เราได้เปิด Donation crowdfunding ขึ้นมา คนไทยมาร่วมลงเงินกันเยอะมาก ทำให้เราได้คนไข้ ได้หมอที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ใช่การรับเงินทำบุญ หรือรับเงินจากรัฐบาลไปเรื่อย ๆ แต่จะต้องมองไปต่อ ต้องมีแนวทางชัดเจนในการจะทำอะไรต่อไป 

  • อีกปัญหาหนึ่งที่ยังพบบ่อย ๆ คือ คนไทยจะแข่งกันเอง โดยจะมองเอาชื่อสถาบันมาแข่งกัน ถ้ามองข้ามเรื่องพวกนี้ได้ แล้วมาเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญมันจะทำให้ก้าวไปได้เร็วขึ้น

จากลักษณะของคนไทยที่มักจะต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ทำให้ขาดการ Collaborate กัน แต่ละท่านมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

คุณอร: ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาเป็นโอกาสทองของการ Collaborate โดยทางเราได้ไปประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งพวกเขาก็ตกลงมาช่วย และสำหรับการสร้าง Deeptech หรือ Medtech มันต้องการความร่วมมือแบบนี้ ดังนั้นอยากจะให้มีทุกหน่วยงานมาร่วมมือกันแบบนี้ต่อไป และจุดประสงค์หนึ่งของการตั้ง MedVentures ขึ้นมาก็คืออยากให้นักวิจัย สถาบัน และนวัตกรหลาย ๆ กลุ่มมาเข้าร่วม และอาจจะทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และหา Solution ต่าง ๆ ร่วมกัน

ปูทางสู่ MedVentures Incubation Program 

ดร.ณัฐวุฒิ: จุดเริ่มต้นมาจากการที่เห็น Pain point เห็นอุปสรรค และเห็นสิ่งที่ขาดของนวัตกร ในการพัฒนา Startup ด้าน Medtech จึงได้คิด Incubation Program ที่คิดว่าจะมาตอบโจทย์ได้จริง ๆ และไม่ได้เป็นรูปแบบของการเลคเชอร์ แต่จะมีการ Workshop ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

คุณอร: สำหรับ MedVentures Incubation Program ได้แรงบัลดาลใจมาจาก Stanford Biodesign ที่มีหลักสูตรที่ทำงานกับ Startup ด้าน Medtech โดยตรง ซึ่งเราเอามาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของคนไทย ทางเราจะมีหลักสูตรแบบจัดเต็มประมาณ 5 ระยะ ในเวลา 5 เดือน โดยเราได้เข้าไปหา Pain point จริง ๆ จากผู้ที่มาเข้าร่วม และได้รับผลตอบรับกลับมาว่า ระบบการเรียนแบบออนไลน์มีความสำคัญ เราเลยจะจัดเป็นหลักสูตรแบบ Micro learning คือจะเป็นระบบเรียนออนไลน์จะเข้าไปดูวิดีโอเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ได้ก่อน และจะสามารถเลือกบทเรียนต่าง ๆ ได้เอง โดยใน 5 เฟสนี้จะมีบทเรียนดังนี้

  • Opportunity Definition - การโฟกัสหาความต้องการของผู้ใช้งานจริง จากทั้งคุณหมอ และคนไข้ ช่วยนวัตกรในการมองหา Existing solution ในตลาดว่ามีอะไรบ้าง และช่วยหา Stakeholder 

  • Strategy - จะช่วยสร้างแพลนในการทำ Technology & Business Strategy Roadmap และดูเรื่องการจดสิทธิบัตร 

  • Clinical and Regulatory strategy - จะช่วยดูเรื่องการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ กับ อย. และช่วยดูเรื่องความเหมาะสมของนวัตกรรมกับกฎระเบียบต่าง ๆ บวกกับการทำ Clinical trial

  • Product development - จะช่วยดูเรื่องผลิตภัณฑ์ที่จะสร้าง การทำ Prototype หรือ Minimum Viable Product (MVP) ไปจนถึง Design for manufacturing

  • Launching - ช่วยทำ Licensing ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ออกมา รวมถึงช่วยทำ Deeptech business planning และช่วยในการ Pitching โดยจะมีการชวนอุตสาหกรรม CVC VC และ Angels รวมถึงนักลงทุนด้าน Deeptech และ Medtech เข้ามาร่วมฟัง

ในมุมมองของนักลงทุน ต้องการจะทุ่มเงินลงทุนหรือบ่มเพาะกับ Startup แบบไหน

คุณแซม: จะแยกเป็น 2 อย่าง คือ การบ่มเพาะ และการลงทุน

  • ในส่วนของการบ่มเพาะ เราจะมองที่เรื่องของความสามารถด้าน Technical ก่อน โดยเราจะเข้าไปช่วยปั้นตรงนี้ให้มีความเป็นไปได้ในทุก ๆ ด้านตามของ MedVentures

  • ในส่วนของการลงทุน จะมองที่เรื่องของ Fundability ให้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะเกี่ยวกับ Potential market size และ Scalability ถ้า Startup ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็จะขาดความน่าสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าจะลงมือผลิตอะไรอย่าตั้งเป้าเฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียว ส่วนต่อไปคือเรื่องของทีม ที่จะต้องเห็นไปในทางเดียวกัน มี Mindset ทำงานร่วมกัน และท้ายสุดจะมองที่เป้าหมายว่าจะทำรายได้อย่างไร ทำได้จริงไหม มากน้อยแค่ไหน กำไรพอหรือไม่ โดยจะต้องหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ อาจจะด้วยการไปคุยกับ Stakeholder รวมถึงเรื่องการแบ่งผลประโยชน์เช่นกัน ในเรื่องของ Technical validation ก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งจะต้องทดสอบหลาย ๆ ขั้น และมีหลักฐานออกมาว่ามันสามารถทำงานได้จริง

ความขาดแคลนของ Deeptech ในไทย และความต้องการของตลาดคือด้านใด

ดร.ณัฐวุฒิ: มองว่าในประเทศไทยเรามีคนมาเล่นด้าน Deeptech ไม่น้อย แต่สิ่งที่ออกมาเป็นนวัตกรรมมันยังมีจำกัดอยู่ ขณะเดียวกันเทรนด์ในปัจจุบันจะเห็นว่า หลัง COVID-19 จะมีความเปลี่ยนแปลงมาก ๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ สิ่งที่น่าจับตามองมาก ๆ ต่อไปคือ Digital health, Telemedicine และ AI เพราะผู้คนเริ่มจะไม่อยากเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งมันจะทำให้ Landscape ของการเป็น Medical hub ที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การเป็น Medical tourism ก็เปลี่ยนไป

เพราะฉะนั้นก็จะต้องปรับและดูแนวทางที่น่าจะตอบโจทย์มากกว่า อย่างเช่น Digital health และ AI ที่ยังเป็น Early stage อยู่ ซึ่งจะนำไปพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และคนในสายนี้ก็ยังขาดอยู่ รวมทั้งยังเอาไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาได้ในหลาย ๆ ส่วน ทั้งการวินิจฉัย การดูแลผู้ป่วยพักฟื้น/ ติดเตียง/ ผู้สูงอายุ ช่วยแก้ปัญหาความหนาแน่นของโรงพยาบาล/ คลินิก แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ถ้าเป็นอะไรที่คนต้องการแล้วก็จะมีคู่แข่งเยอะพอสมควร อย่าง AI ที่ทั้งจีนและอเมริกาก็แข่งกันอยู่ อีกทั้งเรื่องข้อมูลที่เรายังมีจำกัดอยู่ รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่รองรับ

ชวนสมัคร MedVentures Incubation Program

หากคุณคือ แพทย์ วิศวกร นักวิจัยเชิง Academic Entrepreneur หรือ Early-Stage Medtech Startup ที่อยากเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ ให้กลายเป็นนวัตกรรมสู่โลกกว้าง MedVentures Incubation Program คือคำตอบของคุณ! 

พบกับ Incubation Program สำหรับ MedTech Innovation ที่เข้มข้นที่สุดของไทย โดย Chulalongkorn University Technology Center (UTC) พัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้างนวัตกร และ ผู้ประกอบการด้าน Deep Tech ของไทยให้โลดแล่นในโลก MedTech Startup ได้อย่างแข็งแกร่ง

เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง จากวิทยากรชั้นนำในไทยและต่างประเทศ โดย MedVentures Incubation Program นี้ UTC ได้ต้นแบบจาก Stanford Biodesign Program ที่ประสบความสำเร็จในการปั้น MedTech Startups มากว่า 20 ปี  

รับบ่มเพาะ Medical Devices, Diagnostics, AI for Health, Digital Health Solutions

เปิดรับสมัคร 1 มีนาคม - 5 เมษายน 2021 https://www.cutechcenter.com/medventures.html#ApplyNow

หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cutechcenter.com/medventures.html
และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

อ่านตามผู้นำระดับโลก 20 หนังสือที่ Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates แนะนำให้อ่าน

ผู้บริหารระดับสูงหลายคนได้กล่าวว่า พวกเขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญทางธุรกิจจากหนังสือ ซึ่ง Elon Musk, Jeff Bezos และ Bill Gates ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทั้งหมดยังเห็นพ้องกันว่า การเรียนรู้...

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...